หอการค้าไทยรับไม่ไหวขึ้นค่าแรง 400 บาท ทั่วประเทศ นัดรวมพลเปิดโต๊ะแถลงคัดค้าน ชี้เป็นดาบสองคม หวั่นรายย่อยเจ๊ง อยู่ไม่ได้ ผลเสียมากกว่าผลดี กระทบหลายจังหวัดที่ไม่มีความพร้อม
เมื่อวันที่ 6 พ.ค.67 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน กล่าวว่า มั่นใจการประกาศขึ้นค่าแรง 400 บาททั่วประเทศในวันที่ 1 ต.ค.67 จะต้องทำให้ได้ เพราะจากการหารือกับนายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน และคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำบางท่าน มีความเห็นตรงกันว่า ถึงเวลาที่จะต้องปรับค่าแรงของประเทศไทยอีกครั้ง ขณะเดียวกัน ตนเห็นว่าจะต้องควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่ได้ปรับขึ้นราคาล่วงหน้าไปบ้างแล้ว โดยจะไปหารือกับ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ให้ช่วยดูราคาสินค้า เพราะไม่เช่นนั้น การปรับขึ้นค่าแรงครั้งนี้จะไม่เกิดประโยชน์
โดยการประกาศขึ้นค่าแรงครั้งนี้ ขอให้กระทรวงพาณิชย์ช่วยควบคุมราคาสินค้า ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ไม่เช่นนั้นการขึ้นค่าแรงที่ 400 บาท จะไม่ได้ประโยชน์ เพราะราคาสินค้าอุปโภคบริโภคลอยตัวขึ้น ตรงนี้จะเป็นสิ่งที่น่ากังวลมากกว่า" นายพิพัฒน์ กล่าว
ส่วนข้อห่วงใยต่อกรณีที่ผู้ประกอบการจะย้ายฐานการผลิต หากมีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนั้น ตั้งแต่ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีในครั้งแรก ได้มีการหารือกับผู้ประกอบการในหลายภาคส่วน ซึ่งผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดใหญ่จะมีค่าแรงขั้นต่ำที่เกินกว่า 400 บาทต่อวันไปแล้ว แต่จะมีความกังวลในส่วนของ SME ที่อาจจะมีผลกระทบพอสมควร โดยวันที่ 13 พ.ค.นี้ จะมีการหารือกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.), สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย และผู้ประกอบการอีกหลายสาขาอาชีพว่าต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือในด้านใดบ้าง
ด้าน นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการ คนที่ 1 หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ขอคัดค้านการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเท่ากันทั่วประเทศ 400 บาท อย่างแน่นอน เนื่องจากมองว่าเป็นดาบสองคมของภาคธุรกิจ บางธุรกิจสามารถปรับขึ้นได้ แต่บางธุรกิจอาจได้รับผลกระทบในเชิงผลเสียมากกว่าผลดี และจะเกิดปัญหากับหลายจังหวัด เพราะยังไม่มีความพร้อมเช่น แพร่ น่าน แทบไม่มีโรงงานอุตสาหกรรม โรงแรมที่พักมีน้อย หากขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาท เชื่อว่าจะเกิดปัญหา ทั้งนี้มองว่านโยบายการปรับขึ้นค่าแรงควรขึ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความเหมาะสม และมีแรงงานคนไทยในสัดส่วนที่มากกว่าแรงงานต่างชาติ ไม่เช่นนั้นเงินจะไหลออกนอกประเทศ ขณะที่ผู้ประกอบการคนไทยแบกรับภาระต้นทุนสูงขึ้น เป็นเรื่องใหญ่ที่จะขอหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานอีกครั้ง
ในวันที่ 7 พ.ค.นี้ ทางหอการค้าทั่วประเทศ และสมาคมการค้าที่ใช้แรงงานเข้มข้น จะร่วมแถลงข่าวคัดค้านนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ โดยมี นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการ คนที่ 1 หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และ นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เป็นผู้แถลง
นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย กล่าวว่า สมาพันธ์ฯ เห็นด้วยกับการขึ้นค่าแรง แต่ไม่เห็นด้วยกับการขึ้นค่าแรง 400 บาท ทั้งประเทศ อยากตั้งข้อสังเกตกับการขึ้นค่าแรง ที่ผ่านมามีผลสำรวจหรืองานวิจัยหรือไม่ว่า แรงงานขั้นต่ำปัจจุบันมีจำนวนเท่าไร และอยู่ที่ไหนบ้าง จากข้อมูลในมาตรา 33 อยู่ที่ 11-12 ล้านคน และมาตรา 39 และมาตรา 40 อยู่ที่ 24.5 ล้านคน และแรงงานต่างด้าวจำนวนหลายล้านคน จึงอยากจะชี้ประเด็นให้เห็นว่า การขึ้นค่าแรง 400 บาท ใครได้ประโยชน์มากที่สุด โดยส่วนแรกกระทรวงแรงงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรที่จะรับฟังความคิดเห็นว่าจริงๆ แล้ว การขึ้นค่าแรง มีกลุ่มเปราะบางที่ได้รับค่าแรงที่ไม่เป็นธรรม หรือที่ต่ำกว่าความเป็นจริงมีสัดส่วนเท่าไร ดังนั้นต้องมีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน ที่เป็นคนไทยและได้ค่าแรงต่ำกว่าในปัจจุบันอยู่ตรงไหนบ้าง