จันทบุรีประสบภัยแล้วเข้าขั้นวิกฤติ ชาวบ้านตำบลพลับพลา ปลุกฟื้นคืนชีพวัฒนธรรมเก่าแก่สมัยบรรพบุรุษ พาพ่อแก่แม่เฒ่า ทำพิธีแห่นางแมวขอฝน ตั้งขบวนเดินรอบหมู่บ้าน
    

ค่ำวันที่ 3 พ.ค.2567 ชาวบ้าน ต.พลับพลา อ.เมือง จ.จันทบุรี พร้อมพ่อแก่ แม่เฒ่า ตลอดจนลูกหลาน ต่างพากันมารวมตัวที่บริเวณหน้าวัดโป่งแรด หลังจากเสร็จงานสวนผลไม้ และกิจประจำวัน มาร่วมแรงร้องเพลงขอฝน ประกอบพิธีแห่นางแมว ในการคืนชีพประเพณีวัฒนธรรมเก่าแก่ ตามความเชื่อที่มีมาช้านาน เพื่อให้หวังว่า หลังจากทำพิธีแล้ว ฝนจะตกลงมาตามคำอ้อนวอนของชาวบ้าน 

โดยมี นายโอภาส วงษ์เกษมศิริ ปราชญ์ชาวบ้าน ไวยาวัจกร วัดโป่งแรด นำ สวดทำพิธี หลังจากในพื้นที่จันทบุรี มีสถานการณ์ภัยแล้งถึงขั้นรุนแรง โดยส่งผลกระทบต่อสวนผลไม้เป็นวงกว้าง บางแห่งขาดน้ำ ผลผลิตรอการเก็บเกี่ยว ยืนต้น ตายทั้งกลม ต้องหาเงินมาซื้อน้ำเพื่อพยุงต้นและผลผลิต ยืดอายุให้ถึงเวลาเก็บเกี่ยว 

ซึ่งพิธีขอฝนตามความเชื่อ ชาวบ้านสูงวัย ตลอดจนผู้เฒ่าผู้แก่ ได้เคยอยู่ในพิธีแห่นางแมวขอฝนเมื่อหลายสิบปีก่อน และยังจำเนื้อร้องเพลงขอฝน ได้อย่างแม่นยำ ถือว่าได้ฟื้นคืนชีพวัฒนธรรม ความเชื่อเก่าแก่ที่หลับใหลอยู่ ให้กลับตื่นขึ้น เหมือนย้อนกลับไปยังอดีต จึงเห็นพ้องกันว่า จะทำการแห่นางแมว 3 คืน ด้วยความคาดหวังจะมีฝนตกในเร็วๆนี้ ขณะที่บรรยากาศ ตลอดสองฝั่งทางในชุมชน ที่เป็นบ้านเรือน ร้านค้า ชาวบ้านต่างให้ความสำคัญ ร่วมประเพณีกันอย่างคึกคัก   

นายสัญชัย  วรรณรังสี ชาวบ้านพลับพลา บอกว่า ประเพณีการขอฝน เป็นความเชื่อของคนในพื้นที่ หลังจากที่ฝนทิ้งช่วงหรือฝนแล้งยาวนาน จนส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตในพื้นที่  โดยก่อนแห่นางแมว ร่วมพิธีจะจุดธูป พร้อมกับสวดชุมนุมบอกกล่าวต่อเทวดา สิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อว่า จะส่งสัญญาณต่อพระพิรุณ เพื่อให้น้ำหรือฝนตกลงมา 

ส่วนแมวที่นำมาร่วมพิธีต้องเป็นแมวสีสวาท สีดำ ตัวเมีย แต่ปัจจุบันหลังบอกกล่าวเทวดาเสร็จ จะตั้งขบวนแห่ไปในหมู่บ้าน จะมีการเปลี่ยนจากแมวจริงเป็น แมวเทียม หรือตุ๊กตาแมว เพื่อป้องกันอันตราย เนื่องจากขณะแห่ผ่านบ้าน เจ้าของบ้านหรือผู้อยู่อาศัย จะนำน้ำมาสาดรดแมวที่อยู่ในชะลอม และสาดผู้ร่วมขบวน 
             
ทั้งนี้การแห่นางแมว ที่ต้องใช้แมวเป็นส่วนสำคัญ เพราะเชื่อว่าแมวเป็นสัตว์ ที่เกลียดฝน ชาวบ้านจึงถือเอาเคล็ดที่แมวร้องในเวลาฝนตกว่าจะเป็นเหตุให้ฝนตกจริงๆ ชาวบ้านจึงร่วมมือกันสาดน้ำและทำให้แมวร้องมากที่สุด

ด้าน นายสัญชัย บุญโยประการ กำนัน ต.พลับพลาส่วนสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่ ว่าขณะนี้ สวนมังคุด และทุเรียน จะเข้าขั้นวิกฤต บางหมู่บ้านที่ไม่ติดกับแหล่งน้ำถือว่าหนักมากในรอบหลายสิบปี หากกลางเดือนนี้ยังไม่มีน้ำ หรือฝนตกลงมา จะส่งผลกระทบแน่นอน โดยเฉพาะต้นทุเรียน ที่อาจถึงขั้นยืนต้นตาย         
           

เบื้องต้น ได้ร้องขอไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เข้ามาบรรเทาความเดือดร้อนบ้างแล้ว ส่วนที่ชาวบ้านออกมากันคืนนี้ เพื่อมาทำพิธีขอฝน หลังจากในพื้นที่ที่ไม่เคยแห่นางแมวมานานมากแล้ว เนื่องจากสภาพอากาศของพื้นที่มีความชุ่มชื้นใกล้เชิงเขา และฝนไม่เคยทิ้งช่วงยาวนานเหมือนปีนี้