เมื่อเวลา 10.00 น.ของวันที่ 9 พฤษภาคม 2567 ที่ลานสาครบุรี ศาลากลางจังหวัดสมุทรสาคร กลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบ จากการโครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมทรัพย์สาคร ของบริษัท ศิวาชัย จํากัด ในพื้นที่ตำบลกาหลง อ.เมืองสมุทรสาคร จ.สมุทรสาคร ได้ร่วมกันยืนหนังสือถึงศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดสมุทรสาคร เพื่อคัดค้านการขอเปลี่ยนสีผังเมือง ของบริษัทฯ ดังกล่าว โดยมีนายผล ดำธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร พร้อมด้วย นายวรณัฏฐ์ หนูรอต รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร และผู้ที่เกี่ยวข้อง ได้ลงมารับหนังสือร้องเรียนจากกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบดังกล่าว ซึ่งก็มีทั้งตัวแทนจากสมาคมการประมงสมุทรสาคร ชาวประมงพื้นบ้าน ชาวประมงผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง และ ชาวนาเกลือในพื้นที่ตำบลกาหล กับ ตำบลนาโคก นอกจากนี้ยังมีตัวแทนจากจังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งมีรอยต่อกับจังหวัดสมุทรสาคร มาร่วมด้วย


 นายมงคล มงคลตรีลักษณ์ ในฐานะนายกสมาคมการประมงสมุทรสาคร พร้อมกับตัวแทนจากประมงพื้นบ้าน นาเกลือ และประมงพาณิชย์ ได้ร่วมกันเปิดเผยถึงเหตุที่ต้องมาคัดค้านในครั้งนี้ว่า   ตามที่ บริษัท ศิวาชัย จํากัด ได้จัดทำเอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมทรัพย์สาคร ของบริษัท ศิวาชัย จำกัด ตั้งอยู่ที่ตำบลกาหลง อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร เป็นเอกสาร ประชาสัมพันธ์เผยแพร่เพื่อประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) รวมเนื้อที่ประมาณ 4,392.18 ไร่ บริเวณทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 35 (ถนนพระราม 2 กิโลเมตรที่ 48) ฝั่งขาออกกรุงเทพมหานคร ฝั่งทิศเหนือ ติดต่อกับ คลองขวางพื้นที่ว่างรอการใช้ประโยชน์ เขตชุมชนทางรถไฟสายแม่กลอง (ทาง รถไฟสายสมุทรสาคร-สมุทรสงคราม) , ทิศตะวันออก ติดต่อกับ พื้นที่นาเกลือ,ทิศใต้ ติดต่อกับ พื้นที่ป่าชายเลน และ ทิศตะวันตก ติดต่อกับ พื้นที่นาเกลือ

ขณะที่พื้นที่ใช้ประโยชน์ในพื้นที่โครงการฯ แบ่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ 1) พื้นที่อุตสาหกรรม ประมาณ 3,390.17 ไร่,พื้นที่พาณิชยกรรม  55.38 ไร่,3) พื้นที่ระบบสาธารณูปโภค 507.00 ไร่ และ พื้นที่สีเขียวพร้อมแนวกันชน 439.63 ไร่  ซึ่งโครงการนี้ร่วมกับนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมเพื่อดึงดูดให้ผู้ประกอบการเข้าไปลงทุนในพื้นที่ที่จัดสรรไว้ และเชิญชวนผู้ประกอบการที่เป็นนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เข้ามาพัฒนานิคมฯ และเป็นการส่งเสริมสนับสนุนการเชื่อมโยงเศรษฐกิจภาคตะวันออกและตะวันตก (East West Economic Corridor) 


ทั้งนี้กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมทรัพย์สาคร เห็นว่าเป็นโครงการที่ดึงดูดให้นักลงทุน ที่ไม่ใช่คนในพื้นที่มาใช้ประโยชน์ในโครงการ ซึ่งตั้งอยู่ตำบลกาหลง อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร จะก่อให้เกิดการสร้างมลภาวะหลายๆ ด้าน มีผลกระทบต่อความเป็นวิถีและความเป็นอยู่ของชุมชน คนในพื้นที่ และพื้นที่ใกล้เคียง พวกเราจึงมีความเห็นพ้องต้องกันไม่เห็นด้วย และขอคัดค้านการที่จะยื่นขอแก้ไขเปลี่ยนสีผังเมืองจังหวัดสมุทรสาคร ด้วยเหตุผลของการมีผลกระทบต่อด้านสิ่งแวดล้อม เพราะในปัจจุบันเราได้รับผลกระทบมากพออยู่แล้ว และหากมีการเปลี่ยนสีพื้นที่เพื่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมทรัพย์สาคร กลุ่มเพาะเลี้ยง นาเกลือ คนในชุมชน ชาวประมง และพื้นที่ใกล้เคียง จะได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน ปัจจุบันเราประสบสภาวะโลกร้อน ทำให้เกิดภัยธรรมชาติและการประกอบอาชีพเกษตรกรรมของพวกเราประสบปัญหามากมาย พวกเรากลุ่มที่ได้รับ ผลกระทบจากโครงการจัดตั้งนิคมอุสาหกรรมทรัพย์สาคร ในจังหวัดสมุทรสาครและพื้นที่ใกล้เคียง อีกทั้งปัจจุบันในจังหวัดสมุทรสาคร มีนิคมอุตสาหกรรมด้วยกันถึง 2 - 3 แห่งแล้ว ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมสมุทรสาคร นิคม อุตสาหกรรมสินสาคร และนิคมส่วนขยายบางกระเจ้า ซึ่งทั้ง 3 แห่ง ยังใช้พื้นที่ได้ไม่เต็มที่ เห็นควรว่าควรใช้พื้นที่ที่เหลือของนิคมอุตสาหกรรมที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเป็นที่ทราบทั่วกัน ประโยชน์ที่ได้รับไม่ได้ตกที่อยู่คนในชุมชนแต่เป็นกลุ่มนักลงทุนคนนอกพื้นที่ที่แสวงหาประโยชน์กำไรในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครแล้วทิ้งภาระปัญหาไว้ให้กับคนในจังหวัดและชุมชนและพื้นที่ใกล้เคียง ดังกับปัญหาเรื่องต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้นล้วนเกิดจากกลุ่มทุน ที่ไม่มีความรับผิดชอบต่อชุมชนคนในพื้นที่ ในการนี้ กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมทรัพย์สาคร ขอคัดค้านการเปลี่ยน “สีผังเมือง” กับทางศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดสมุทรสาคร ด้วยว่าพื้นที่นี้เป็นพื้นที่สีขาวมีกรอบและเส้นทแยงสีเขียว ซึ่งจัดให้เป็นพื้นที่ประเภทอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม การอยู่อาศัย สถาบันการศึกษา สถาบันศาสนา สถาบัน การสาธารณูปโภค และสาธารณูปการ เท่านั้น ห้ามให้ประโยชน์ที่ดินเพื่อประกอบการอุสาหกรรมโดยเด็ดขาด


 ด้านนายผล ดำธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่า ภายหลังจากที่รับหนังสือคัดค้านของกลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการจัดตั้งโครงการนิคมอุตสาหกรรมทรัพย์สาคร ไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว จากนี้ก็จะส่งเรื่องไปยังศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดสมุทรสาคร เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการพิจารณาแก้ไข หรือ เสนอทางผู้บังคับบัญชาที่มีอำนาจมากกว่าในระดับจังหวัด ได้พิจารณาสภาพปัญหาและความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน จากนั้นก็จะนำผลสรุปมาแจ้งให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบฯ ได้รับทราบต่อไป.