จากสถานการณ์โลกร้อน มลพิษฝุ่น PM2.5 ทวีความรุนแรง หน่วยงาน กทม.ในฐานะผู้บริหารจัดการเมืองหลวง กำลังเบนเข็มผลักดันเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยเฉพาะแนวทางจัดการขยะ มีการทุ่มงบเพื่อปรับปรุงแก้ไข และกระตุ้นเตือนประชาชนไปพร้อมกัน เพื่อบรรเทาสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ดังกล่าว กทม.กำลังเปลี่ยนรถเก็บขนขยะในสังกัดทั้งหมดเป็นระบบพลังงานไฟฟ้า จากเดิมเป็นระบบน้ำมันดีเซล ซึ่งปัจจุบันได้จัดทำข้อกําหนดเงื่อนไขการประกวดราคาเช่ารถ (TOR) เสร็จแล้ว แต่ถูกวิจารณ์ให้ทบทวนข้อกำหนดจากบริษัทรับจ้างเอกชนที่สนใจ 18 บริษัท ประกอบกับมีผู้แจ้งเรื่องให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบความโปร่งใส ซึ่งตนถือว่าเป็นเรื่องดี ที่จะได้ดำเนินการให้เรียบร้อย ไร้ข้อกังขา โดยหลักการ TOR คือ กทม.เปิดโอกาสเช่ารถเก็บขนขยะระบบไฟฟ้าในราคาเช่ารถระบบดีเซลเดิมหรือต่ำกว่าเท่านั้น ปัจจุบันกำลังเร่งดำเนินการเช่าให้ทันหมดสัญญาช่วงปลายปี พ.ศ. 2567 จำนวน 842 คัน วงเงินประมาณ 3,993,761,463 บาท
“ถึงเวลาเปลี่ยนหรือยัง สภาพเมืองไทยเป็นแบบนี้ อากาศร้อนจัด ฝุ่น PM2.5 เยอะ ถามว่าหากเราเช่ารถขยะไฟฟ้าในราคารถดีเซล เราจะเลือกอะไร เพื่อให้สภาพแวดล้อมดีขึ้น ขณะที่รถเมล์เปลี่ยนเป็นระบบไฟฟ้าหมดแล้ว“
ปัจจุบัน กทม.จัดเก็บขยะได้ประมาณวันละ 8,300-9,000 ตัน จ่ายค่ากำจัดขยะโดยการเผาผลิตไฟฟ้าที่ศูนย์กำจัดขยะหนองแขม ตันละ 775 บาท ที่อ่อนนุช ตันละ 789 บาท อย่างน้อยแห่งละ 1,000 ตันต่อวัน แต่ไม่เกิน 1,500 ตันต่อวัน ยังไม่รวมขยะที่ต้องฝังกลบประมาณ 4,100 ตันต่อวัน ราคาตันละ 600 บาท (จากเดิมสูงสุดตันละ 718 บาท) ค่าเก็บขนส่งตันละ 1,200 บาท รวม กทม.ใช้งบประมาณในการจัดการขยะมูลฝอยปีละประมาณ 7,000 ล้านบาท
นายจักกพันธุ์ กล่าวว่า จากการรณรงค์ที่ผ่านมา พบว่าประชาชนยังไม่รับทราบ ตนกำลังเร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชน ผู้ประกอบการ ห้างร้านต่าง ๆ ช่วยกันแยกขยะ เพื่อลดค่าใช้จ่ายประชาชน ขณะเดียวกัน ช่วยลดค่ากำจัดขยะของ กทม.ด้วย ซึ่งเป็นภาษีของประชาชนเอง ปัญหาที่พบในปัจจุบันคือ ประชาชนยังไม่รู้ค่าเก็บขยะและแยกขยะในอัตราใหม่ ที่คาดว่าจะเริ่มประกาศใช้เดือน ต.ค.นี้ จึงได้สั่งการให้ทุกเขตลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์เข้าร่วมโครงการ เพื่อให้แนวทางแยกขยะเกิดประสิทธิภาพ ได้กำชับเขตว่า ต้องบอกประชาชนให้เข้าใจ โดยสรุปสั้น ๆ คือ ถ้าแยกขยะเสีย 20 บาท ไม่แยกเสีย 60 บาทต่อเดือน กรณีขยะไม่เกิน 4 กิโลกรัม (20ลิตร) ต่อวัน หากเกิน 4 กิโลกรัม แต่ไม่เกิน 200 กิโลกรัมต่อวัน จะเสียหน่วยละ 120 บาทต่อเดือน หากเกิน 200 กิโลกรัมต่อวัน จะเสียหน่วยละ 8,000 บาทต่อเดือน ดังนั้น หากขยะยิ่งน้อย ค่าขยะจะยิ่งถูก
สำหรับแนวทางลดน้ำหนักขยะที่ดีที่สุด นายจักกพันธุ์ กล่าวว่า คือแยกขยะอินทรีย์ เช่น เศษอาหารที่มีน้ำ ออกจากขยะที่จะให้ กทม.จัดเก็บ โดยการกำหนดราคาจัดเก็บขยะ จุดประสงค์ต้องการให้ประชาชนแยกขยะที่มีราคานำไปขายหรือนำกลับมาใช้ใหม่ให้ได้มากที่สุด ก่อนคิดนำมาทิ้ง เพื่อให้น้ำหนักขยะลดลง ค่าจัดเก็บก็จะไม่เพิ่มขึ้น เช่น แยกเศษกระดาษ ขวด ไปขาย นำเศษอาหารไปทำปุ๋ย ขายเกษตรกรที่ต้องการ เป็นต้น หากทุกบ้านช่วยกันแยกเศษอาหารจะช่วยลดขยะทั้งหมดลงครึ่งหนึ่ง และหากช่วยกันรีไซเคิลด้วย ขยะจะลดลงอีก 1 ใน 3 ของทั้งหมด ทำให้ กทม.เสียค่ากำจัดน้อยลง ประหยัดงบประมาณมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ปัญหาอยู่ที่การประชาสัมพันธ์ผู้ประกอบการ เช่น ห้างสรรพสินค้า กรณีขยะเกิน 4 กิโลกรัม แต่ไม่เกิน 200 กิโลกรัม คิดหน่วยละ 120 บาท แต่หากเกิน 200 กิโลกรัมขึ้นไปคิดหน่วยละ 8,000 บาท รวมถึงคอนโดมิเนียม อะพาร์ตเมนต์ ซึ่งมีจำนวนมากในพื้นที่กรุงเทพฯ กทม.ต้องลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์กับตัวแทน ถึงแนวทางแยกและจัดเก็บค่าธรรมเนียม ตามหลักการแล้ว คอนโดฯ คิดค่าธรรมเนียมเก็บขยะเป็นรายห้องเหมือนบ้านเรือนทั่วไป อัตราห้องละไม่เกิน 4 กิโลกรัม จะเสียค่าธรรมเนียม 20 บาท แต่หากไม่คัดแยกขยะ (น้ำหนักเกิน) จะเสีย 60 บาทต่อเดือน แต่เนื่องจาก คอนโดฯ อะพาร์ตเมนต์ เก็บค่าส่วนกลางผู้อาศัยอยู่แล้ว จึงเป็นหน้าที่ของผู้ดูแลที่ต้องบริหารจัดการแยกขยะ เพื่อลดค่าธรรมเนียมลง ซึ่งได้กำชับเขตว่าให้ประเมินน้ำหนักขยะและจัดเก็บตามความจริง
“ส่วนตัวไม่คิดว่าออกข้อบัญญัติ (ราคาเก็บขยะใหม่) มาเพื่อต้องการรายได้ ผมต้องการให้ลด-คัดแยกขยะ เพราะไม่ว่า กทม.จะจัดเก็บค่าขยะได้มากเท่าไร แต่ถ้าประชาชนไม่แยกขยะ ยังไงค่ากำจัดขยะก็สูงขึ้น กลับกัน การแยกขยะ ไม่จำเป็นต้องเก็บค่าธรรมเนียมให้มากมายก็สามารถที่จะเซฟภาษีได้“ นายจักกพันธุ์ กล่าว
ด้านนายพุทธิพัชร์ ธันยาธรรมนนท์ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตยานนาวา ในฐานะประธานคณะกรรมการการรักษาความสะอาดและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ตนเห็นด้วยกับแนวทางแยกขยะ แต่เชื่อว่าผู้ว่าฯกทม. จะนำเรื่องเข้าสภากทม.เพื่อขอขยายระยะเวลาจัดเก็บค่าขยะอัตราใหม่ออกไปอีกจากกำหนด ต.ค.นี้ เนื่องจากมองว่าประชาชนยังไม่พร้อม และเพื่อลดภาระประชาชน ส่วนแนวทางคัดแยกและการจัดเก็บธรรมเนียมขยะที่สูงขึ้นมองได้สองมุมคือ ค่าธรรมเนียมที่สูงขึ้นอาจทำให้มีการคัดแยกขยะมากขึ้น ส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม ลดงบประมาณการกำจัด อีกมุมคือ หากเขตหรือเจ้าหน้าที่รับผลประโยชน์ผู้ประกอบการเพื่อแลกกับการไม่แยกขยะ และไม่ประเมินปริมาณขยะตามจริง เช่น ห้างสรรพสินค้า คอนโดฯ อะพาร์ตเมนต์ จะทำให้แนวทางดังกล่าวไม่ลดขยะตามวัตถุประสงค์ ทั้งยังเปิดช่องทุจริตเพิ่มขึ้น