ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล
หลายคนไม่ได้ตั้งใจทำชั่ว แต่คนดี ๆ ที่อยู่รอบข้างนั่นเองที่ยกความชั่วมามอบให้แก่เขา
ประชาโชคดีไม่ต้องทำงานเป็นกรรมกรใช้แรงงานหนัก ๆ แบบคนงานทั่วไป แต่กระนั้นเขาก็ต้องทำงานเป็นเด็กฝึกงานอยู่กว่าปี โดยโฟร์แมน(หัวหน้าช่าง)ในแผนกของเขาให้ช่วยคำนวณแบบก่อสร้างและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เนื่องจากเขามีความรู้มากกว่ากรรมกรทั้งหลาย ที่จบแค่ชั้นประถม ไม่ก็ ป.4 หรือ ป.7 เป็นส่วนใหญ่ (บางคนก็ไม่เคยเรียนหนังสือเลยก็มี) ในปีต่อมาเมื่อเขามีอายุได้ 18 ปี ก็ได้รับการบรรจุเป็นผู้ช่วยวิศวกร แต่ความจริงแล้วก็เหมือนว่าเขาต้องทำหน้าที่เป็นวิศวกรนั้นเสียเอง เนื่องจากตัววิศวกรที่บริษัทจ้างไว้ไม่ได้มาทำงานประจำที่ไซต์ก่อสร้างเลยสักวันเดียว ประชาต้องเอาแบบก่อสร้างที่วิศกรคนนั้นเซ็นรับรองไว้ไปตรวจงานกับโฟร์แมน ถ้าโฟร์แมนโอเคเขาก็จะทำรายงานเก็บไว้ พอถึง 15 วันก็เอาไปให้วิศวกรคนนั้นเซ็น แต่ส่วนใหญ่วิศวกรคนนั้นก็จะเซ็นชื่อในใบตรวจงานไว้ล่วงหน้าหลาย ๆ ใบ ในทำนองเซ็นเช็คเปล่าให้คนรับเงินเขียนจำนวนเงินเอาเอง ในที่นี้ก็คือแล้วแต่ว่าประชากับโฟร์แมนจะเขียนรายงานอะไรลงไป บางทีโฟร์แมนและประชาพบปัญหาในการก่อสร้าง จำเป็นจะต้องให้วิศวกรแก้ไขและรับรอง ก็ได้แค่โทรศัพท์ไปหา ซึ่งก็ได้ยินแต่เสียงอือ ๆ เออ ๆ เหมือนว่ารับฟัง แล้วส่วนใหญ่ก็จะตอบว่าเดี๋ยวจัดการให้ แล้วทุกเรื่องก็เงียบไป
ประชาเป็นคนหนุ่มที่หน้าตาดี ยิ่งไม่ต้องออกทำงานกลางแดดกลางฝน เพราะส่วนใหญ่เวลาที่ไปตรวจงานก็ดูแต่เพียงบางจุดหรือตรวจจากเอกสารและรูปถ่ายที่ช่างนำมาส่งในออฟฟิศ ที่ตั้งอยู่ใกล้ไซต์งานและติดแอร์ เขาจึงได้แต่งตัวดี ๆ ก็ยิ่งทำให้เขาดูดียิ่งขึ้น บางครั้งผู้จัดการก็มาขอให้เขาไปช่วยติดต่องานที่อำเภอหรือตัวจังหวัด ตั้งแต่ส่งเอกสารไปจนถึงร่วมประชุมกับข้าราชการ อีกทั้งประชาก็มีความสามารถด้านการพิมพ์ดีด (ต่อมาเมื่อมีคอมพิวเตอร์ใช้ในสำนักงาน เขาก็ใช้โปรแกรมของสำนักงานจำพวกไมโครซอพท์ออฟฟิศได้เก่งอีกด้วย) รวมถึงการเขียนรายงานต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี ทำให้เขาได้รับมอบหมายให้จัดทำเอกสารและรายงานต่าง ๆ ที่ใช้ในงานสำนักงานกับส่วนราชการ ทำให้เขามีความก้าวหน้าในงานเป็นระยะ ๆ
การได้ไปติดต่อกับส่วนราชการ ทำให้เขาได้รู้ว่าข้าราชการทั้งหลายนั้น “ทำงานสบาย ๆ มีรายได้เยอะ ๆ” กันทั้งสิ้น คืองานที่ทำก็ไม่ได้มีความยุ่งยากอะไร เพราะมีขั้นตอนและระเบียบต่าง ๆ วางไว้เป็นที่เรียบร้อย เพียงแต่พอมีชาวบ้านหรือเอกชนไปติดต่อ ก็จะ “แสดง” ปัญหาและความยุ่งยากต่าง ๆ ออกมาให้เยอะ ๆ ที่ง่ายที่สุดก็คือใช้เวลาให้เยอะ ๆ และทำให้ดูเหมือนว่ามีขั้นตอนมากมาย ตั้งแต่การใช้เอกสารที่บางครั้งก็ไม่เข้าใจว่าทำไมต้องมีหลายชิ้นหลายสำเนา เพราะถ้าต้องพิมพ์หรือถ่ายสำเนาเพิ่ม ไม่เพียงแต่ต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นก็ต้องเสียเวลามากขึ้นอีก รวมถึงที่ทำมีว่าเดินเอาเอกสารไปให้คนโน้นคนนี้เซ็น ก็จะทำท่าว่ามีปัญหาตรงโน้นตรงนี้ รวมทั้งที่นินทาว่าเจ้านายคนโน้นคนนี้จะเอาอย่างนั้นอย่างนี้ ดูยุ่งเหยิงไปหมด ต่อมาประชาสังเกตเห็นว่ามีคนของบางบริษัทเอาขนมบ้าง ของกินบ้าง รวมถึงข้าวของบางอย่างที่ใส่ถุงใส่ห่ออย่างมิดชิด(ตลอดจน “ซอง”)ยื่นหรือแอบมอบให้กับเจ้าหน้าที่ เขาก็จะไม่ได้ยินเสียงบ่นหรือเสียงนินทาอะไรจากเจ้าหน้าที่คนนั้น แล้วการเดินเรื่องก็ดูเหมือนจะรวดเร็วกว่าใคร ๆ (ที่ไม่ได้ให้ข้าวของหรือ “ซอง” อะไร) โดยบางครั้งก็ได้เข้าไปคุยในห้องกับ “หัวหน้า” อยู่นานสองนาน และเดินออกมาด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้มแจ่มใส
ยิ่งนานวันประชาก็ยิ่งได้เห็น “ธรรม” อะไรหลายอย่างระหว่างผู้รับเหมากับข้าราชการ เช่น เวลาที่มีการโยกย้ายหรือสับเปลี่ยนตัวหัวหน้าส่วนราชการ ทั้งนายอำเภอ ปลัดโยธาฯ ไปจนถึง ผู้ว่าฯ รองผู้ว่าฯ และโยธาฯจังหวัด ต่อมาก็รวมถึงคณะเทศมนตรี และองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) ไปจนถึงองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) หรือแม้แต่ตำรวจและทหาร เพราะผู้คนเหล่านี้ล้วนมีโยงใยความสัมพันธ์เชื่อมต่อถึงกัน บริษัทรับเหมาก่อสร้างจึงต้องรักษาความสัมพันธ์นั้นไว้ให้ดี เมื่อเวลาที่คนเหล่านั้นเข้ามารับตำแหน่งก็ต้องเข้าไป “เยี่ยมคารวะ” หรือถ้าคนคนนั้นจะก้าวหน้าเติบใหญ่ต่อไป ก็ต้องตามไปเลี้ยงส่ง หรือดูแลต่อไปแม้คน ๆ นั้นจะไปอยู่ในจังหวัดอื่นหรือมีตำแหน่งอื่นแล้ว (เช่น จากผู้ว่าฯ ไปเป็นอธิบดี เป็นต้น) ยิ่งไปกว่านั้นยังจะต้องรู้จักการ “เข้านอกออกใน” กับหลังบ้านของบรรดานาย ๆ ทั้งหลายนั้น บางทีถึงขั้น “ซื้อทัวร์” ให้ท่าน ๆ ได้เที่ยวเป็นประจำ จนถึงเมื่อเวลาที่ลูก ๆ ของท่านไปเรียนต่อเมืองนอก ก็ยังต้องมี “พ็อคเก็ตมันนี่” ติดกระเป๋าแก่ลูก ๆ ของท่านด้วย แต่ที่มีมากจนน่าเบื่อที่สุดก็คือ “การกุศล” ที่นาย ๆ เหล่านั้นจะขอมาทุกเดือน ๆ ละหลายเจ้า ที่มีชื่อเรียกกันเพราะ ๆ ว่า “ภาษีสังคม” แต่คนที่ต้องจ่ายอยู่เป็นประจำล้วนเรียกกันว่า “กาลีสังคม” ไปซะเลย
ประชาทำงานอยู่ในบริษัทก่อสร้างอยู่เกือบ 20 ปี เปลี่ยนที่ทำงานไป 3 บริษัท จนถึง พ.ศ. 2540 ก็เกิดวิกฤติ “ต้มยำกุ้ง” บริษัทหลายแห่งล้มระเนระนาด รวมถึงบริษัทที่เขาทำงานอยู่ในปีนั้นด้วย เขาจึงกลับบ้านมาอยู่กับน้อง ๆ และช่วยกันทำไร่ทำนา เพราะพ่อแม่ก็แก่เฒ่าลงไปมากแล้ว โดยเขานำเงินเก็บออมที่ได้ซื้อรถแทรกเตอร์และรถบรรทุกมือสอง บริการรับจ้างให้แก่ชาวบ้าน โดยคิดค่าบริการแต่เพียงเล็กน้อย ในทำนอง “เอาบุญ” รวมถึงที่ไปร่วมเป็น “สับ” (จากคำว่า Subcontract หรือผู้ร่วมรับเหมา) กับบริษัทก่อสร้างที่ติดต่อมา เพราะเคยรู้จักมักคุ้นกับเขามาก่อน ก็พอมีรายได้พออยู่พอกิน แต่ที่สำคัญคือ “พอมีหน้ามีตา” ทำให้เขาเป็นที่รู้จักกว้างขวาง ทั้งในตำบลของเขาไปจนถึงอำเภอและจังหวัด อันนำมาสู่ความสนใจในทางการเมือง เพียงแต่ว่าเป็นการเมืองในระดับท้องถิ่น
ใน พ.ศ. 2543 ที่กำลังจะมีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา และตามมาด้วยการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรในปี 2544 ประชาถูกทาบทามให้เป็นหัวคะแนนของนักการเมืองระดับชาติกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเขาก็ไม่กล้าปฏิเสธ เพราะนักการเมืองตระกูลนี้ยึดครองตำแหน่งต่าง ๆ ในจังหวัดนี้ไว้ทั้งหมด (ว่ากันว่าตั้งแต่ผู้ใหญ่บ้านไปจนถึงผู้ว่าราชการจังหวัด และยามของหมู่บ้านจัดสรรไปจนถึงผู้บังคับการตำรวจในจังหวัด) รวมถึงที่เขายังหวังผลทางธุรกิจบางอย่าง (ที่ต่อมากลายเป็น “ทุรกิจ”) ให้ราบรื่นต่อไป จึงต้องทำตัว “ตามน้ำ” ยอมเป็นหัวคะแนนแต่โดยดี ซึ่งก็ไม่ได้ยุ่งยากหรือเดือดร้อนลำบากอะไร เพราะคนในจังหวัดนี้ตั้งแต่คนเฒ่าคนแก่ที่หัวหงอกหัวล้าน ลงมาถึงลูกเด็กเล็กแดงที่ผูกแกละผูกเปีย ก็รู้จักชื่อและ “สรรพคุณ” ของนักการเมืองตระกูลนี้เป็นอย่างดี ดังนั้นเพียงแค่เขาเดินไปหาใครและบอกว่าเขามา “ขอเสียง” ให้กับใคร ทุกคนก็พยักหน้าหงึกหงักกันทุกบ้านไป
การเป็นหัวคะแนนในครั้งนั้นได้ทำให้เขาเข้าใจใน “ธรรม” อีกอย่างหนึ่งในสังคมไทย ที่ตอกย้ำว่าไม่ใช่แค่จะมีเงินและทอง อย่างคำพังเพยที่ว่า “มีเงินก็นับว่าเป็นน้อง มีทองก็นับว่าเป็นพี่” จึงจะทำให้เป็นคนที่มีหน้ามีตาและอยู่รอดได้ในสังคมต่าง ๆ เท่านั้น แต่ในจังหวัดของเขานั้นยังจะต้องเป็น “ญาติ” กับนักการเมืองตระกูลนี้ เพราะถ้าไม่เป็นสมัครพรรคพวกกับคนพวกนี้แล้ว คนคนนั้นก็ไม่ต่างอะไรกับ “ผีหัวขาด” อย่างที่โบราณบอกว่า “ไร้ญาติขาดอีโต้” ไปอยู่ที่ไหน ๆ ก็ลำบาก เหมือนคนไม่มีมีดอีโต้ไว้ทำมาหากินกระนั้น
ประชารู้ว่า “การทำมาหากิน” ตามแบบของเขานั้นไม่ยาก ยิ่งมี “อิทธิบารมี” ของคนใหญ่คนโตมาค้ำจุนส่งเสริมเพิ่มเข้าไปอีก ก็ยิ่งสะดวกราบรื่น เหมือนดั่ง “นรกติดจรวด” กระนั้น