นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี โพสต์เฟซบุ๊ก เศรษฐา ทวีสิน – Srettha Thavisin ถึงการเดินทางลงพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด เมื่อวันที่ 5-6 พ.ค. 2567 ที่ผ่านมา
โดยระบุว่า "ตอนผมไปลงพื้นที่ จ.ร้อยเอ็ด พี่น้องตัวแทนจากสหกรณ์การเกษตรเมืองร้อยเอ็ด เอาข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาฝากมาให้ผมลองชิม วันนี้มื้อกลางวันที่ทำเนียบ ผมเลยให้เอาข้าวมาหุง ทุกคนบนตึกไทยคู่ฟ้าจะได้ชิมพร้อมกันด้วย ซึ่งต้องบอกว่า ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาคุณภาพดีไม่มีตกครับ กลิ่นหอม เม็ดเรียงสวย ที่สำคัญคือรสชาติดี สมเป็นสินค้าขึ้นชื่อของจังหวัด ทานพร้อมไก่ย่างเขาสวนกวาง จาก จ.ขอนแก่น ลงตัวมากครับ"
"ตอนนี้ผมได้ให้ส่วนเกี่ยวข้องทำเรื่องการพัฒนา Packaging และให้ช่วยกันประชาสัมพันธ์ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลานี้ทั้งในไทย และต่างประเทศ พร้อมหาตลาดใหม่ ๆ ด้วย ข้าวดีขนาดนี้ รายได้ของพี่น้องเกษตรกรก็ต้องดีด้วยครับ"
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 6 พ.ค. 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และคณะ ได้ลงพื้นที่อำเภอหนองพอก จังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งมีตัวแทนจากสหกรณ์การเกษตรของจังหวัดร้อยเอ็ดจำนวน 3 แห่ง นำข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ มามอบให้แก่นายกรัฐมนตรี นำโดย คุณแม่บุญเกิด ภานนท์ ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรเกษตรวิสัย ซึ่งนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ต้องส่งเสริมให้มีการพัฒนา Packaging ให้สวย ให้ดึงดูด และประชาสัมพันธ์ข้าวหอมมะลิชั้นยอดนี้ทั้งคุณภาพ และความอร่อย ยกระดับราคาเพื่อเพิ่มรายได้ให้สมาชิกสหกรณ์และชาวนา ซึ่งนายกรัฐมนตรียังได้ให้สัมภาษณ์ถึงการลงพื้นที่ จ.ร้อยเอ็ด ครั้งนี้ ว่าการเดินทางลงพื้นในครั้งนี้ ได้ดูปัญหาในทุกมิติ ทั้งเรื่องปัญหาภัยแล้ง ปัญหาน้ำท่วม หนองน้ำและอ่างเก็บน้ำ พยายามแก้ปัญหาในพื้นที่ รวมถึงปัญหาถนนที่ต้องขยาย ให้การจราจรและการคมนาคมเป็นไปได้ด้วยดี โดยช่วงหนึ่งผู้สื่อข่าวถามว่าการลงพื้นที่ จ.ร้อยเอ็ด จะพัฒนาทุ่งกุลาร้องไห้และส่งเสริมข้าวหอมมะลิทุ่งกุลา ให้ติดอันดับโลกมากขึ้นหรือไม่ นายกฯ กล่าว พร้อมกับยกถุงข้าวโชว์ ว่า ชาวบ้านนำข้าวมาให้ เป็นข้าวหอมมะลิ ที่จะส่งเสริมเป็นผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น เมื่อถามถึงความต้องการข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ในต่างประเทศ เป็นอย่างไร นายกฯ ตอบว่า สูงมาก ข้าวหอมมะลิเราทราบกันดีว่าผลผลิตต่อไร่ต่ำกว่าข้าวพันธุ์ข้าวธรรมดา จึงต้องมีความพยายามยกระดับให้สูงขึ้น โดยในแง่ของต้นทุนการผลิต ถ้าเราสามารถทำให้ผลผลิตต่อไร่ออกมาเป็น 650 กิโลกรัมต่อไร่ ราคาข้าวก็จะสูงขึ้น ซึ่งเรื่องการบริหารจัดการน้ำก็เป็นเรื่องสำคัญ แต่มันต้องใช้เวลา ถึงต้องมาดูด้วยตาตนเอง และเชิญรัฐมนตรีหลายท่านมาด้วย
โดยจังหวัดร้อยเอ็ด ถือเป็นแหล่งผลิตข้าวหอมมะลิที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ ข้าวหอมมะลิมีกลิ่นหอมที่เป็นเอกลักษณ์ และได้ขึ้นทะเบียนเครื่องบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) เป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้จังหวัดร้อยเอ็ด มีลักษณะ หอม ยาว ขาวนุ่ม เป็นลักษณะโดดเด่น ซึ่งลักษณะสภาพภูมิประเทศเป็นที่ราบสูงที่มีทุ่งกุลาร้องไห้ ความอุดมสมบูรณ์ของดินต่ำ ดินเค็ม สภาพอากาศแห้งแล้ง แต่กลับทำให้ข้าวหอมมะลิในแหล่งนี้หลั่งสารหอบ 2AP ออกมาได้มากกว่าข้าวหอมมะลิที่ปลูกจากแหล่งปลูกอื่น ๆ ทำให้ข้าวหอมมะลิแต่ละเมล็ด ก่อเกิดจากหยาดเหงื่อแห่งความอดทน จิตใจที่มุ่งมั่นของเกษตรกร ซึ่งข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ ได้รับการการันตีว่า เป็นข้าวหอมมะลิที่มีคุณภาพระดับโลก