ประจวบคีรีขันธ์ ชื่นชม เจ้าของสวนทุเรียนป่าละอู ไม่ยอมขายทุเรียนหล่น จากพายุฤดูร้อน กว่า 1 ตัน เผยทุเรียนยังไม่แก่จัด กลัวลูกค้ากินไม่อร่อย ไม่คุ้มที่จะเสี่ยงกับชื่อเสียงที่สร้างมาหลายปี

วันที่ 9 พฤษภาคม 2567 จากกรณีที่เกิดพายุฤดูร้อน ได้พาดผ่านพื้นที่ ต.ห้วยสัตว์ใหญ่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ทำให้บ้านเรือนประชาชนและพื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหายเมื่อวันที่ 6 พ.ค.ที่ผ่านมา กระแสลมพัดแรงและลมหมุน ทำให้หลังคาบ้านประชาชนแตกเสียหาย แผ่นสังกะสีปลิวหายไป ในพื้นที่ ม.5 บ้านเฉลิมพร รวมทั้งสวนทุเรียนหมอนทองป่าละอู ทุเรียน GI ชื่อดังของจังหวัด โดยหลายสวนใกล้จะเก็บผลผลิตส่งขายได้ แต่กลับได้รับผลกระทบจากพายุฤดูร้อน ทำให้ผลทุเรียนป่าละอู ร่วงหล่นเสียหาย 

โดยล่าสุด นายพลกฤต พวงวลัยสิน นายอำเภอหัวหิน พร้อมด้วย นางอุษา พวงวลัยสิน นายกกิ่งกาชาดอำเภอหัวหิน , นายโอฬาร กำพร กำนันตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ และนายประยงค์ หอมหวล ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 8 บ้านเฉลิมราชพัฒนา ร่วมลงพื้นที่เพื่อเยี่ยมและให้กำลังใจเกษตรกรชาวสวนทุเรียน ต.ห้วยสัตว์ใหญ่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่ได้รับผลกระทบจากพายุฤดูร้อนจนได้รับความเสียหายอย่างหนัก 

นางสาวพนัดดา เตอสุภาพ  เจ้าของสวนทุเรียน GI  “สวนต้องกับน้องเล็ก” บ้านเฉลิมราชพัฒนา เล่าว่า ได้เกิดพายุฤดูร้อนพัดผ่าน และมีลมหมุนในสวนทุเรียนของตนเพียงแค่ไม่กี่นาที แต่ทำให้ยอดต้นทุเรียน ที่มีผลผลิตทุเรียนจำนวนมาก กิ่งหักเสียหาย ความแรงของลมได้พัดพาลูกทุเรียนร่วงหล่นเกลื่อนพื้นสวน กว่า 1 ตัน ซึ่งเป็นทุเรียนใกล้เก็บเกี่ยว ประมาณ 70-80 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจะเริ่มทยอยเก็บขายได้ ตั้งแต่สับดาห์หน้า กลางเดือนและสิ้นเดือนหน้า ทำให้เงิน 2 แสน กว่าบาท ที่ควรจะได้จากการขายทุเรียนป่าละอูล็อตแรกหายแว๊บไปทันที สำหรับที่สวนปลูกทุเรียนหมอนทองป่าละอู 3 ไร่ ปีนี้ทำผลผลิตยากอยู่แล้วเพราะเจอภัยแล้งอย่างหนัก พยายามดูแลเต็มที่จนผลผลิตออกมาราว 3 ตัน ตอนนี้เสียหายไปแล้ว กว่า 1 ตัน ส่วนที่เหลือยังไม่สามารถคาดหวังได้มาก เพราะมีคำเตือนเรื่องพายุฤดูร้อนที่จ่อคิวพาดผ่านอีก 1 ลูก

สำหรับทุเรียนที่ร่วงหล่นเสียหายนี้ อายุราว 90 วัน มีแป้งและน้ำตาลแล้ว แต่ความหวานจะยังไม่เต็มที่ โดยได้เก็บออกมารอให้สุกเพื่อทดลองแปรรูปเป็นไอติมรสทุเรียนแท้ แม้ไม่เคยทำมาก่อนแต่จะทดลองทำดู หากรสชาดดีจะทำขายเพื่อลดภาระความเสียหายลงบ้าง รวมทั้งทำไว้ให้ลูกค้าที่มาซื้อทุเรียนได้ชิมที่สวน โดยตนมองว่าไม่ควรนำไปทำเป็นทุเรียนกวน หรือนำไปทำทุเรียนทอด เพราะแป้งและน้ำตาลไม่พอ 

“ตนไม่นำทุเรียนหล่นกว่า 1 ตันนี้ ไปบ่มขายสุกให้กับลูกค้า เพราะรู้ว่าทุเรียนยังไม่แก่ดี เนื้อยังไม่แก่จัดเต็มที่ ยังไม่ได้มาตราฐานของสวน เพราะปกติเราคัดทุเรียนขาย ความสุกตามที่ลูกค้าชอบ และเน้นขายที่สวน กลุ่มลูกค้าเป็นเพื่อน คนรู้จัก และลูกค้าที่เคยซื้อทุเรียนที่สวนรับประทาน เป็นการขายแบบปากต่อปาก ไม่ได้ขายออนไลน์ ตนไม่เสี่ยงเอาชื่อเสียงที่สะสมมา มาแลกกับการขายทุเรียนหล่น ยอมขาดทุนในส่วนนี้ดีกว่า ลูกค้าเสียเงินแล้วต้องได้กินของดีของอร่อย ซึ่งในความจริงแล้วทุเรียนที่หล่นจากฤทธิ์ของพายุฤดูร้อนรอบนี้ เป็นทุเรียนที่ลูกค้าจองไว้เกือบหมดแล้ว ตอนนี้ทำได้เพียงต้องโทรเลื่อนลูกค้าที่รอชิมทุเรียนล็อคแรกของปีออกไปก่อน” นางสาวพนัดดา กล่าว 

นายประยงค์ หอมหวล ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 8 บ้านเฉลิมราชพัฒนา กล่าวว่า ในตำบลที่รับผิดชอบมีเกษตรกรได้รับผลกระทบจากพายุฤดูร้อน จำนวน 14 สวน โดยมีสวนที่เสียหายหนักทุเรียนหล่นกว่า 1 ตัน ส่วนที่เหลือเสียหายสวนละ ประมาณ 400-500 กิโลกรัม  ซึ่งสำนักงานเกษตรอำเภอหัวหิน ได้คำนวนมูลค่าความเสียหายแล้ว ประมาณ 2 ล้านบาทเศษ

นายพลกฤต พวงวลัยสิน นายอำเภอหัวหิน กล่าวด้วยว่า ตนมาเยี่ยมและให้กำลังใจเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากพายุฤดูร้อน ซึ่งปีนี้เกษตรกรบอบช้ำหนัก ทั้งผลผลิตน้อยจากภัยแล้ง และหล่นเสียหายจากพายุอีก จากการพูดคุยพบว่าเกษตรกรยังมีกำลังใจที่ดี แม้จะต้องสูญเงินแสน ปีนี้ภัยแล้งรุนแรงกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งในพื้นที่เพิ่งมีฝนตก น่าจะช่วยยืดสถานการณ์ไปได้บ้าง ขณะนี้ตามสวนทุเรียน ผลผลิตมีน้ำหนักราว 2-3 กิโลกรัม ใกล้เก็บเกี่ยว ซึ่งหน้าของทุเรียนป่าละอูที่ผลผลิตแก่จัด จะอยู่ราวปลายเดือนมิถุนายน 

อย่างไรก็ตาม สำหรับทุเรียนหล่นจากพายุเหล่านี้ ทางสำนักงานเกษตรอำเภอหัวหิน มีแนวทางการทดลองและพัฒนา เพื่อนำไปแปรรูปเป็นอาหารสัตว์พรีเมียม ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนทดลองผลิต.