วช.ผนึกกำลังศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ มูลนิธิมดชนะภัย และทุกภาคส่วน จัดกิจกรรม ““1 ทศวรรษแผ่นดินไหวแม่ลาว” หวังร่วมกันสร้างความปลอดภัยและรับมือกับเหตุภัยพิบัติในอนาคต รองพ่อเมืองเชียงรายชี้ต้องมีวิทยาศาสตร์สมัยใหม่และนวัตกรรมที่คาดการณ์ล่วงหน้าเพื่อเตรียมรับมือได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะที่ผอ.ศูนย์วิจัยฯคาดรอยเลื่อนมีพลังเขย่าธรณีพิโรธที่สร้างความเสียหายได้มากกว่าแม่ลาว 10 เท่า
นายประเสริฐ จิตต์พลีชีพ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานในพิธีเปิดงานการจัดกิจกรรม “1 ทศวรรษแผ่นดินไหวแม่ลาว” ณ บ้านสิงหไคล มูลนิธิมดชนะภัย ซึ่งจัดโดยศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับมูลนิธิมดชนะภัยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อรำลึกเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2557 ครบรอบ 10 ปี ซึ่งภาควิชาการได้ผนึกกำลังกับทุกภาคส่วนสำรวจการเปลี่ยนแปลงหลังเกิดภัยพิบัติและร่วมกันมองไปข้างหน้าเพื่อให้มีความปลอดภัยและพร้อมรับมือกับการเกิดแผ่นดินไหวในอนาคต
รองผู้ว่าราชการจังหวัดระบุว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากภัยพิบัติเมื่อ 10 ปีที่แล้วยังอยู่ในความทรงจำของชาวเชียงราย เพราะสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินเป็นอย่างมาก ในปัจจุบันจังหวัดเชียงรายยังมีความเสี่ยงจากรอยเลื่อนมีพลังหลายจุดซึ่งสามารถสร้างความเสียหายแล้วแต่สถานการณ์ โดยในปี 2566 ที่ผ่านมามีแผ่นดินไหวเกิดขึ้นในจังหวัดเชียงราย 43 ครั้ง แต่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมียนมาเกิดขึ้นถึงกว่า 2,300 ครั้ง ทำให้ต้องเฝ้าระวังตลอดเวลา เนื่องจากแผ่นดินไหวเป็นภัยพิบัติที่ยังไม่มีเครื่องเตือนภัยที่พยากรณ์ได้อย่างแม่นยำ จึงต้องเตรียมรับมือและพัฒนาเทคโนโลยีควบคู่กับการฝึกซ้อมเผชิญเหตุอย่างต่อเนื่อง
“เราคาดหวังว่าจะมีวิทยาศาสตร์สมัยใหม่และนวัตกรรมที่ทำให้สามารถคาดการณ์แผ่นดินไหวล่วงหน้าเพื่อเตรียมรับมือได้อย่างมีประสิทธิภาพ การถ่ายทอดองค์ความรู้จากผู้ทรงคุณวุฒิและนักวิชาการเพื่อรองรับภัยพิบัติและเตรียมการรับมือในครั้งนี้จึงมีประโยชน์กับคนไทย โดยเฉพาะจังหวัดเชียงรายที่ได้รับประโยชน์โดยตรง โดยมีบทเรียนและนวัตกรรมเป็นกรอบแนวทางปฏิบัติของเชียงรายและประเทศไทยเพื่อลดความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นในอนาคต” รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายกล่าว
ขณะที่ ศ. ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ วช. กล่าวว่า ในอนาคตการเคลื่อนตัวของเปลือกโลกและรอยเลื่อนมีพลังมีศักยภาพที่จะเกิดความเสียหายมากกว่าแผ่นดินไหวแม่ลาวได้ในอนาคต โดยอาจจะมีขนาดมากถึง 6.5-7.5 เหตุการณ์ที่ผ่านมาทำให้ผู้เกี่ยวข้องต่างหันมาตระหนักถึงความเสี่ยง จากการถอดบทเรียนของคณะวิจัยในเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ประเทศเนปาลและอินโดนีเซียนำมาสู่การเตรียมรับมือของไทย ข้อมูลจากการสำรวจพบว่าอาจเกิดการไถลตัวตลอดแนวรอยเลื่อนแม่ลาวที่จะสร้างความเสียหายต่อเขื่อนแม่สรวยและตัวเมืองเชียงราย ทำให้เกิดความเสียหายรุนแรงมากถึง 10 เท่า ดังนั้นต้องเตรียมอาคารบ้านเรือนให้แข็งแรง
ทั้งนี้ที่ผ่านมานักวิจัยพยายามทำแผนที่เสี่ยงภัยในระดับสากลที่เทียบได้กับนานาชาติ เตรียมอาคารบ้านเรือนให้พร้อมรับมือ ปรับปรุงกฎหมายควบคุมอาคารให้ต้านทานแผ่นดินไหว ทั้งอาคารสาธารณะ อาคารสำคัญ อาคารเก็บวัสดุอันตราย อาคารสูงทั่วไป โดยปัจจุบันขยายผลการบังคับใช้ใน 40 จังหวัด ลดเพดานจนถึงอาคาร 3 ชั้น แต่ก็ยังไม่ครอบคลุมได้ทุกอาคารและยังเกิดความเสียหายขึ้น จึงต้องพยายามบังคับใช้กับทุกอาคาร และในทางวิศวกรรมจะต้องมีมาตรการออกแบบอาคารต้านทานแผ่นดินไหวด้วย รวมทั้งจัดอบรมให้ความรู้ความเข้าใจแก่วิศวกรให้อยู่ในหลักสูตรวิศวกรรมตั้งแต่ระดับปริญญาตรีเพราะเป็นเรื่องสำคัญ สำหรับการปรับปรุงอาคารเก่าด้วยการเสริมกำลังอาคารที่มีชั้นอ่อนแอ นักวิจัยได้ทำโครงการนำร่องในโรงเรียนต่าง ๆ ในจังหวัดเชียงใหม่และเชียงรายรวม 7 โรงเรียน ด้วยเทคนิควิธีการต่าง ๆ ซึ่งอาคารบ้านเรือนต่าง ๆ สามารถเสริมกำลังให้แข็งแรงและปลอดภัยมากขึ้น โดยมีค่าใช้จ่ายประมาณร้อยละ 10-20 ของอาคารสร้างใหม่ สามารถแปลงงบประมาณเสริมกำลังได้ 5-10 หลัง จึงหวังว่าจากนี้ไปทุกคนจะให้ความสำคัญกับแผ่นดินไหวมากขึ้นเพื่อให้เกิดความปลอดภัยแก่อาคารบ้านเรือน รวมถึงชีวิตและทรัพย์สิน
ด้าน รศ. ดร.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ ประธานมูลนิธิมดชนะภัย ให้ความเห็นว่า ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจะต้องตื่นรู้ไปพร้อมกัน และสร้างความตระหนักหลังการเผชิญเหตุแผ่นดินไหวแม่ลาว สำรวจความเสียหายและเสริมกำลัง แต่ปัจจุบันขณะนี้คือ หลักสูตรของช่างหรือวิศวกรยังมีไม่เพียงพอและไม่สนใจมากนัก จึงต้องสร้างการรับรู้ถึงความน่ากลัวของแผ่นดินไหว ทุกคนต้องเดินหน้าไปพร้อมกันเพื่อปรับตัวและพัฒนา แม้จะมีข้อจำกัดเชิงนโยบายบางด้าน ปัจจุบันโมเดลการทำงานของนักวิชาการพยายาที่จะผลักดันการบังคับใช้กฎหมายเพื่อให้อาคารบ้านเรือนมีความปลอดภัยมากขึ้น รวมถึงจับมือกับภาคประชาสังคมรวมกลุ่มกันทำงานอย่างต่อเนื่อง เพราะแม้แผ่นดินไหวจะไม่ใช่เหตุการณ์เร่งรีบแต่ก็หยุดเตรียมการรับมือไม่ได้ และต้องถ่ายทอดองค์ความรู้จากงานวิจัยเพื่อให้อาคารบ้านเรือนมีความแข็งแรงปลอดภัย ช่างชุมชนต้องเข้ามาเรียนรู้ร่วมกัน จัดการอบรมให้ความรู้เรื่องการเสริมกำลังให้สร้างบ้านได้อย่างปลอดภัย ขณะเดียวกันก็ต้องขับเคลื่อนให้คนในชุมชนเข้ามาช่วยเหลือเพื่อให้ชาวบ้านช่วยเหลือตัวเองได้ ที่สำคัญคือทุกคนต้องไม่ยอมแพ้ต่อภัย แม้ภัยพิบัติจะทำให้เสียขวัญแต่ก็ต้องใจสู้ ลุกขึ้นมาดูแลตัวเอง