ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ / ทหารประชาธิปไตย

ในขณะที่อิสราเอลทำการปิดล้อมโจมตีราฟาทั้งทางอากาศและภาคพื้นดิน ที่ทำให้ชาวปาเลสไตน์ในราฟากว่าล้านคนตกอยู่ในอันตรายและมีโอกาสเสียชีวิตอีกเป็นจำนวนมาก จากการโจมตีและการอดอาหาร

ทว่าสหรัฐฯ กลับเพิกเฉยและอ้างแต่เพียงว่าจะพุ่งประเด็นไปที่การเจรจาหยุดยิงเท่านั้น ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะตกลงกันได้หรือไม่ หรือใช้เวลาอีกนานเท่าไร แต่บทบาทของสหรัฐฯ ทำให้มองได้ว่าสหรัฐฯส่งเสริมการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อย่างไร้มนุษยธรรมของอิสราเอล และส่งเสริมสงคราม

เวลาเดียวกันประธานาธิบดีสี จิ้นผิง กำลังเยือนฝรั่งเศส และมีแผนที่จะเยือนเซอร์เบีย กับฮังการีในแผนการเยือนยุโรปในครั้งนี้

ครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกนับได้ 5 ปี แล้วที่ประธานาธิบดีสีฯ มาเยือนยุโรป ซึ่งเป้าหมายหลักอยู่ที่ฝรั่งเศส และวัตถุประสงค์อย่างเป็นทางการก็คือ ความร่วมมือกันทางเศรษฐกิจ กล่าวคือ จีนและฝรั่งเศสได้ลงนามในความร่วมมือกันถึง 18 ฉบับ โดยครอบคลุมถึงธุรกรรมด้านการบิน การเกษตร การแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชนกับประชาชน การพัฒนาสีเขียวและความร่วมมือในการพัฒนา SME

แน่นอนข้อตกลงเหล่านี้ย่อมก่อประโยชน์ให้กับการพัฒนาเศรษฐกิจของทั้งสองฝ่าย แต่มันเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจของฝรั่งเศส ในยามที่เศรษฐกิจกำลังตกต่ำลงไปเรื่อยๆ นับแต่การแพร่ระบาดของโควิด และการเผชิญหน้ากับรัสเซียในปัญหายูเครน ทำให้การเยือนฝรั่งเศสของลุงสีฯมีความหมายในการกระชับความสัมพันธ์กับฝรั่งเศสให้แนบแน่นมากขึ้น

อย่างไรก็ตามเบื้องลึกของการเยือนในครั้งนี้ ประธานาธิบดีสีฯ อาจมีเจตนาที่จะให้ยุโรปแยกตัวออกจากการครอบงำของสหรัฐฯ ที่จีนถือว่าเป็นภัยคุกคามของตน

และการที่จะให้ยุโรปยืนหยัดอยู่บนลำแข้งของตนเองแทนการตกเป็นเบี้ยล่างของสหรัฐฯนั้นจีนมองเห็นว่าฝรั่งเศสจะเป็นผู้นำที่พึ่งพาได้ ประการแรกฝรั่งเศสเป็นประเทศที่ใหญ่ ทั้งพื้นที่และกำลังเศรษฐกิจในยุโรป ประการต่อมา ฝรั่งเศสตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ภายใต้การนำของประธานาธิบดีชาร์ล เดอโกล์ มีความคิดที่จะเป็นอิสระจากการครอบงำของสหรัฐฯ ทั้งทางเศรษฐกิจและการเมือง และแนวคิดนี้ก็ยังสืบเนื่องมาจนปัจจุบัน ถึงขนาดที่ฝรั่งเศสเคยนำเสนอแนวคิดในการจัดตั้งกองกำลังของยุโรปมาแทนที่นาโตที่มีสหรัฐฯเป็นแกนนำ ส่วนในทางเศรษฐกิจและการเมืองฝรั่งเศสกับเยอรมนีในยุคที่นายเฮลมุท โคล เป็นนายกรัฐมนตรีเยอรมนี ก็ได้ร่วมกันจัดตั้งสหภาพยุโรป (EU) ขึ้น อันเป็นผลของการร่วมมือและพัฒนามาอย่างต่อเนื่องระหว่างฝรั่งเศสกับเยอรมนี

แต่สิ่งที่อาจเป็นไปได้ในการพูดคุยที่ไม่เป็นทางการ นั่นคือ การที่ประธานาธิบดีสีจิ้น ผิง จะโน้มน้าวให้ประธานาธิบดีมาครง ได้เปิดการเจรจากับประธานาธิบดีปูติน ในปัญหาความขัดแย้งที่ยูเครน และเรื่องความมั่นคงกับความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะเป็นผลดี ต่อฝรั่งเศสและยุโรปโดยรวม

มีข่าววงในอ้างว่าสีฯพยายามจะชี้ชวนให้มาครงเจรจากับปูตินเพื่อสงบศึกชั่วคราว ในช่วงที่ฝรั่งเศสจะจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกระหว่าง 26 ก.ค.-11 ส.ค. 2024 นี้ เพื่อเป็นบันไดขั้นแรกของการเผชิญหน้าระหว่างยุโรปและรัสเซีย โดยเฉพาะการยุติแนวคิดของมาครงที่จะส่งทหารเข้าไปในยูเครน ซึ่งสร้างความตึงเครียดระหว่างฝรั่งเศสกับรัสเซีย และหากรัสเซีย บุกหนักยูเครนในช่วงนี้ งานโอลิมปิกคงจะกร่อยไปมากทีเดียว

นอกจากนี้การซ้อมรบของนาโตตามแนวชายแดนรัสเซียก็เพิ่มความตึงเครียดมากขึ้น จนถึงขนาดปูตินสั่งซ้อมรบ อาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธวิธีเพื่อเป็นการตอบโต้และป้องปราม

อีก 2 ประเทศที่ลุงสีฯจะไปเยือนก็คือ เซอร์เบีย และ ฮังการี ซึ่งก็มีจุดยืนที่ไม่ต้องการให้สหรัฐฯมาครอบงำยุโรป

ทั้งนี้เริ่มจากเซอร์เบียที่ยังแค้นฝังหุ่นกับกองกำลังนาโตที่นำโดยสหรัฐฯและสหราชอาณาจักรทำการโจมตียูโกสลาเวีย ด้วยเหตุการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ภายในประเทศ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีสโลโบดัน มิโรเซวิซ และผบ.กองกำลังนายราดูวาน คาราสซิค ซึ่งต่อมาถูกจับดำเนินคดีโดยศาลโลก ICC โดยคนแรกฆ่าตัวตายในคุกส่วนคนที่ 2 ติดคุกอยู่

การโจมตีในครั้งนั้นมีผลต่อมาคือ ยูโกสลาเวีย ที่ก่อตั้งมาโดยนายพลตีโต้ ที่รวมประเทศในแถบนั้นเข้ามาด้วยกัน ต้องมีอันแยกออกจากกันอีกครั้ง เป็นโครเอเชีย บอสเนีย-เฮอร์เซโกวินา มอนเตเนโกร และเซอร์เบีย ทำให้อ่อนกำลังลงไม่ได้มีอิทธิพลในแถบแหลมบอลข่านอีกต่อไป

ขณะนี้เซอร์เบีย จึงมีความแนบแน่นกับรัสเซียและต้องการเอาคืนนาโตอยู่ จึงเป็นจุดสำคัญที่สีจิ้น ผิง จะใช้ในการร่วมมือทางเศรษฐกิจ และเป็นพลังต้านแนวคิดโปรสหรัฐฯต้านจีน-รัสเซีย

อีกประเทศ คือ ฮังการี ท่านประธานาธิบดีออร์บาน นั้นจัดได้ว่าเป็นฝ่ายค้านตัวฉกาจในอียู และนาโต เพราะท่านเล็งเห็นความสำคัญของผลประโยชน์แห่งชาติฮังการีเป็นหลัก ตัวอย่าง เช่น การไม่ยอมแซงก์ชัน การซื้อน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากรัสเซีย เพราะมีราคาถูกกว่าการซื้อจากสหรัฐฯ ซึ่งมีราคาสูง อันจะเป็นผลให้เศรษฐกิจของฮังการีต้องพังทลาย การกระทำของฮังการีทำให้หลายประเทศในยุโรปตะวันออกทำตามในบางประเทศ

นอกจากนี้การลงมติในเรื่องสำคัญต่างๆของ EU และ NATO นั้น ต้องมีคะแนนเป็นเอกฉันท์ ซึ่งฮังการีก็เป็นประเทศหนึ่งที่เคยคัดค้านจนมติต้องตกไป

ฮังการีนั้นก็เช่นเดียวกับประเทศในยุโรป อีกหลายประเทศโดยเฉพาะในยุโรปตะวันออก ที่กำลังประสบกับปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ หากได้ทำข้อตกลงความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับจีน ก็มีโอกาสที่จะฟื้นตัวทางเศรษฐกิจได้มากทีเดียว และจะเป็นตัวอย่างให้ประเทศต่างๆที่จะร่วมมือกับจีนมากขึ้น

อนึ่งตัวอย่างของการเผชิญหน้ากับรัสเซีย และทำลายผลประโยชน์แห่งชาติและประชาชน ด้วยการตัดการซื้อก๊าซธรรมชาติราคาถูกจากรัสเซีย ผ่านช่องทางต่างๆโดยเฉพาะท่อก๊าซนอร์ทสตรีม 1 และ 2 คือ เยอรมนีที่ทำให้เศรษฐกิจที่เคยรุ่งเรืองด้วยก๊าซราคาถูก เช่น อุตสาหกรรมยา และอุตสาหกรรมรถยนต์ ต้องประสบปัญหาในการแข่งขัน เพราะมีต้นทุนสูงขึ้นทำให้เศรษฐกิจเยอรมนีที่เคยเฟื่องฟูต้องทรุดตัวลง

ดังนั้นหากยุโรปจะหันมาเจรจากับรัสเซียและร่วมมือกันในทางสร้างสรรค์ เพื่อขจัดการเผชิญหน้า ความสงบจะนำไปสู่ความมั่นคง และการพัฒนาในภูมิภาคนั้น

ทั้งนี้หากมันจะเกิดขึ้นก็เพราะการริเริ่มในการดำเนินการเยือนฝรั่งเศสและอีก 2 ประเทศของประธานาธิบดีสีจิ้น ผิง นั่นเอง

เป้าหมายต่อไปของจีนผู้เขียนคาดว่าคือการเยือนตะวันออกกลางอีกรอบและคาดว่าจะตามมาด้วยการเยือนอิหร่าน เพื่อให้เกิดการเจรจาที่สร้างสรรค์ และเกิดสันติภาพถาวร ซึ่งแตกต่างกับสหรัฐฯและอิสราเอลที่มุ่งแต่ให้เกิดการแตกแยกและสงครามอันจะเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมอาวุธและพลังงานของตนภายใต้ลัทธิล่าอาณานิคมยุคใหม่