สสส.ชู“Active Living for All”ปลุกโลกสร้างสุขภาพดี “รองนายกฯณรงค์” เปิดประชุมนานาชาติกิจกรรมทางกายฯ “ISPAH 2016 Congress” สสส.เจ้าภาพจัดประชุมชาติแรกในเอเชีย ชู “Active Living for All” ต่างชาติกว่า 800 คน จาก 80 ประเทศทั่วโลกตบเท้าร่วม เผยไทยเสียค่ารักษาโรคและสูญเสียโอกาสจากภาวะเนือยนิ่ง ปีละ 2.4 พันล้านบาท WHO ยันกิจกรรมทางกาย ลดความเสี่ยงโรค NCDsสธ. ตั้งเป้า 5 ปี คนไทยมีกิจกรรมทางกายเพียงพอทุกช่วงวัย เร่งชงยุทธศาสตร์ชาติฉบับแรกของไทย เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมนานาชาติว่าด้วยกิจกรรมทางกายและสุขภาพ ครั้งที่ 6 (The 6th International Congress on Physical Activity and Health 2016) หรือ ISPAH 2016 Congress ซึ่ง สสส. ได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ในระหว่างวันที่ 16-19พฤศจิกายนนี้ โดยมีกระทรวงสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร เป็นเจ้าภาพร่วม และองค์การอนามัยโลก เป็นผู้สนับสนุนสำคัญ ภายในงานมีนักวิชาการ นักวิจัย ภาครัฐ และองค์กร เข้าร่วมประชุมกว่า 800 คน จาก 80 ประเทศ โดยที่ประชุมได้ร่วมกันยืนสงบนิ่งเพื่อแสดงความอาลัยแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเป็นเวลา 99วินาทีก่อนการประชุม                 โดย พล.ร.อ.ณรงค์ กล่าวในพิธีเปิดการประชุมว่า ประเทศไทยโดย สสส. ได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมการประชุม ISPAH 2016 Congress ซึ่งถูกเวียนมาจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในเอเชีย ภายใต้หัวข้อ “Active Living for All : Active People, Active Place, Active Policy” หรือการสร้างเสริมกิจกรรมทางกายเพื่อทุกคน : การมีกิจกรรมทางกายระดับบุคคลสถานที่ที่เอื้อต่อกิจกรรมทางกาย และนโยบายที่สนับสนุนกิจกรรมทางกาย  นับเป็นก้าวสำคัญของการส่งเสริมกิจกรรมทางกายสำหรับประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะการพัฒนางานวิจัย ข้อมูลวิชาการ เพื่อขับเคลื่อนสังคมและนโยบายได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม ภายใต้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ซึ่งหนึ่งในเป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals) หรือ SDGs คือ มุ่งส่งเสริมความเป็นอยู่และสุขภาพที่ดีของประชากรในทุกช่วงวัย โดยลดอัตราการตายจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NonCommunicable Diseases หรือ NCDs) ให้ได้ 1 ใน 3 ภายในปี 2573                 “WHO ได้รายงานว่า การขาดกิจกรรมทางกายที่เพียงพอเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตสูงถึง ร้อยละ 6 ของประชากรทั่วโลก และเป็นปัจจัยเสี่ยงหลักของการเกิดโรคไม่ติดต่อต่อเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ โรคมะเร็ง และโรคเบาหวาน สำหรับประเทศไทยพบจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรค NCDs เพิ่มขึ้นจาก 314,340 คน ในปี 2552 เป็น 349,090 คน ในปี2556 หรือกล่าวได้ว่ามีผู้เสียชีวิตจากโรค NCDs เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.1 ภายในระยะเวลา 4 ปี โดยข้อมูลวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Lancet พบว่าทั่วโลกสูญเสียค่ารักษาร่วมกับค่าเสียโอกาสเมื่อป่วยด้วยโรค NCDs เฉพาะส่วนที่มีผลมาจากการขาดกิจกรรมทางกาย ราว 67 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี เฉพาะประเทศไทย ราว 2,400 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้ กระทรวงสาธารณสุข อยู่ระหว่างการจัดทำแผนยุทธศาสตร์กิจกรรมทางกายแห่งชาติฉบับแรกของไทยมีเป้าหมายขับเคลื่อนให้เห็นผลจริงภายในอีก 5 ปีข้างหน้า โดยมีแผนดำเนินการในทุกช่วงวัย สนับสนุนการดำเนินงานแบบมีส่วนร่วมของประชาชนในสถานที่ต่างๆ เช่น ชุมชน โรงเรียน สถานประกอบการ” รองนายกรัฐมนตรี กล่าว                ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า การประชุมฯ ครั้งนี้ จะเป็นเวทีวิชาการ การวิจัยที่จะได้มาร่วมแลกเปลี่ยน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาเป็นนโยบายหรือสร้างการตื่นตัวให้กับสังคม เนื่องจากปัจจุบันทั่วโลกประสบปัญหาและความท้าทายด้านสาธารณสุขที่เปลี่ยนไป จากอดีตที่เผชิญการเจ็บป่วยด้วยโรคติดเชื้อต่างๆ แต่ปัจจุบันเป็นโรคที่เกิดจากพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน อาทิ การกินอาหารรสหวาน มัน เค็ม การขาดการออกกำลังกายในสัดส่วนที่เหมาะสม เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้สถิติของผู้ป่วยด้วยโรค NCDs เพิ่มสูงขึ้น ทำให้แต่ละประเทศต้องแบกรับค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลสูงขึ้นด้วย นอกจากนี้การประชุมฯ จะช่วยผลักดันนโยบายระดับประเทศผ่านกลไกการขับเคลื่อนในระดับโลกที่ทุกประเทศมีส่วนในการออกแบบร่วมกันหรือเรียกว่า Bangkok Declaration ที่จะเป็นผลลัพธ์สำคัญของการประชุมครั้งนี้ เพื่อเสนอต่อองค์การอนามัยโลก พิจารณาเป็นกลไกประสานความร่วมมือกับประเทศสมาชิกผ่านการประชุมสมัชชาองค์การอนามัยโลกปีหน้า เพื่อส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกายของทุกคน               “การไม่ขยับเขยื้อนร่างกาย (Physical Inactivity) อาทิ นั่งทำงานตลอดเวลา มีความเสี่ยงทำให้เกิดโรคได้เท่ากับหรือมากกว่าการสูบบุหรี่ด้วย ถึงขั้นในต่างประเทศมีคำกล่าว Sitting is the new smoking ดังนั้นการส่งเสริมให้ประชาชนมีกิจกรรมทางกายในแต่ละวันให้เพียงพอ ต้องส่งเสริมให้เกิดการตื่นตัว ให้ทุกคนมีพฤติกรรมทางกายที่เพียงพอ และจำเป็นต้องอาศัยการจัดปัจจัยสภาพแวดล้อม การสนับสนุนเชิงนโยบาย หรือระบบสนับสนุน โดยคำนึงถึงปัจจัยทางสังคมกำหนดสุขภาพ รวมไปถึงการจัดระบบการศึกษา การคมนาคมขนส่ง การจัดพื้นที่ทางกายภาพเพื่อสร้างความสะดวกให้กับประชาชนในการเพิ่มกิจกรรมทางกายในชีวิตประจำวัน เช่น ทางเท้าหรือเส้นทางที่เอื้อต่อการเดิน การเพิ่มพื้นที่สวนสาธารณะ ดังนั้นต้องอาศัยการทำงานที่บูรณาการระหว่างกระทรวงต่างๆ ตลอดจนภาคเอกชนและประชาสังคมที่จะเข้ามามีบทบาทสนับสนุน” ดร.สุปรีดา กล่าว