วันที่ 8 พ.ค.67 เพจเฟซบุ๊ก กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข โพสต์ข้อความระบุว่า...
พายุฤดูร้อน (Thunderstorms) ในประเทศไทยมักเกิดในช่วงเดือนมีนาคมถึงต้นเดือนพฤษภาคม หรือในช่วงก่อนเริ่มต้นฤดูฝน เป็นสาเหตุทำให้เกิดพายุฟ้าคะนอง ลมพัดแรง ฟ้าแลบ ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า หรือ มีลูกเห็บตกในบางพื้นที่ อาจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินได้ โดยพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เสี่ยงต่อการเกิดพายุฤดูร้อนมากที่สุด ขณะที่ภาคกลาง ภาคตะวันออกและภาคใต้มีโอกาสเกิดพายุฤดูร้อนได้เช่นเดียวกันแต่ไม่บ่อยนัก แต่เราก็ต้องเตรียมตัวรับมือ ด้วย 7 วิธีดังนี้
1. ❝ติดตามข้อมูลสภาพอากาศและแจ้งเตือนพายุฤดูร้อน❞ จากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณตอนบนของประเทศไทย
2. ❝ตรวจสอบความแข็งแรงของโครงสร้างอาคารบ้านเรือน❞ ให้อยู่ในสภาพที่แข็งแรง หากมีการชำรุดให้ซ่อมแซมให้เรียบร้อย
3. ❝หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง❞ ใต้ต้นไม้ใหญ่ ใกล้สิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ในขณะเกิดพายุฝนฟ้าคะนอง
4. ❝หลบในบ้าน หรือ อาคารที่มีความแข็งแรง❞ ในกรณีที่หาที่หลบไม่ได้ควรทำตัวให้ต่ำสุด ด้วยการนั่งยองเท้าทั้งสองข้างชิดกัน หรือเขย่งอยู่บนปลายเท้า เพื่อให้มีผิวสัมผัสกับพื้นดินน้อยที่สุด ไม่ควรนอนราบกับพื้น เนื่องจากพื้นเปียกเป็นสื่อนำไฟฟ้า
5. ❝เพิ่มความระมัดระวัง ในการเดินทาง❞ ไปยังบริเวณที่มีพายุฝนฟ้าคะนอง อาจเกิดอันตรายจากลมกระโชกแรงและฟ้าผ่าได้
6. ❝งดใช้อุปกรณ์ไฟฟ้า❞ โทรศัพท์ และออกห่างจากวัตถุที่เป็นสื่อไฟฟ้าทุกชนิด เช่น ลวด โลหะ ท่อน้ำ แนวรั้วบ้าน รถแทรกเตอร์ จักรยานยนต์ เป็นต้น
7. ❝ดูแลสุขภาพตนเองและครอบครัวให้แข็งแรงอยู่เสมอ❞ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง หรือ กลุ่มที่มีโรคประจำตัว
ข้อมูลโดย : กองอนามัยฉุกเฉิน กรมอนามัย