วันที่ 3 พ.ค.67 นายจาตุรนต์ ฉายแสง ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Chaturon Chaisang ระบุว่า...
ระเบียบ กกต.ว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภาที่ออกมาเมื่อวันที่ 25 เมษายนที่ผ่านมา มีปัญหาอย่างมากทั้งไม่ตรงตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา แต่ยิ่งไปกว่านั้นไม่ตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ เพราะจงใจปิดกั้นและจำกัดสิทธิเสรีภาพของทุกฝ่าย ทั้งผู้สมัคร ผู้ที่จะช่วยเหลือผู้สมัคร ประชาชนทั่วไปที่ต้องการมีส่วนร่วม รวมไปถึงสื่อมวลชน
ขัดต่อ “พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา” ได้แก่
➝ในมาตรา 21 ระบุว่า “ให้ผู้อำนวยการเลือกตั้งระดับอำเภอต้องประกาศรายชื่อผู้สมัครที่อย่างน้อยต้องระบุอาชีพและอายุของผู้สมัครให้ประชาชนทราบโดยทั่วไป…” จะเห็นเลยว่าเจตนาของกฎหมายต้องการให้ประชาชนทั่วไปได้รับรู้ข้อมูลข่าวสาร แต่ระเบียบกลับห้ามเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารทุกรูปแบบ
➝ในมาตรา 37 และมาตรา 38 ที่กฎหมายจะระบุชัดเจนว่าห้ามไม่ให้ไปหาเสียงกันในวันเลือกตั้ง แต่ตอนที่จะแนะนำตัวก่อนถึงช่วงเลือกนั้นได้ระบุไว้ในมาตรา 36 ว่า “ผู้สมัครอาจแนะนำตัวได้ตามวิธีการและเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด…” จะเห็นว่าในมาตรานี้ไม่ได้ระบุว่าห้ามทำสิ่งใดเหมือนในมาตรา37และ38 แต่ กกต.กลับออกระเบียบห้ามสารพัดจึงถือว่าการออกระเบียบนี้เกินกว่าที่กฎหมายบัญญัติไว้
ขัด “รัฐธรรมนูญและหลักการประชาธิปไตย” ได้แก่
➝มาตรา 114 “สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย…” : ถือเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะหลักประชาธิปไตยถือว่าประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ซึ่งสมาชิกวุฒิสภาจะต้องเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย แต่ระเบียบกลับออกมาไม่ให้ประชาชนรับรู้อะไรทั้งสิ้นเกี่ยวกับการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา
➝ สิทธิเสรีภาพสื่อมวลชน โดยดูจากระเบียบ ข้อ 11 ที่จงใจไม่ให้สื่อมวลชนมาทำหน้าที่ แม้ไม่ได้ห้ามสื่อมวลชนโดยตรงเพราะในรัฐธรรมนูญจะถือว่าไปจำกัดการทำหน้าที่ของสื่อ แต่กกต.ไปพลิกแพลงห้ามผู้สมัครหรือผู้ช่วยผู้สมัครไม่ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อแทน รวมถึงห้ามแจกใบปลิว ห้ามติดป้ายประกาศ ห้ามลงสื่อออนไลน์ จึงเป็นการเลือกตั้งที่แปลกประหลาดมากที่ไม่ต้องการให้ประชาชนได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารใดๆทั้งสิ้น แต่จำกัดข้อมูลอยู่แต่ผู้สมัครด้วยกัน ก็หมายความว่าผู้สมัครจะต้องส่งไลน์หรือสร้างไลน์กลุ่มขึ้นมาส่งประวัติเท่านั้น
ทั้งนี้ในระบบกติกาแบบนี้ต้องการให้สว.เป็นตัวแทนกลุ่มอาชีพต่าง ๆ แต่วิธีการเลือกแบบไขว้คือผู้ที่จะเป็นตัวแทนกลุ่มอาชีพที่ได้รับเลือกในขั้นตอนสุดท้ายจะมาจากการเลือกของผู้ที่อยู่ในอาชีพอื่นเป็นหลัก ดังนั้นการเลือกคนในกลุ่มอาชีพใดกลุ่มอาชีพหนึ่งนี้โดยไม่รู้ข้อมูลอะไรเลย แล้วประชาชนก็ไม่ได้มามีส่วนเกี่ยวข้องเลย ก็หมายความว่าจะไม่มีหลักประกันอะไรเลยว่าผู้ที่ได้รับเลือกมีความเหมาะสมจะเป็นตัวแทนกลุ่มอาชีพได้จริง
การทำแบบนี้จะทำให้การเลือกตั้งแย่กว่าการจับฉลาก มันจะเลวร้ายกว่ามาก เพราะแทนที่ กกต.จะไปให้ความสำคัญ กับการป้องกันการทุจริต เช่น คนมีอำนาจ คนมีเครือข่าย คนมีเงินมากๆจะได้เปรียบมาก ที่สามารถจะจ้างคนจำนวนมากๆไปสมัคร แต่ กกต.กลับไม่เน้นเรื่องนี้
ที่แย่ไปกว่านั้น กกต.ไม่เข้าใจเลยว่าว่าการป้องกันการทุจริตเหล่านี้ที่ดีที่สุด คือการให้ข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชนให้มากที่สุด ประชาชนถึงจะช่วยป้องกัน ช่วยกันตรวจสอบ เพราะฉะนั้นการแนะนำการเชิญชวน ให้มีการมาสมัครกันมากๆก็ดี การให้ข้อมูลข่าวสารต่อประชาชนให้มากๆก็ดี หรือการให้ผู้ที่สมัครหรือผู้ช่วยผู้สมัครสามารถสื่อสารกับประชาชนได้ จึงไม่ใช่เป็นเรื่องควรห้ามแต่เป็นเรื่องควรส่งเสริมอย่างจริงจัง
เปรียบเทียบได้จากเงื่อนไขการเลือกตั้งสส. ที่ห้ามจูงใจด้วยการสัญญาว่าจะให้ ห้ามจัดมหรสพ หรือการข่มขู่ แต่สามารถจูงใจได้ถ้าทำโดยสุจริต ทั้งจูงใจให้ไปเลือกตั้งหรือแม้กระทั่งจูงใจให้ไปเลือกผู้สมัครแต่ละคน ซึ่งตรงข้ามกับกฎระเบียบการเลือก สว. ที่ห้ามไม่ให้จูงใจให้คนไปสมัคร และห้ามไม่ให้ข้อมูลแก่ประชาชน และเราจะรู้ได้อย่างไรว่าผู้สมัครเป็นที่ยอมรับของคนในอาชีพนั้นหรือไม่ ผู้สมัครมีความคิดอย่างไรเกี่ยวกับป้องกันการไปทุจริตคอรัปชั่น มีความคิดอย่างไรเกี่ยวกับการดูแลให้ได้องค์กรอิสระ หรือเวลาจะรับรอง ประธานตุลาการ ศาลปกครอง อัยการ การไปทำหน้าที่สำคัญทั้งหลายเหล่านี้คนที่ไปสมัครมีความคิดอย่างไร จึงจะไม่มีใครรู้
ดังนั้นระเบียบของ กกต. นี้จึงขัดต่อหลักการสำคัญของประชาธิปไตยคือสิทธิเสรีภาพของประชาชน และหลักการที่สำคัญคือ “สมาชิกวุฒิสภาต้องเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย” แต่จะเป็นตัวแทนปวงชนชาวไทยได้อย่างไร ในเมื่อประชาชนไม่รู้อะไรสักอย่างเกี่ยวกับพวกคุณเลย