คุยเฟื่องเรื่องต่างประเทศ / ดร.วิวัฒน์  เศรษฐช่วย

แทบไม่น่าเชื่อเลยว่าที่ผ่านๆมาเรามักจะเห็น “ประธานาธิบดีโจ ไบเดน”วางตัวเป็นผู้นำที่มีความสุขุมรอบคอบและมีความสามารถแก้ไขปัญหารอบด้านทั้งภายในประเทศและปัญหาต่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แต่ขณะนี้กลับปรากฏว่าประธานาธิบดีไบเดนเกิดอาการสะดุด สืบเนื่องมาจากการที่สหรัฐฯเข้าไปสนับสนุนอิสราเอลอย่างแข็งขันในสงครามอิสราเอลกับกลุ่มนักรบฮามาส โดยเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2024 นักศึกษาจาก “มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย” อดรนทนไม่ไหวรวมตัวออกมาจุดประกายต่อต้านจนแพร่ในวงกว้างขยายไปทั่วประเทศถึง 36 สถาบัน อาทิ มหาวิทยาลัยเยล ฮาร์วาร์ด มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก มหาวิทยาลัยบราวน์ มหาวิทยาลัยมิชิแกน มหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนา และมหาวิทยาลัยอื่นๆอีกหลายๆสถาบัน แถมยังตามมาด้วยมีนักศึกษาถูกจับกุมไปแล้วกว่า 2,000 คนทั่วประเทศอีกด้วย!!

โดยข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ประท้วงต้องการให้มหาวิทยาลัยต่างๆหยุดทำธุรกิจกับอิสราเอล และเรียกร้องให้มหาวิทยาลัยของสหรัฐฯหยุดบริจาคเงินให้แก่อิสราเอล ยกตัวอย่างเช่น เมื่อปีกลายมหาวิทยาลัยโคลัมเบียบริจาคเงินมูลค่าถึง 13.6 พันล้านดอลลาร์ให้แก่อิสราเอล และพวกเขายังออกมาต่อต้านไม่ต้องการให้บริษัทค้าอาวุธจัดหาและส่งอาวุธสงครามไปให้แก่อิสราเอล และนอกจากนั้นผู้ประท้วงยังได้เรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐฯหยุดสนับสนุนรัฐบาลอิสราเอล ทั้งนี้นักศึกษา คณาจารย์ และผู้บริหารของมหาวิทยาลัยทั่วประเทศเริ่มมีความตึงเครียดนับตั้งแต่เกิดสงครามระหว่างอิสราเอลและฮามาสเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2023 ที่ทำลายล้างประชากรเสียชีวิตในฉนวนกาซาไปแล้วกว่า 35,000 ราย

อนึ่งแรกเริ่มเดิมทีการประท้วงที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบียเกิดขึ้นอย่างสงบ แต่กลับปรากฏว่าหลังจากที่ตำรวจหลายร้อยนายสวมชุดปราบจลาจลเข้าไปเพื่อต้องการสลายการชุมนุม จนทำให้เกิดการปะทะกันระหว่างนักศึกษากับตำรวจและเหตุการณ์ได้ทวีเพิ่มมากขึ้นจนกลายเป็นความรุนแรง

นอกจากนั้นแล้วผู้ประท้วงยังแสดงความไม่พอใจที่สหรัฐฯส่งความช่วยเหลือให้กับอิสราเอลมีมูลค่า 26,000 ล้านดอลลาร์ที่ผ่านการอนุมัติอย่างล้มหลามในสภาคองเกรส

ทั้งนี้ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้ออกมากล่าวว่า “ความมั่นคงของอิสราเอล มีความสำคัญอย่างยิ่ง” โดยกลุ่มผู้ประท้วงออกมาเรียกร้องให้ประธานาธิบดีโจ ไบเดน หยุดให้ความช่วยเหลือแก่อิสราเอล นับตั้งแต่สงครามเกิดขึ้นผู้ประท้วงยังต่อต้านชาวยิวทั่วทั้งประเทศ โดยต่อมากลุ่มผู้ประท้วงขยายวงกว้างไปยัง มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน มหาวิทยาลัยมินนิโซตา มหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ มหาวิทยาลัยนอร์ทเวสต์เทิร์น มหาวิทยาลัยวอชิงตัน ณ เซ็นหลุยส์ มหาวิทยาลัยมิสซูรี มหาวิทยาลัยโคโลราโด และมหาวิทยาลัยอินเดียนา ส่วนภาคตะวันตกก็มีการประท้วงเกิดขึ้นที่ มหาวิทยาลัยยูซีแอลเอ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ที่เบอร์คลี แสตนฟอร์ด และมหาวิทยาลัยยูเอสซี

สำหรับการประท้วงที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยเซาท์เทิร์นแคลิฟอร์เนีย หรือยูเอสซี  สืบเนื่องมาจากมีนักศึกษาหญิงเชื้อสายปาเลสไตน์คนหนึ่งชื่อ “Asana Tabassum” ที่เธอจะจบสาขาวิศวกรรมการแพทย์ และได้รับคัดเลือกให้เป็นนักศึกษาดีเด่นที่สุดจากผู้อยู่ในข่ายเรียนดียอดเยี่ยมหนึ่งร้อยคนที่ได้รับเกรดเฉลี่ยอย่างน้อย 3.98 จุด ที่เธอถูกวางตัวให้ขึ้นไปกล่าวสุนทรพจน์ของรุ่นโดยคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมฟังราย  65,000 คน แต่กลับถูกปฏิเสธมิให้เธอขึ้นไปกล่าวสุนทรพจน์โดยเธอกล่าวว่า “ดิฉันรู้สึกประหลาดใจที่มหาวิทยาลัยของฉันเองทอดทิ้งฉันไปเสียแล้ว” โดยทางมหาวิทยาลัยอ้างว่า เพื่อปกป้องมิให้ก่อเหตุไม่สงบ!!!

อนึ่งหนังสือพิมพ์รายวันยักษ์ใหญ่ในรัฐแคลิฟอร์เนีย “Los Angeles Times” ได้เขียนบทบรรณาธิการว่า “การตัดสินใจของมหาวิทยาลัยเซาท์เทิร์นแคลิฟอร์เนียนับว่าผิดพลาดที่สุด” 

อย่างไรก็ตามการออกมารวมตัวกันเพื่อสนับสนุนปาเลสไตน์นอกสหรัฐฯก็ได้แพร่ไปยังหลายๆประเทศ อาทิเช่น ในฝรั่งเศส ที่จัดขึ้นที่ Sciences Po ส่วนที่แคนาดาก็มีขึ้นที่ “มหาวิทยาลัยแมคกิลล์” สำหรับในออสเตรเลียได้จัดขึ้นที่ “มหาวิทยาลัยซิดนีย์” โดยมีชาวออสเตรเลียน ที่อาศัยอยู่ ณ เมืองเมลเบิร์นได้รวมตัวออกมาประท้วงกันกว่าหนึ่งแสนคน

ในอดีตที่ผ่านมาสถาบันการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยทั่วทั้งสหรัฐฯก็เคยมีการประท้วงกันอย่างดุเดือดเกี่ยวกับสงครามเวียดนาม ที่เกิดขึ้นเป็นเวลานานติดต่อกันกว่าห้าปี โดยครั้งนั้นการประท้วงส่งผลกระทบต่อการเมืองสหรัฐฯไปในวงกว้าง ยกตัวอย่างอาทิเช่น “ประธานาธิบดีลินดอน จอห์นสัน” ตัดสินใจยกธงขาวยอมแพ้ไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งในปีค.ศ. 1968 สืบเนื่องมาจากครั้งนั้นเกิดกระแสความโกรธแค้นเกี่ยวกับสงครามเวียดนามเพิ่มมากขึ้น

และเมื่อหันกลับมาลองวิเคราะห์ถึงสถานการณ์ที่กำลังดุเดือดท้าทายปรอทการเมืองสหรัฐฯอยู่ในขณะนี้“วุฒิสมาชิกเบอร์นี แซนเดอร์ส”นักการเมืองอิสระผู้ทรงอิทธิพลสูงอีกท่านหนึ่งในสหรัฐฯได้ออกมาให้ทัศนะว่า “รู้สึกกังวลเกี่ยวกับการประท้วงที่กำลังแพร่หลายไปทั่วสหรัฐฯ ที่เป็นผลพวงมาจากประธานาธิบดีโจ ไบเดน ซึ่งจะสร้างความแตกแยกไม่แค่เพียงกลุ่มคนหนุ่มสาวเท่านั้น แต่จะมีผลกระทบต่อการเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้นในอีกหกเดือนข้างหน้าอีกด้วย”

เนื่องจากในช่วงแรกๆที่นักศึกษาของมหาวิทยาลัยโคลัมเบียออกมาประท้วงกันนั้นประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้ออกมากล่าวว่า “ทำเนียบขาวจะไม่รับฟังข้อเรียกร้อง ของบรรดาผู้ที่ออกมาประท้วง” และจากผลการหยั่งเสียงของซีเอ็นเอ็นล่าสุดเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2024 เปิดเผยออกมาว่า คะแนนนิยมของเยาวชนหนุ่มสาวที่มีอายุระหว่าง 18-34 ปีที่มีต่อประธานาธิบดีโจ ไบเดน มีน้อยกว่า “อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์”ถึง 11% เลยทีเดียว!!!

กล่าวโดยสรุปทั้งนี้และทั้งนั้นเป็นที่แน่นอนแล้วว่า การแข่งขันเลือกตั้งตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯที่จะมีขึ้นในอีกหกเดือนข้างหน้านี้ คะแนนนิยมของกลุ่มคนหนุ่มคนสาวที่มีต่อ“ประธานาธิบดีโจ ไบเดน”คงจะจืดจางลดน้อยถอยลง  ซึ่งนับเป็นบทเรียนราคาแพงที่เขามิได้นำเอาเรื่องราวของการเมืองในอดีตมาเรียนรู้ เหมือนดั่งเช่นในยุคสมัยของ “ประธานาธิบดีลินดอน จอห์นสัน”ที่ทำให้พรรคเดโมแครต้องพบกับความตกต่ำอย่างสุดๆในการเลือกตั้ง เมื่อปีค.ศ. 1972 จนมีผลทำให้ “ประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน”ได้รับชัยชนะไปอย่างถล่มทลาย ที่ต้องเรียกว่าโดนเด็กสอนมวย และต้องระวังว่าอาจจะเกิดอดีตซ้ำรอยขึ้นมาอีครั้งหนึ่ง ที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน อาจจะโดนหมัดน็อคของเด็กพุ่งตรงเข้าที่ปลายคางจนล้มไม่เป็นท่าละครับ