เมื่อเวลา 14.30 น. วันที่ 8 พ.ค.  2567 ที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เรียกประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข พล.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ตัวแทนฝ่ายความมั่นคง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

 

โดยนายกฯ กล่าวมอบนโยบายว่า ยาเสพติดเป็นเรื่องที่ตนได้ยินมาทุกครั้งในการไปลงพื้นที่ ชาวบ้านประชาชนในหลายชุมชนรู้สึกไม่ปลอดภัย เหตุหนึ่งก็เกิดมาจากการที่ยังเห็นคนที่ติดยาหรือกำลังบำบัดเดินอยู่ในชุมชน ซ้ำร้ายคนติดยาเหล่านี้ก็หยุดยาเอง ทำให้การบำบัดไม่สำเร็จ และทำให้พวกเขากลับมาอยู่ในวงจรยาเสพติดอีกครั้ง วันนี้ตนขอให้ทุกหน่วยงาน ช่วยกันทำงานให้หนักยิ่งขึ้นไปอีก สมกับที่เราประกาศให้ปัญหายาเสพติดเป็นวาระแห่งชาติทำให้ยาเสพติดหมดไป จัดการผู้ค้าทั้งรายใหญ่รายย่อยให้ราบคาบ และบำบัดลูกหลานที่ติดยาให้สำเร็จไปด้วยกัน 

 

นายกฯ กล่าวว่า เรื่องการปราบปราม ขอแก้เป็น แม้เราจะปราบปราม ทำงานอย่างหนัก แต่เหมือนว่าปริมาณยาเสพติดยังมีเข้ามาเรื่อยๆ ส่วนหนึ่งคงมาจากการที่เรายังไม่สามารถจัดการรายใหญ่ รายย่อยได้ดีพอ ตนขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงยุติธรรม สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) และกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (ตำรวจ ปส.) ทำงานร่วมกันให้ดียิ่งขึ้น เพื่อยึดทรัพย์ให้มากขึ้นทั้งรายใหญ่ รายย่อย

 

“เรื่องที่สอง เรื่องปัญหาความไม่ชัดเจนของกฏหมายเรื่องปริมาณยาบ้า และความผิด ทำให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานมีหลักเกณฑ์ไม่ชัดเจนในการจับผู้เสพผู้ค้า ผมขอให้กระทรวงสาธารณสุขแก้ไขกฏกระทรวง กำหนดปริมาณที่ให้สันนิษฐานว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ โดยปรับลดให้เหลือ 1 เม็ด แทนที่จะเขียนว่าปริมาณเล็กน้อย เพื่อเป็นหลักการให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถทำตามได้ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย และขอให้สื่อสารให้ชัดเจน ย้ำนะครับ สื่อสารให้ชัดเจนว่ายาเสพติดจะ 1 เม็ด 2 เม็ด ก็ผิด และต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าเป็นผู้เสพ ไม่งั้นจะถูกแจ้งข้อหาครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ในขณะเดียวกันทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็ต้องสื่อสารกับผู้ปฏิบัติงานให้ชัดเจนด้วยว่าหลักในการจับและสันนิษฐานคือไม่ว่าจะมีกี่เม็ด ก็ผิดและพนักงานสอบสวนต้องทำงานให้หนักขึ้น เพื่อดูเจตนาอีกครั้งว่าเป็นผู้เสพหรือผู้ค้า” นายกฯ กล่าว

 

นายกฯ กล่าวอีกว่า  เรื่องการบำบัด ขอให้กระทรวงสาธารณสุข ยกระดับประสิทธิภาพงานบำบัดยาเสพติด ในศูนย์คัดกรองและโรงพยาบาลให้ดีขึ้น ให้เหมาะสมกับปริมาณผู้ป่วย และขอมอบหมายให้กระทรวงยุติธรรมทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข ยกระดับประสิทธิภาพงานบำบัดยาเสพติดในระบบต้องโทษ เช่น ในเรือนจำ ในระบบคุมประพฤติ และขอให้ทั้งสาธารณสุขและตำรวจทำงานร่วมกันในการจับผู้ที่หลบหนีการบำบัด หรือบำบัดไม่ผ่านมาดำเนินคดีด้วย อย่าปล่อยให้คนเหล่านี้กลับเข้าไปอยู่ในวงจรยาเสพติดอีกครั้ง

 

นายกฯ กล่าวว่า เรื่องสุดท้ายที่เป็นนโยบายหลักของรัฐบาล คือเรื่องกัญชา ขอมอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขแก้ไขประกาศกระทรวง โดยดึงกัญชากลับไปเป็นยาเสพติด ประเภท 5 และเร่งออกกฎกระทรวง อนุญาตให้ใช้เพื่อวัตถุประสงค์ด้านการแพทย์และสุขภาพเท่านั้น โดยกำหนดไทม์ไลน์การดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในสิ้นปีนี้

 

นายเศรษฐา กล่าวว่า สิ่งที่พูดไปและยังไม่ได้มีการพูดคุยอย่างชัดเจนคือเรื่องการใช้ค่ายทหารบำบัดผู้ติดยาเสพติด จึงของฝาก พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขานุการ รมว.กลาโหม พูดคุยกับกระทรวงสาธารณสุขและฝ่ายปกครองว่าจะทำอย่างไร โดยวิธีการลองสักค่ายหนึ่ง ซึ่งยังไม่ต้องทำทั่วทุกจังหวัดเพราะไม่รู้ว่าจะสำเร็จหรือเปล่า และให้นำงบการทำบำบัดเข้าไปดูแลด้วย จากนั้นประมาณ 3-6 เดือน ดูว่าสามารถที่จะนำไปเผยแพร่ในค่ายจังหวัดอื่นๆได้หรือไม่ ขอเน้นย้ำปัญหาเรื่องยาเสพติดถือเป็นปัญหาที่สำคัญที่รัฐบาลต้องเร่งเพราะถือเป็นบ่อนทำลายอนาคตของชาติ ซึ่งเยาวชนติดกันเต็มไปหมด ขอให้ทุกท่านทำงานให้หนักขึ้น และมีการปราบปรามยึดทรัพย์และบำบัดให้ทั่วถึง ขอให้มีความชัดเจนและมีความคืบหน้าภายใน 90 วัน 

 

ด้านนายอนุทิน กล่าวช่วงหนึ่งในที่ประชุมว่า ช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาตามนโยบายของนายกฯพวกเราทุกคนได้ร่วมมือกันบูรณาการไล่จับและปราบปราม ซึ่งจับได้จำนวนมากแต่ก็ไม่เคยเห็นจับตัวใหญ่ได้ ขณะเดียวกันหลังๆนี้ไม่ใช่มีเฉพาะชายแดนแต่เข้ามาในเมืองแล้ว ซึ่งจากการคุยกับคณะทำงานถ้าเป็นไปได้อยากให้มีเครื่องตรวจยาเสพติดที่ขนมาในรถตามด่านต่างๆเพิ่มขึ้น  

 

นายกฯกล่าวในตอนท้ายว่า วันนี้การจับกุมยาเสพติดมากขึ้น 4-5 เท่า แต่เรื่องเศร้าคือราคายาบ้ายังไม่ขึ้นเสียที ฉะนั้นคงต้องทำงานกันให้หนักขึ้นโดยใช้ทุกวิถีทาง