วันที่ 7 พ.ค.67 ที่ห้องประชุม 1 ชั้น 6 อาคารสำนักการโยธา ศาลาว่าการ กทม. ดินแดง นายณรงค์ เรืองศรี รองปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมร่วมกับหน่วยงานการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) การประปานครหลวง (กปน.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและรับผิดชอบเกี่ยวกับฝาท่อในพื้นที่ กทม.ทั้งหมด เพื่อหารือมาตรการความปลอดภัย จากกรณีประชาชนตกท่อเสียชีวิตบริเวณซอยลาดพร้าว 49 เขตวังทองหลางว่า โดยสรุป ด้านกายภาพ กฟน.จะออกแบบฝาท่อใหม่โดยใช้วัสดุที่ไม่ใช่เหล็ก (ป้องกันการนำไปขาย) แต่สามารถรับน้ำหนัก มีความแข็งแรงปลอดภัย พร้อมนำกล้องระบบ AI มาติดตามความปลอดภัย ผลกระทบการจราจร และในจุดที่มีการก่อสร้างของ กฟน. เช่น ถนนพระราม 3 เป็นต้น ด้านการร้องเรียน กฟน.จะรีบดำเนินการแก้ไขตามที่มีผู้แจ้งผ่านระบบทราฟฟี่ ฟองดูว์ ภายใน 24 ชั่วโมง

 

ด้านการดำเนินงานก่อสร้าง มีมติให้ทบทวนกระบวนการก่อสร้างทั้งหมดตั้งแต่ก่อนก่อสร้าง ระหว่างการก่อสร้าง และหลังการก่อสร้าง เพื่อพิจารณาถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัยทั้งหมด ด้านการเยียวยาช่วยเหลือ ทั้ง กฟน.และหน่วยงานอื่น ๆ มีมาตรการเยียวยาช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบรองรับไว้แล้ว

 

“ในเรื่องความปลอดภัยของประชาชน กทม.ให้ความสำคัญสูงสุด โดยร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ทั้ง 50 เขต โดยประชาชนสามารถแจ้งเรื่องร้องเรียนผ่านทราฟฟี่ ฟองดูว์ได้ทันที กทม.จะประสานต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อติดตามแก้ไขปัญหา”

 

รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า จากกรณีเหตุเสียชีวิตที่เกิดขึ้น ก่อนหน้านี้ กทม.ได้ประสานไปยัง กฟน.แล้ว ตามจุดที่มีการร้องเรียนมา และ กฟน.ได้ดำเนินการแก้ไข แต่ประเด็นคือ การสื่อสารบางช่วงอาจต้องมีการสื่อสารเพิ่มเติม เช่น การรายงานผลกลับไปยังหน่วยงานที่เป็นเจ้าของเรื่องที่ดูแลพื้นที่อยู่ เพื่อติดตามว่าได้ดำเนินการแก้ไขเรียบร้อยสมบูรณ์หรือไม่ ซึ่งจะนำกรณีการตรวจสอบการแก้ไขนี้ ไปทบทวนปรับปรุงเพิ่มเติมต่อไป

 

โดยภาพรวม กทม.มีระบบท่อระบายน้ำทั้งหมดยาวประมาณ 6,800 กิโลเมตร มีบ่อฝาเปิด-ปิดอย่างน้อย 500,000 บ่อ ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ทั้งของสำนักการระบายน้ำ และสำนักงานเขต ดูแลความพร้อมของฝาบ่อ เช่น ฝาหาย ฝาชำรุด เมื่อพบเห็นจะมีการแจ้งซ่อมดำเนินการตามช่องทางต่าง ๆ เช่น ศูนย์วิทยุ กทม. รวมถึง เมื่อประชาชนพบเห็นก็แจ้งผ่านทราฟฟี่ ฟองดูว์ เช่นกัน ซึ่งจะมีการแก้ไขภายใน 24 ชั่วโมง

 

ส่วนกรณี รถจักรยานยนต์เสียหลักพลิกคว่ำพลัดตกท่อในอุโมงค์แยกมไหสวรรย์ เมื่อวันที่ 5 พ.ค. นายณรงค์ รับว่าเป็นความรับผิดชอบของ กทม. เนื่องจากมีฝาท่อหายไป (ถูกโขมย) ทำให้เกิดช่องว่างบางจุด ซึ่งปกติมีการตรวจสอบตามรอบ ตามระยะกำหนด แต่ก็มีช่องว่างในส่วนนี้เช่นกัน เนื่องจากไม่สามารถตรวจสอบได้ตลอดเวลา ตามปกติแล้ว อุโมงค์ต่าง ๆ ห้ามรถจักรยานยนต์สัญจรผ่าน แต่อย่างไรก็ตาม กทม.จะนำกรณีนี้ไปปรับปรุงแก้ไขร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพต่อไป เช่น ออกแบบฝาท่อเพื่อป้องกันโขมยนำไปขาย หรือออกแบบระบบล็อกฝา และเพิ่มกล้อง AI เป็นต้น ซึ่งหน่วยงานอื่น ๆ ก็พบปัญหาเดียวกัน

 

“การประชุมวันนี้ เน้นหารือเพิ่มมาตรการการจัดการใหม่ ๆ ประเด็นคือ ฝาท่อต้องไม่หาย ต้องแข็งแรง ปลอดภัย และจุดต่าง ๆ ต้องแจ้งเตือน ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบว่ามีบ่อพักควรหลีกเลี่ยง เป็นต้น รวมถึง เจ้าหน้าที่หรือผู้บริหารโครงการต้องติดตามแก้ไขปัญหา เมื่อเกิดปัญหาต้องแก้ไขโดยเร็ว ไม่เกิน 24 ชั่วโมงหรือเร็วกว่านั้นยิ่งดี” นายณรงค์ กล่าว

 

นายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา (สนย.) กล่าวว่า ในส่วนการก่อสร้างท่อร้อยสายของ กฟน. ปัจจุบันยังดำเนินการอยู่ เช่น ถนนพระราม 3 พระราม 4 เพชรบุรีตัดใหม่ สาทร เป็นต้น สนย.มีหน้าที่ตรวจสอบติดตามการก่อสร้างให้เป็นไปตามระเบียบคู่มือที่กำหนด