เมื่อวันที่ 9 พ.ค.67 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ร่วมกับ พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผู้บัญชาการกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ผบช.สอท.) นายธสรณ์อัฑฒ์ ธนิทธิพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และ พล.ต.ต.เอกรักษ์ ลิ้มสังกาศ รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) แถลงข่าวความคืบหน้าการปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ว่า ตามข้อสั่งการของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้ กระทรวงดีอี ร่วมกับ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เดินหน้าปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์เป็นระยะที่ 2 ต่อเนื่องจากการดำเนินการในระยะแรก 30 วัน (1-30 เม.ย.67)
โดยในระยะต่อไป 7 มาตรการสำคัญ เพื่อเดินหน้าแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ 1. การปราบปรามจับกุมอาชญากรรมออนไลน์ทั้งในและต่างประเทศ โดยหน่วยงานด้านการปราบปราม อาทิ ตร. กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) จะเร่งปูพรมจับกุมอาชญากรรมออนไลน์ทั้งในและต่างประเทศ อย่างต่อเนื่อง
2. การป้องกันปราบปรามบัญชีม้า ซิมม้า และจับกุมผู้เกี่ยวข้อง โดยการบูรณาการข้อมูลบัญชีต้องสงสัยร่วมกันระหว่าง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สมาคมธนาคารไทย พร้อมกำหนดหลักเกณฑ์และมาตรการการเปิดบัญชีใหม่ โดยกระบวนการพิสูจน์ทราบข้อเท็จจริง Customer Due Diligence หรือ CDD และ เป้าหมายการปิดบัญชีม้าไม่ต่ำกว่า 100,000 บัญชีต่อเดือน ต่อเนื่อง
3. การแก้ปัญหาหลอกลวงซื้อขายสินค้าออนไลน์ โดยเฉพาะบริการเก็บเงินปลายทาง (Cash on Delivery) หรือ COD โดยสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) จะเร่งจัดทำประกาศควบคุมฯ ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาการหลอกซื้อขายสินค้าออนไลน์ที่มีผู้เสียหายจำนวนมาก โดยประเมินว่า มาตรการนี้จะช่วยลดจำนวนคดีหลอกลวงซื้อขายออนไลน์ได้อย่างมีนัยยะสำคัญ
4.การเร่งรัดคืนเงินและเยียวยาผู้เสียหาย ได้มอบหมายให้ศูนย์ AOC 1441 เป็น Platform รับและแลกเปลี่ยนข้อมูลและบูรณาการข้อมูลร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยการใช้ AI ในการวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อช่วยลดเวลาและเพิ่มความแม่นยำในการติดตามเส้นทางการเงินเพื่อการจับกุมและคืนเงินให้กับผู้เสียหาย
5.การเพิ่มความรับผิดชอบผู้ให้บริการสื่อสังคมออนไลน์ ผู้ให้บริการโทรคมนาคม และผู้ให้บริการทางการเงิน
6.การรณรงค์ประชาสัมพันธ์และสร้างภูมิคุ้มกันอาชญากรรมออนไลน์ แบบเจาะจงเรื่องการหลอกลวงลงทุน การหลอกหารายได้ และแก๊ง call center
7.การเร่งรัดปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย ในประเด็นสำคัญดังนี้
- การเร่งคืนเงินให้กับผู้เสียหาย
- การเพิ่มโทษการซื้อขายข้อมูลส่วนบุคคล
- การป้องกันการโอนเงินแบบผิดกฎหมายของคนร้ายโดยการใช้สินทรัพย์ดิจิทัล โดยเฉพาะที่เป็นแพลทฟอร์มซื้อขายแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลในต่างประเทศที่ผิดกฎหมาย
ด้านนายวิศิษฎ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดดีอี กล่าวว่า ปัจจุบันปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยีทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น โดยจะมีการก่อคดีใหม่เฉลี่ยเพิ่มขึ้นวันละ 855 คดี และทำให้เกิดความเสียหายเฉลี่ยวันละ 110 ล้านบาท ขณะที่ผู้ถูกหลอกลวงจะต้องเสียเวลารอดำเนินการทางคดีเป็นเวลา 3 ปี จึงจะได้รับการเฉลี่ยเงินคืน
ทาง กระทรวงดีอี ได้เล็งเห็นความเดือดร้อนดังกล่าว จึงเตรียมหาช่องทางที่จะดำเนินการเร่งรัดให้ผู้ถูกหลอกลวงได้รับเงินคืนอย่างรวดเร็วกว่าเดิม
"กำลังมองหาช่องทางที่จะช่วยให้ได้คืนเงินในเวลาไม่กี่เดือน เพราะความล่าช้าถือเป็นความอยุติธรรม" นายวิศิษฎ์ กล่าว
ทั้งนี้ ตนจะนัดหารือกับประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ในเรื่องดังกล่าว ซึ่งเป็นการดำเนินการตามกฎหมาย ปปง. แต่ต้องมีมาตรการป้องกันการโต้แย้งหลังจากเฉลี่ยทรัพย์คืนให้ผู้ถูกหลอกลวงไปแล้ว โดยคาดว่าจะต้องนำระบบไอทีมาใช้ในการตรวจสอบข้อมูล เพื่อให้เกิดความถูกต้องแม่นยำ
#อาชญากรรมออนไลน์ #ข่าววันนี้