ปากกาขนนก / สกุล บุณยทัต

“....ในสังคมที่เปี่ยมล้นไปด้วย..อัปลักษณ์แห่งความชั่วร้าย...ความรู้สึกของการมีชีวิตอยู่ จึงจมลึกอยู่ในเวิ้งกว้างแห่งทะเลเพลิงของหายนะ..ที่เต็มไปด้วยคลื่นลมของทั้งขยะแห่งความคิดและการกระทำอันดำมืด..ทั้งหมดในทุกสิ่งดั่งว่านั้น...ดำรงอยู่อย่างไร้ค่าไร้ศรัทธาอันชวนคลื่นเหียนยิ่ง.."

ภาวะที่เปรียบดั่งจุดระเบิด..ของสัญญาณแห่งการรับรู้ในรู้สึก..ข้างต้น..คือ..รอยอารมณ์ความรู้สึก ที่เป็นปรากฏการณ์สำนึก..ในรวมกวีนิพนธ์เล่มใหม่ของกวี...ผู้หยั่งลึกต่อนัยสำนึกแห่งโลกอันเป็นชิ้นส่วนที่วิ่นขาด...ในสภาวการณ์..อันยากจะจำกัดความต่อความจริงใดๆให้ถ่องแท้ได้ ...ณ ขณะนี้..!!!

“..เมื่อไม่เห็น ความจริง ที่ปรากฏ/ย่อมไม่เห็น ทั้งหมด ที่ควรเห็น/ความจริง ซุกซ่อน บางประเด็น/ที่อยู่ ที่เป็น ย่อมเป็นไป/” ผัสสะแห่งความจริงของ “นายทิวา” ในฐานะประพันธ์กร..จับต้องได้อย่างถึงแก่น ณ ตรงส่วนนี้..มันเป็นมวลคำ ที่นำมาถึงการแสดงบทบาทความคิด ต่อบางสิ่งที่ค้างคาอยู่ในสำนึกแห่งใจ..และติดแน่นอยู่กับความร้อนร้าย..แห่ง “อบายหายนะ”ทั้งปวง..

“ที่เห็น ความเท็จ หรือความจริง/หรือเลือนพร่า ทุกสิ่ง ผสานผสม/หลงอยู่กับ มายา ชวนให้ชม/ติดอยู่กับ เงื่อนปม อย่างงมงาย/...เมื่อไม่อาจ เชื่อถือ ในความจริง/ความสำเร็จ ก็ยิ่ง ทรงความหมาย/เหตุ นำสู่ ผล ต้นยันปลาย/เริ่มที่ร้อน จบที่ร้าย แสนรำเค็ญ../..” ในความเป็นจริง..สังคมประเทศ ณ เวลานี้เต็มไปด้วยปมเงื่อนแห่งความเย้ยหยันกระทั่ง บังเกิดภาวะแห่งปรารถนาที่จำเป็นจะต้องวิพากษ์เสียดแทง...สัญชาตญาณแห่งความเป็นกวีนิพนธ์ของ “นายทิวา”...บรรลุผ่านความเป็นตัวตนของเขา..ในวิถีแห่งนักเสียดสี (Satirist) ...ที่เหมือนจะไม่ยอมประณีตประนีประนอม..กับ “อุบาทว์การณ์” ..ที่เกิดขึ้นเป็นภาพซ้ำอยู่เนืองๆเหนือแผ่นดิน...นั่นจึงทำให้รสชาติแห่ง “คำกวี” ของเขา เป็นดั่งคลื่นร้อนที่ถาโถมเข้าใส่..ความสิ้นหวังเยินยับทางจริยธรรมและศีลธรรมที่ต่ำทราม ในยามนี้..อย่างแม่นตรงและเหยียดเย้ย..!

“ขอให้ พระราหู อำนวยพร/ขอให้ดี ไว้ก่อน ไม่เกะกะ/ขอให้ร้าย หายไป ไม่เคล้าคนละ/ขอให้ พระราหู บันดาลดล/พระราหู จะเอาอะไร ได้ทั้งนั้น/เครื่องเซ่น เลือกสรร ไม่สับสน/จะเอาอะไร ได้ทั้งนั้น พร้อมเปรอปรน/เป็นที่พึ่ง ของผู้คน ในวันนี้/ พระราหู เป็นที่พึ่ง ของชาวชน/รับเครื่องเซ่น จากทุกคน ในวันนี้ !”

ในห้วงขณะที่ “คนของโลก” ไร้ที่พึ่งทางนัยแห่งจิตวิญญาณ โดยเฉพาะ..คนบนแผ่นดินของเรา...เงาดำของความงมงาย  คือตัวแปรอันน่าขยะแขยงแห่งวิกฤติศรัทธาอับซับซ้อน..เงาร่างของผู้ฉกฉวยต่างเสนอหน้า..ปรากฏโฉมออกมาเพื่อฉวยโอกาสแห่งอำนาจในการสร้างอำนาจอันวิปิริตเพื่อยึดครองพื้นที่ของสังคม..ยิ่งหัวใจผู้คนอ่อนล้าลงเท่าไหร่..ไร้สิ้นความมั่นใจในตัวตนมากขึ้นเท่าไหร่..สังคมอันขาดสติ และจิตสำนึกอันวิปลาส ก็จะถูกยึดครองและย่ำยีอย่างน่าสังเวช..มากขึ้นเท่านั้น..และนี่เป็นใจความสำคัญด้านหนึ่ง  แห่ง “พลังแรงของการขับขานตีแผ่” ที่ “นายทิวา” ได้เปิดเปลือยต่อสังคมอย่างสิ้นซาก..

“เมื่ออยากได้ อยากมี มีเบ่งบาน/มีอุปสงค์ อุปทาน มีพร้อมสรรพ/เมื่ออยากได้ ย่อมจัดให้ เพื่อได้รับ/พาเหรด ขบวนทัพ ศักดิ์สิทธิ์ชน/ภูต ผี เทวา เทพเจ้า/ข้ามพรมแดน ออกเข้า ทุกแห่งหน/สิงสาราสัตว์ สำแดง เสกเป่ามนต์/ศักดิ์สิทธิ์เหมือน เล่นกล คนบันดาล/”

“มิติมืดแห่งศาสนาและผู้สืบทอดแห่งศาสนา” ที่เร้นกายซ่อนเร้นบาปแห่งการกระทำอันน่าละอายต่อความผิดบาปมายาวนาน...ถูกกระชากออกมาตีแผ่อย่างขึงพืดหมดเปลือก มันแทบไม่เหลือความเกรงใจต่อการยอมรับนับถือ..เพราะสิ่งอันเป็นที่สุดที่ซ่อนอยู่หลังความจริง...คือการ “เล่นรูปชักเงา” ในมายาคติแห่งความหลงใหลในกิเลสและตัณหา อันไม่เข้าใครออกใคร...ภาพฉายในแต่ละภาพ ในเนื้อในของกวีนิพนธ์บทนี้ จึงเป็น “รอยสำรากของความจริงอันกลับด้าน” ที่เบิกประจานตัวเอง อย่างหม่นไหม้ทุรนทุราย..

“Exclusive จัดให้ ขยายต่อเจ้าสำนัก พ่อหมอ ยันไม่มั่ว/ “นะรูทอง” ของดี ไม่มีกลัว/ชวนลงทอง ถ้วนทั่ว ทำทำทำ/ สื่อขยาย ข่าวใหญ่ ไม่มีหยุด/ฝ่ายหลวงพี่ อ้างพุทธ หยุดยีย่ำ/อาตมีภาพ นะหน้าทอง ใช้ประจำ/ “นะรูทอง” ของต่ำ ย้ำไม่มี/

 สำทับด้วย เณรขลัง ขมังเวทย์/บอกลามก ทำเหตุ น่าบัดสี/คนโง่ วิ่งหาเขา เปื้อนราคี/คนฉลาด ต้องหาพี่ นี่แหละน้อง"

เมื่อสังคม..ต้องจมปลักอยู่กับ"ความจริงลวงอันหมดหู่.".ดุจดังดั่งแผ่นฟ้าแห่งความดีงามถูกบดบังแสงฉายอันเป็นสัจจะ

ความชั่วร้ายเหลวแหลกกับขยายพื้นที่แห่งการเติบโต ข้ามผ่านความดีงามอันน่ายกย่องไปสูู่การเเพร่กระจายอันโฉดชั่วไปทั่วทุกสถานะและบทบาท..สังคม การเมือง ศาสนา ล้วนกลายเป็นตัวละครโสมม ที่คว่ำจมอยู่กับภาวะ “โคลนติดล้อ”...ที่ขับเคลื่อนไม่ได้..ความโลภโมโทสันของบุคลากรทางศาสนา การเล่นแร่แปรธาตุอย่างหน้าด้านๆของนักการเมือง  จรรยาบรรณอันเสื่อมทรุดของวงการศึกษา ความเลอะเทอะหยำเปของผู้รักษากฎหมาย..หรือแม้กระทั่งความไม่สำนึกในการละอายต่อบาปนานาของสามัญชนฯลฯ

วิกฤตการณ์ อันชวนระทึกขวัญต่อความผิดบาปเหล่านี้..ล้วนเหมือนไม่มีค่าต่อการเยียวยารักษา หรือต้องยื่นมือมารับผิดชอบ จากใคร? ผู้ใด? หรือ สถาบันใด..มันก็ลายเป็น สังคมสถาปนา “เหล่ามารร้าย” ผู้สร้างมายาคติขึ้นมาชักใย..กระทั่งกลับกลายเป็นบ่วงรัดคอตัวเอง..ในที่สุด..

“ที่เห็น ความเท็จ หรือความจริง/หรือเลือนพร่า ทุกสิ่ง ผสานผสม/หลงอยู่กับ มายา ชวนให้ชม/ติดอยู่กับ เงื่อนปม อย่างงมงาย/เมื่อไม่อาจ เชื่อถือ ในความจริง/ความเท็จ ก็ยิ่ง ทรงความหมาย/เหตุ นำ สู่ ผล ต้นยันปลาย/เริ่มที่ร้อย จบที่ร้าย แสนฝนลำเค็ญ/ เมื่อไม่เห็น ความจริง ที่ปรากฏ/ย่อมไม่เห็น ทั้งหมด ที่ควรเห็น/ความจริง ซุกซ่อน บางประเด็น/ที่อยู่ ที่เป็น ย่อมเป็นไป!./”

เมื่อประจักษ์ในความจริงที่ปรากฎ...หากเราไม่สยบยอม ก็ย่อมจะสัมผัสได้ถึงเนื้อในแห่งกวีนิพนธ์ได้สร้างรหัสนัยไว้ให้ได้สืบค้น..ในบริบท ที่ “นายทิวา” เป็นนักข่าว นักสารคดี และพิธีกรข่าวทางสังคม ชีวิตของเขาย่อมประจักษ์แจ้งในกลไกอันเคลือบแคลงและชวนก่นด่านี้เสมอมา..

และ ภายใต้จิตแห่งการวิเคราะห์ เขาจึงได้กลั่นภาพแห่งความในใจของเขาออกมา  เป็นบทเพลงที่ทั้งละเลงและบรรเลงถึงใจกลางอันชวนสังเวชของบาปเคราะห์ ที่คนในสังคม ต่างตอกฝาสลักลงไปในเนื้อในของตัวตนอยู่ซ้ำๆ  มันคือหลุมบ่อแห่งความมัวเมาในหายนะ..

“ศรัทธา ที่กระทำ ไม่ถึงธรรม/ยิ่งใฝ่ต่ำสูง ยิ่งลงต่ำ ยิ่งชวนหัว/แปลงศรัทธา เป็นทุน ทางเมามัว/ทุนต่อทุน ถ้วนทั่ว ศรัทธาทุน/เราไม่ต่าง จากเหยื่อ ผู้ถูกล่า/ในนาม ความศรัทธา สนับสนุน/ศรัทธา ขายศรัทธา ซื้อขายบุญ/สนองบาป สนองคุณ กลับให้คืน/ เมื่อศรัทธา ไร้ปัญญา ก็งมงาย/ ศรัทธา หมดความหมาย กลายเป็นอื่น/ หลงเหลือ แค่ความชั่ว เพื่อกลายกลืน/เป็นยาพิษ หยิบยื่น เพื่อกลืนกลาย/”

เมื่อศรัทธาไร้ปัญญา..นั่นคืออุบาทว์กรรมของแผ่นดินโดยแท้..เราจึงมองไม่เห็นในสิ่งที่ควรมองเห็น  จึงเป็นได้เพียง “คนใจบอดที่ตาบอด” ที่สะเปะไขว่คว้าความหวังได้หวังดีอย่างไร้ทิศทาง มืดบอดในมืด ใต้คราบร่างแห่งสัจความจริง เพียงกระนั้น!  “เราจะเห็น ความจริง ได้อย่างไร/ความจริง ชนิดไหน ที่ได้เห็น/ ความจริง ที่เป็นอยู่ ที่อยู่ ที่เป็น/หรือความจริง ซ่อนประเด็น เพื่อเร้นเรา/ เมื่อภาพฉาย สะท้อน ในตัวตา/เคลือบภาพ มายา ด้วยความเขลา/ที่ได้เห็น หนักแน่น หรือบางเบา/ที่ได้เห็น ตรงเป้า หรือปลอมปน/ ความจริง ที่เห็น ผ่านสายตา/ความคิด แปรค่า เหตุสู่ผล/เจือด้วย ความเชื่อ เฉพาะตน/ความจริง ก็อาจพ้น จากความจริง/” ท้ายที่สุดเราจำเป็นต้องจำแนกออกมาให้ได้ว่า.. “บังฟ้าเบิกอบาย”..และ “นายทิวา” ได้สรรค์สร้างรากฐานแห่งรวมกวีชุดนี้เพื่อ “ชำแรกและชำแหละ” ถึงสิ่งใด..ภายในบรรทัดในแต่ละบรรทัดที่ประกอบสร้างขึ้นด้วย “ตรีวิถีทัศน์”..ขยายภาพการมองเห็นสู่การตีความ เป็นสามบทตอน..ของแต่ละมโนทัศน์และชีวทัศน์ที่หยั่งเห็น..

มันคือโลก..ในวัฏฏะชีวิตของเราที่ชุ่มโชกไปด้วยเลือดเนื้อของความไม่ชอบมาพากล..หากรู้สึกถึงความมืดมนที่โถมทับและบดขยี้จิตสำนึกอันสั่นไหวแตกพร่า..เราทุกคนก็สมควรที่ต้องเรียนรู้..เพื่อรับรู้ถึงความรู้สึก “ดีชั่ว..” อันเป็นสัจธรรมและศีลธรรมใ นสัญชาตญาณแห่งทุกๆสัญญาณได้..

ทั้งหมดนี่คือ “ปัจจุบันขณะแห่งการเรียนรู้”..อันไม่รู้สิ้น..! “สักครู่ ขณะหนึ่ง ขณะใจ/ทบทวน เริ่มใหม่ สงบสุข/กิเลส มายา ที่เร้ารุก/ตื่นรู้ ปลอบปลุก สติมา../ทำดี ละชั่ว จิตเบิกบานธรรม ที่กระทำการ ย่อมดีกว่า มั่นด้วย สติ เกิดปัญญา

บังอบาย เบิกฟ้า ศรัทธาคน!