หมายเหตุ : “ศักดา นพสิทธิ์” อดีตโฆษกพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์พิเศษรายการ “สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์” ทางช่องยูทูบ Siamrathonline เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2567 ถึงความเคลื่อนไหวทางการเมือง และแรงกระเพื่อมที่เกิดขึ้น อันเป็นผลมาจากการปรับคณะรัฐมนตรี “เศรษฐา 1/2” น่าสนใจว่า การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ “ใคร” เป็นฝ่ายได้ และฝ่ายเสียอย่างไรบ้าง
- รัฐบาลใหม่ใช้เวลา 7-8 เดือนจากนั้นมีการปรับครม.ถือว่าเร็วเกินไปหรือไม่ และมีปัจจัย เงื่อนไขอะไรที่ทำให้ต้องปรับครม.ครั้งนี้
คิดว่าช่วง 7 เดือนที่ผ่านมาต้องถือว่าการปรับครม. ไม่เร็วไป และอาจดูว่าช้าเกินไปเสียด้วย เหตุปัจจัยก็คือครม.ชุดนี้ยังไม่มีผลงานที่เด่นชัดอะไรเลย ที่จะทำให้เกิดความประทับใจ และคาดหวังได้กับการที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำรัฐบาล ประการที่สองต้องถือว่าเป็นการตอบโจทย์ ตามข้อตกลงเดิมที่อดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร จะต้องกลับเข้ามา และเป็นไปตามเป้าหมายอีก 2-3ประการด้วยกัน ประการที่สาม คือการที่พี่น้องประชาชนเกิดความรู้สึกว่าปรับครม.แล้วไม่ได้แตกต่างจากจุดเดิม นี่คือปัจจัยความล่าช้าของการปรับครม.
-เมื่อได้เห็นโฉมหน้าครม.ชุดใหม่ “เศรษฐา 1/1” พอจะทำให้เราได้เห็นอะไรบ้าง โดยเฉพาะการปรับเพื่อเสริมทัพทีมเศรษฐกิจ เนื่องจากมีรัฐมนตรีในกระทรวงการคลัง4คน ซึ่งถูกมองว่ารัฐบาลต้องการมาชูจุดแข็งเรื่องเศรษฐกิจ และการผลักดันโครงการดิจิทัลวอลเล็ต
ถือเป็นความคาดหวังของผู้ที่มีอำนาจในปรับครม. ทั้งนายกฯตัวจริง และผู้มีอำนาจเหนือนายกฯ แต่สิ่งที่จะสะท้อนจากการปรับครม.รอบนี้คือการปรับเพื่อ “3 ท.” โดย ท.ที่ 1คือ ทุน ท.ที่2 เพื่อ นายทหารเก่า เคยมีอำนาจในครม.ชุดเดิม รวมถึงทหารที่เคยทำการปฏิวัติรัฐประหาร ส่วน ท.ที่3 ผมขอใช้คำว่าเป็นชื่อบุคคล ที่อยู่เหนือพรรคเพื่อไทย
นี่คือการตอบโจทย์การปรับครม. รอบนี้ แน่นอนว่าความคาดหวังอาจจะมุ่งไปที่กระทรวงการคลัง เป็นด้านหลัก แต่สิ่งที่เป็นข้อสังเกต คือรัฐมนตรีช่วยฯ กระทรวงการคลัง มีถึง 3คนด้วยกัน รวมรมว.คลังด้วยเป็น 4 คน ดังนั้นเป้าหมายในการปรับในส่วนของกระทรวงการคลัง คืออะไร ซึ่งหลายคนต่างมองว่าเป็นเพราะต้องการผลักดันในเรื่องของดิจิทัลวอลเล็ต จะต้องทำให้ได้ แม้มีข้อท้วงติง จากธนาคารแห่งประเทศไทย ตลอดจนนักวิชาการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแหล่งที่มาของทุน การครอบคลุมกับกลุ่มเป้าหมายที่จะไปแจกจ่าย รวมถึงประเด็นที่ชาวบ้านสอบถามกันมากว่าทำไม จึงไม่แจกเป็นเงินสด เลย
ประเด็นที่สองที่เห็นจากการปรับครม.คือ กระทรวงที่ได้เบ็ดเสร็จคือกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อาจจะเป็นความต้องการเจ้ากระทรวง เอง ที่ไม่ต้องการที่จะให้ใครเข้ามายุ่งกับนโยบายของเจ้ากระทรวงเลย จึงขอเป็นกระทรวงเดียวของพรรคพลังประชารัฐ ให้คุมเอง ส่วนที่สาม คือเดิมที่นายกฯเศรษฐา ควบรมว.คลัง นั้นเมื่อปรับออกไปแล้ว คุณเศรษฐา อาจจะไปเน้นเรื่องการบริหารบุคคล ซึ่งน่าสนใจว่า มีความจำเป็นอะไรจึงต้องมีรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯถึง 3 คน
ซึ่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ คือคนที่ได้รับมอบหมายจากนายกฯอยู่แล้ว ขณะเดียวกันมีรองนายกฯช่วยดูงานต่างๆในสำนักนายกฯอยู่แล้ว จึงถือว่าไม่มีความจำเป็น สองกระทรวงนี้ จึงมีความสัมพันธ์กัน คือกระทรวงการคลังและสำนักนายกฯ คือนายกฯจะมากำกับดูแลสำนักนายกฯ เพื่อผลักดันในเรื่องเงินดิจิทัลวอลเล็ต สองมาผลักดันในเรื่องของการบริหากบุคคล และสาม อาจจะมีความจำเป็นที่จะต้องสื่อสาร กับประชาชน รวมถึงการตอบโต้กับพรรคการเมือง และทำความเข้าใจกับประชาชน ต่อนโยบายรัฐบาลที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ
ข้อสังเกตอีกเรื่องหนึ่ง คือ สิ่งที่เป็นคำถามมากที่สุดในการปรับครม. และท้าทายกระบวนการยุติธรรมมากที่สุด คือการมีรัฐมนตรีที่มีข้อสงสัยเรื่องคุณสมบัติจากประชาชน จากนักวิชาการและกระบวนการยุติธรรม ว่าเป็นรัฐมนตรีได้หรือไม่ นี่อาจจะเป็นเหตุที่จะต้องตั้งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯเพื่อออกมาชี้แจง วันนี้เรายังเห็นบทบาทของโฆษกรัฐบาลที่ผิดฝา ผิดฝั่ง และมีกระแสข่าวว่า อาจจะต้องเปลี่ยนโฆษกรัฐบาล
-การปรับครม.รอบนิ้มีรัฐมนตรีที่เป็นแกนนำพรรคเพื่อไทย ถูกปรับออก ทั้งนายปานปรีย์ พหิทธานุกร หรือนพ.ชลน่าน ศรีแก้ว มีร่องรอยความขัดแย้ง เช่นนี้จะส่งผลกระทบตามมาหรือไม่
หากเป็นแค่คณะบุคคลหรือตัวบุคคล คนที่ได้ก็คืออดีตนายกฯทักษิณ ที่ตอบสนองความต้องการของกลุ่มทุน ส่วนที่สองคืออำนาจเก่า ตอบโจทย์ในแง่ของความเชื่อมโยง แม้จะไม่ได้พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ มาเป็นรัฐมนตรี กระทรวงกลาโหม ตามที่มีข่าวก่อนหน้านี้ แต่ต้องจับตาดูต่อไปว่า อาจจะมีระยะเวลา ที่จะมีการปรับดีล กันอีกหรือไม่ ในส่วนของกระทรวงกลาโหม เมื่อมีการปรับครม. รอบหน้า เชื่อว่าในส่วนของกระทรวงกลาโหม ไม่ได้จบเพียงแค่นี้
ในส่วนของการปรับครม.กระทรวงสาธารณสุข ผมยืนยันได้ว่านพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ได้ทำตามนโยบาย ในความเป็นนักการเมืองได้สูงมาก ปกป้องงานในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งไม่มีใครถูกฝา ถูกฝั่ง เป็นผู้เชี่ยวชาญของกระทรวงที่เอาหมอมาเป็นรัฐมนตรี กระทรวงหมอ เพราะอย่างน้อยที่สุดก็รู้จักงานด้านสาธารณสุข
แต่การปรับเปลี่ยนให้คุณสมศักดิ์ เทพสุทิน เข้ามาเป็นรมว.สาธารณสุข ประชาชนยังมีความคาดหวังว่า คุณจะรู้งานของกระทรวงได้มากหรือไม่ เท่ากับหมอที่ดูแลอยู่ ไม่ใช่ว่าฝ่ายการเมืองจะเข้ามาดูงานด้านเทคนิคได้ ทุกเรื่องทุกกระทรวง และต้องกลับไปถามรัฐมนตรีดังๆด้วยว่า คนที่ส่งท่านมาดูแลงานกระทรวงนี้ เพื่อไม่ให้เสียของงานของกระทรวงนี้
สำหรับคุณปานปรีย์นั้นต้องยอมรับ ว่าไม่มีใครที่จะตอบโต้คนที่มีอำนาจเหนือ ครม.เศรษฐา 1 ได้เท่ากับคุณปานปรีย์ เพราะเขาไม่ได้สนใจเรื่องตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เดิมที่คุณปานปรีย์ถูกวางเอาไว้ว่า เป็นมือด้านเศรษฐกิจ แต่กลับไปอยู่ที่กระทรวงการต่างประเทศ ถือว่าผิดฝาผิดฝั่ง ประการต่อมาในเรื่องการต่างประเทศ ต้องยอมรับว่าสิ่งที่คุณปานปรีย์ เคยพูดเอาไว้ว่าหากเป็นรมว.ต่างประเทศ แล้วไปเจรจาการค้า หรือการเจรจาการเมืองระหว่างประเทศ การที่ไม่มีตำแหน่งรองนายกฯ ควบอยู่ด้วย ทำให้น้ำหนักของการเป็นรัฐมนตรีด้อยไป จุดนี้เป็นไปในเชิงหลักการ
แต่ประการสำคัญ ผมกลับมองว่า รมว.ต่างประเทศ จะอยู่ในวาระสำคัญอีกเรื่องหนึ่ง นั่นคือการนำอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กลับเข้ามาประเทศไทย ฉะนั้นเรื่องนี้เป็นการตอบโจทย์ว่า อย่างน้อยที่สุดคุณปานปรีย์ก็แสดงความเป็นนักบริหารมืออาชีพ ไม่ใช่นักการเมืองที่ก้าวเข้าไปเป็นฝ่ายบริหาร ทำตามหลักการได้ และสะท้อนตอบโจทย์ได้ ทันทีทันควัน เมื่อปรับครม.แล้วไม่มีตำแหน่งรองนายกฯอยู่ คุณปานปรีย์ก็ออก นั่นคือการสะท้อน ชิ่งไปถึงผู้มีอำนาจ เหนือนายกฯเศรษฐาแล้ว ว่าไม่ได้สนใจ และสั่งได้ทุกกรณี ถ้าไม่ถูกหลักการ
จะสังเกตได้ว่า รมว.ต่างประเทศ คือคุณปานปรีย์ จึงมีรมช.ต่างประเทศ ด้วย แต่ถ้ากระทรวงนี้มีความสำคัญจริง รมช.ต่างประเทศ จึงต้องถูกโยกมาอยู่ที่สำนักนายกฯอีก นี่คือการไม่ตอบโจทย์ของกระทรวงการต่างประเทศ ดังนั้นเชื่อว่าการปรับครม.ครั้งใหม่รอบนี้ กระทรวงการต่างประเทศ มีภารกิจเดียว คือการนำอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ กลับประเทศไทย ในวาระต่อไปเท่านั้น
สำหรับคุณปานปรีย์นั้นต้องถือว่าเป็นคนที่ทำงานให้พรรคเพื่อไทย ในสมัยต้นๆ และเคยถูกวางเอาไว้ให้เป็นเบอร์ต้น ๆ ถึงขนาดเคยเป็นรองหัวหน้าพรรค มีความสัมพันธ์กับบ้านจันทร์ส่องหล้า อย่างมาก แต่ทำไม ไม่ได้รับการยอมรับ สิ่งนี้กำลังสะท้อนให้เห็นว่านายกฯที่ถูกสั่งให้ ปรับรองนายกฯออก
ประเด็นสำคัญ ที่อยากจะบอกผ่านไปยังพี่น้องประชาชน สิ่งที่น่าจะสูญเสียมากที่สุดคือพรรคเพื่อไทย ที่สูญเสียดุลอำนาจทางการเมืองมากที่สุด จากการปลดนพ.ชลน่าน จากการลาออกของคุณปานปรีย์ ทั้งที่นพ.ชลน่าน ทำมาทุกอย่างเพื่อให้พรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาล ต้องเสียสละตำแหน่งหัวหน้าพรรค ต่อมาเมื่อได้เป็นรมว.สาธารณสุข ก็อยู่ได้ไม่นาน การลาออกของคุณปานปรีย์ ครั้งนี้สร้างผลกระทบให้กับพรรคเพื่อไทยมาก นั่นคือพรรคเพื่อไทยไม่มีมิติความเข้มแข็งในการเป็นพรรคการเมืองเลย ถูกเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง อยู่ที่มีผู้อำนาจเหนือพรรค มากกว่า
การตอบสนอง กรณีนพ.ชลน่าน ที่มีกระแสข่าวว่าจะไปนั่ง ประธานสภาฯ จุดนั้นก็ยังไกลเกินไป เนื่องจากเจ้าของเก้าอี้ ก็ยังตอบโต้อยู่ว่า มันไม่ใช่สิ่งที่จะรุกกันง่ายๆ นี่คือภาพสะท้อนในเรื่องของการดีลงาน ก่อนหน้านี้ตามที่มีกระแสข่าว แต่ก็ยังไม่ชัด แต่สุดท้ายก็เกิดภาพที่ทำให้เห็นจิ๊กซอว์มากขึ้น
-การปรับครม.ผ่านพ้นไปแล้ว แรงกระเพื่อมเราได้เห็นแล้ว จากนี้ฉากต่อไปทางการเมือง ที่จะมีคุณทักษิณ เป็นตัวแปรสำคัญ เราจะได้เห็นอะไรชัดเจนมากขึ้นบ้าง เพราะหลังการปรับครม. ปรากฏว่าคุณทักษิณ ไปเดินเล่นที่วอล์กกิ้ง สตรีท ที่ภูเก็ต และมีรายงานว่า เตรียมจะไปที่โคราช อีก
จากนี้เราจะได้เห็นการที่คุณทักษิณ ต้องการแสดงให้เห็นว่า คนที่มีอำนาจเหนือนายกฯ เหนือรัฐบาลทั้งปวง ก็คือคุณทักษิณ และเขาจะเป็นคนที่ปรับโครงสร้างทางการเมืองใหม่ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างตัวบุคคลหรือโครงสร้างเชิงนโยบาย หรือการสานต่อกับกลุ่มอำนาจเก่า ส่วนจะถูกต้อง เป็นที่พอใจของพี่น้องประชาชนหรือไม่ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
ภารกิจสำคัญนี้ เป็นการแลกเปลี่ยน จากการที่คุณทักษิณ กลับเข้าประเทศมาได้ โดยไม่ได้ถูกจำคุก และเช่นเดียวกันคือการนำพาคุณยิ่งลักษณ์ กลับประเทศไทยมาได้ และใช้กระบวนการคล้ายกัน แต่อาจไม่เหมือนกันโดยสิ้นเชิง ซึ่งจะอ้างเหตุผลการป่วยไม่ได้ และนี่คือการแสดงพลังอำนาจที่เยาะเย้ยว่า ต่อไปนี้คนที่มีอำนาจเหนือ รัฐบาลในประเทศไทยนี้ ก็คือคุณทักษิณ
ส่วนกระบวนการเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ดี หรือการที่กรมราชทัณฑ์ เกิดความเสียหายมากที่สุดจะถูกหมางเมินโดยบุคคลเพราะกฎหมายและหลักการใช้ไม่ได้ ผมมองว่าสิ่งที่อดีตนายกฯทักษิณ ทำตอนนี้ คือพรรคเพื่อไทยเดินตามแนวทาง อาจจะมีผลกระทบมุมกลับ ต่อพรรคก้าวไกลหากพรรคแสดงให้เห็นว่าพรรคก้าวไกล ไม่มีผู้นำแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เป็นพรรคของประชาชน เอาประชาชนเป็นที่ตั้ง ยึดถือหลักการเหนือกว่าบุคคล จะทำให้พรรคก้าวไกล อยู่ในสถานการณ์ที่ได้เปรียบเหนือพรรคเพื่อไทย
และที่ผ่านมาจะพบว่ากระแสของพรรคเพื่อไทยยังตามหลังพรรคก้าวไกล นั้นส่วนหนึ่งเชื่อว่ามาจากการที่อดีตนายกฯทักษิณ คิดและเชื่อมั่นว่าตัวเองยังเป็นผู้ทรงอิทธิพลอยู่ทางความคิดของพี่น้องประชาชน แต่ลืมไปว่าเจเนอเรชันของคน กระแสโลกาภิวัตน์ ได้เปลี่ยนไปแล้ว
นอกจากนี้คุณทักษิณ อาจจะลืมหรือมองข้ามไปว่า การยื่นมือไปประสานกับกลุ่มอนุรักษ์นิยม หรือกลุ่มทหารเก่า ทำให้ประชาชนมองว่าคุณทักษิณตกยุคไปแล้วหรือไม่ และนี่คือความเด่น ความด้อย ของคุณทักษิณ ,พรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล