ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล
บางคนเชื่อว่า “ความดี - ความชั่ว” ไม่มี มีแต่ “อยากอยู่ - อยากทำ” ส่วนจะส่งผลอย่างไรนั้น ก็เป็นเรื่องที่แต่ละคนจะได้รับอะไร ก็เท่านั้น !
ที่บ้านปู่น้อยในตัวจังหวัด ประชาแม้จะมีศักดิ์เป็นหลานแท้ ๆ แต่ก็ต้องทำงานบ้านหลายอย่างเหมือนเป็นคนใช้คนหนึ่ง ตั้งแต่เช้ามืดราวตีห้าคือจุดไฟหุงข้าว (สมัยนั้นยังไม่มีเตาแก๊ส ยังใช้เตาถ่านและฟืน) แล้วก็มารดน้ำต้นไม้รอบ ๆ บ้าน พอฟ้าสว่างก็ซักผ้า ตากผ้าเสร็จก็เกือบเจ็ดโมง จึงจะได้อาบน้ำแต่งตัวไปโรงเรียน โดยต้องห่อข้าวมากินที่โรงเรียนเอง เงินที่พ่อกับแม่ให้มาแต่ละเดือนก็ประมาณ 200 บาท ต้องประหยัดเอาไว้ซื้อเสื้อผ้าและอุปกรณ์การเรียน การเดินทางไปโรงเรียนก็ใช้จักรยาน แต่ต้องพ่วงเอาเจ้าจอร์จ ลูกคนสุดท้องของปู่น้อยไปยังโรงเรียนด้วย ด้วยน้ำหนักของเจ้าจอร์จที่หนักกว่าประชาเกือบเท่าตัว แม้จะอายุไล่เรี่ยกัน ก็ทำเอาแต่ละวันทั้งไปและกลับนั้น เป็นภาระที่แสนจะหนักอึ้งและทรมานขาเป็นอย่างยิ่ง
เจ้าจอร์จเป็น “เด็กสองหน้า” คือเวลาที่อยู่บ้านจะทำตัวเป็นลูกชายที่เรียบร้อย อยู่ในโอวาทของพ่อแม่ด้วยดีทุกอย่าง แต่พอลับหลังพ่อแม่ซึ่งก็คือปู่น้อยและคุณนายไม่อยู่ หรือออกมาพ้นตาคนทั้งสอง ก็จะเป็นวัยรุ่นที่ “ร้าย” เอาเรื่อง ทั้งยังชวนให้ประชาต้องเล่นบทร้ายนั้นตามไปด้วย โดยประชาก็สนุกไปด้วย ที่สำคัญทำให้ประชาอิ่มปากอิ่มท้องและได้เห็น “ของดี ๆ” ขอเพียงแต่ตามใจเจ้าจอร์จไปโดยตลอดเท่านั้น
ที่โรงเรียนมัธยมในยุคนั้น คนดัง ๆ ในโรงเรียนจะต้องมีแก๊งสังกัด หลายคนตั้งตัวขึ้นเป็นหัวหน้าแก๊ง แล้วก็มีการไปเชิญชวนนักเรียนคนอื่น ๆ มาเข้าสังกัด เจ้าจอร์จก็ตั้งตัวเป็นหัวหน้าแก๊ง ๆ หนึ่ง มีชื่อแก๊งว่า “จอร์จโพดำ” มีสมาชิกในแก๊งไม่สม่ำเสมอ เวลาที่มีมาก ๆ อาจจะถึง 20 คน แต่ในเวลาที่มีน้อยก็เหลือแค่ 4-5 คน ทั้งนี้แล้วแต่ว่าจะทำกิจกรรมอะไร โดยสมาชิกที่จะมาเข้าร่วมก็จะมาเข้าร่วมทำกิจกรรมตามความสนใจ นักเรียนบางคนก็อาจจะเป็นสมาชิกหลาย ๆ แก๊ง แต่บางคนก็ไม่ได้เข้าร่วมกับแก๊งใด ๆ เพราะไม่มีเวลาหรือมุ่งมั่นไปในการเรียนเป็นหลัก แต่สำหรับประชานั้นไม่มีทางเลี่ยง ต้องเป็นลูกน้องในแก๊งนี้โดยปริยาย ทั้งยังต้องออกรับแทนหัวหน้าแก๊ง ในเวลาที่เกิดมีความผิดพลาด เช่น ต้องออกรับผิดและรับโทษแทนหัวหน้าแก๊ง ผู้เป็นเจ้านายของเขานั้นอีกด้วย
กิจกรรมหลักของแก๊งจอร์จโพดำคือ “ขอเขากิน” แต่ไม่ใช่ไปขอเขากินดี ๆ เพราะมักจะใช้การ คุกคามขู่เข็ญ หรือไปแย่งเอาดื้อ ๆ โดยมักจะทำกิจกรรมในโรงอาหารเวลาพักเที่ยง เจ้าจอร์จกับสมาชิกในแก๊งค์จะแบ่งงานกันไปมองหาว่า เพื่อนนักเรียนคนไหนมีอะไรมากินหรือซื้ออะไรมากิน ก็จะเอาช้อนไปขอแบ่งกิน หรือแย่งเอามากินเสียเฉย ๆ ถึงที่สุดถ้านักเรียนคนใดรู้ว่าจะถูกรังแก ก็หาขนมหรือของกินที่ดูดีไป “เซ่น” ส่งให้เจ้าจอร์จและคนในแก๊งนี้ ก็จะพ้นภัยไม่ถูกรังควานไปชั่วระยะหนึ่ง บางคนทนไม่ไหวก็ไปฟ้องครู เจ้าจอร์จกับแก๊งก็จะเพลามือลงไปชั่วครู่ ซึ่งคนที่ฟ้องก็จะถูกกลั่นแกล้ง เช่น ถูกขโมยของ หรือทำให้ข้าวของส่วนตัวเสียหาย คนส่วนมากจึงใช้วิธีหลบหลีก ไม่ให้เจอเจ้าจอร์จกับแก๊ง รวมถึงที่ไปพึ่งแก๊งอื่นที่ใหญ่หรือมีอิทธิพลมากกว่า ก็พอจะหนีปัญหาได้บ้าง ส่วนเจ้าจอร์จนั้นบางทีก็ถูกฟ้องและครูจะจับไปลงโทษ เจ้าจอร์จก็ไปฟ้องพ่อของมันว่า ถูกเพื่อน ๆ ใส่ร้ายและอิจฉา พ่อก็มาเคลียร์ถึงที่โรงเรียน ประชาจึงรู้ว่าแม้พ่อของประชาจะเป็นแค่เสมียนเดินเอกสารบนศาลากลาง แต่ก็อยู่สังกัดในกองคลัง มีอำนาจในการเบิกจ่ายงบระมาณให้กับส่วนราชการต่าง ๆ ในจังหวัด ที่รวมถึงโรงเรียนของประชาและเจ้าจอร์จนั้นด้วย ผู้บริหารโรงเรียนจึงกลัวหงอและไม่เอาเรื่องอะไรกับเจ้าจอร์จ ก็ยิ่งทำให้เจ้าจอร์จเหิมเกริมและก่อเรื่องรำคาญใจในโรงเรียนอยู่โดยตลอด
พอจบชั้นมัธยมต้น เจ้าจอร์จก็ถูกส่งไปเรียนในกรุงเทพฯในชั้นมัธยมปลาย ส่วนประชาก็ไม่ได้อยู่ที่บ้านของปู่น้อยอีกต่อไป โดยย้ายออกมาอาศัยอยู่บ้านเพื่อนร่วมโรงเรียนคนหนึ่ง ซึ่งเพื่อนคนนี้เข้าใจปัญหาของประชาเป็นอย่างดี ทั้งสองคนมาเข้าเรียนต่อในวิทยาลัยอาชีวะในจังหวัด เพื่อนคนนี้มีนิสัยตรงกันข้ามกับเจ้าจอร์จเหมือนขาวกับดำ คือเป็นคนดีเอามาก ๆ โอบอ้อมอารี พูดจาไพเราะ และสุภาพนอบน้อม เพื่อนคนนี้อาศัยอยู่กับน้าชายและน้าสะใภ้ ทั้งคู่มีอาชีพรับจ้างใช้แรงงาน จะเรียกว่าเป็นกรรมกรก่อสร้างก็ได้ เพราะงานหลักคือทำงานตามไซต์ก่อสร้างต่าง ๆ ทั้งคู่มีลูก 2 คน อายุไล่เลี่ยกันกับเพื่อนคนนี้และประชา ทั้งสี่คนจึงอยู่ในบ้านเหมือนเป็นเพื่อนกัน นอกจากนั้นก็มียายคือแม่ของน้าชายของเพื่อนอยู่ที่บ้านนี้ด้วยอีกหนึ่งคน และยายนี่เองที่น่าจะเป็น “เสาหลัก” ของบ้าน คือเป็นคนที่คอยดูแลงานในบ้านทั้งหมด รวมถึงดูแลหลาน ๆ ทั้งสามคนนั้นด้วย ซึ่งก็คือคนที่คอบอบรมบ่มนิสัยหลานทั้งสาม รวมถึงเรื่องการเรียนและชีวิตความเป็นอยู่ต่าง ๆ จนทำให้ดูเหมือนว่าบ้านเช่าเล็ก ๆ ที่ทุกคนอยู่ด้วยกันนี้ เป็นสถานที่แห่งความสงบสุขและน่าอยู่เป็นที่สุด
ช่วง 2 ปีที่อยู่บ้านเพื่อนคนนี้และเรียนร่วมวิทยาลัยอาชีวะเดียวกัน ประชาก็เหมือน “เกือบจะ” เปลี่ยนไปเป็นคนอีกคนหนึ่ง คือรู้สึกว่าการที่ไม่ได้ไปเบียดเบียนหรือก่อความรำคาญให้กับใคร ๆ ก็ดูจะสุขสบายดี โดยเฉพาะไม่มีเสียงก่นด่าหรือเรื่องฟ้องร้อง แม้ว่าที่ในโรงเรียนจะเต็มไปด้วยแก๊งต่าง ๆ ไม่ต่างจากที่เคยมีในโรงเรียนที่ประชาเรียนมาในชั้นมัธยมต้น แต่ประชาก็ไม่ได้เข้าไปยุงเกี่ยว ในขณะเดียวกันก็พยายามตั้งใจเรียนและฝึกฝนด้านงานช่าง โดยมีน้าชายกับน้าสะใภ้ของเพื่อนที่เขาอาศัยอยู่ด้วยเป็นแรงบันดาลใจ ที่ทั้งสองคนเคยพูดกับเขาว่า อาชีพกรรมกรนั้นไม่ใช่อาชีพที่ต่ำต้อย แต่เป็นอาชีพที่โลกนี้จะขาดเสียไม่ได้ โลกเราเจริญรุ่งเรืองมาก็ด้วยน้ำมือและหยาดเหงื่อของกรรมกรทั้งหลาย ตั้งแต่ที่สร้างพีระมิด ปราสาทกรีก กำแพงเมืองจีน มาจนถึง เครื่องยนต์กลไก ถนนหนทาง บ้านเรือน และตึกระฟ้าในสมัยนี้ ซึ่งครั้งหนึ่งน้าชายกับน้าสะใภ้ของเพื่อนเคยพาเขากับเพื่อนเข้าไปเที่ยวที่กรุงเทพฯ เมื่อผ่านสถานที่อยู่ของเจ้านายแห่งหนึ่ง น้าชายของเพื่อนก็ชี้ให้เขาดูและบอกว่านี่ก็เป็นผลงานส่วนหนึ่งของทั้งคู่เช่นกัน
พอเรียนไป 2 ปีได้รับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ประชาก็ต้องกลับไปช่วยพ่อกับแม่ทำนาและไร่ แม้ว่าน้าชายบอกว่าน่าจะเรียนต่อจนจบ ปวส. (ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง) แต่เขาก็ทนการรบเร้าของพ่อและแม่นั้นไม่ได้ แต่เขาก็กลับไปอยู่ได้เพียงสองปี พอบวชเป็นพระเป็นกุศลให้กับพ่อแม่ตามหน้าที่ของชายไทยแล้ว เขาก็กลับมาหาเพื่อนคนนี้อีก และขอให้น้าชายของเพื่อนหางานให้เขาทำ และนั่นก็คือ “จุดเปลี่ยน” ครั้งสำคัญในชีวิต เพราะในงานก่อสร้างที่เขาได้เข้าไปทำ เขาได้ถูกชักจูงให้เข้าไปเกี่ยวข้องกับ “ทุรกิจ” (“ทุ” ที่แปลว่าชั่วร้าย) และพาให้เขาได้มาเวียนว่ายอยู่ในแวดวงของความชั่วร้ายนั้นจนถึงช่วงกลางของชีวิต
ประชาถูกกล่อมเกลาโดยไม่รู้ตัวว่า อะไรดีอะไรชั่ว รู้แต่ว่าอยากทำหรือคิดจะทำ แค่นั้น !