บ่นกันโอดครวญว่า “อากาศร้อน ถึงร้อนจัด” กันถ้วนหน้า

สำหรับ “ฤดูร้อน” ในปีนี้ และน่าจะทุบสถิติกันอีกปี กับตัวเลขอุณหภูมิที่สูงขึ้น

ก็ต้องรอให้หน่วยงานด้านอุตุนิยมวิทยาทั้งในประเทศ และระหว่างประเทศ อย่าง “องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก” หรือไม่ก็ “องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งสหรัฐฯ” หรือ “โนอา” ซึ่งมีอุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องไม้ ในการตรวจวัดอุณหภูมิประกาศเป็นตัวเลขอย่างเป็นทางการ

ว่ากันถึงพื้นที่ที่เผชิญกับสภาพอากาศร้อนจัด ณ ชั่วโมงนี้ ก็ต้องบอกว่า “ทวีปเอเชีย” กำลังผจญชะตากรรมอย่างน่าสะพรึง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภูมิภาคเอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อยู่ในสถานการณ์ที่เลวร้ายหนัก ส่งผลกระทบ สร้างความเดือดร้อนแก่ผู้คนกันไปทั่ว

ไล่ไปตั้งแต่อินเดีย เนปาล บังกลาเทศ เมียนมา ไทย กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ถึงฟิลิปปินส์ ล้วนเผชิญสภาพอากาศร้อนจัดแทบตับแตก

นอกจากนี้ กระทั่งในพื้นที่ย่านฟากฝั่งตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก และเอเชียตะวันออก ก็ได้รับความเดือดร้อนกับคลื่นร้อนที่ถาโถมในช่วงฤดูร้อนปีนี้อย่างสาหัสสากรรจ์ด้วยเช่นกัน

รวมไปถึงเหล่าเด็กๆ ที่บรรดาองค์กรระหว่างประเทศ แสดงความเป็นห่วง “กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ” หรือ “ยูนิเซฟ” มีคำเตือนออกมาว่า ในเดือนเมษายนนี้ อันเป็นช่วงพีคสุดของฤดูร้อน ที่อากาศมีสภาพร้อนจัดนี้ จะส่งผลกระทบต่อเด็กๆ ทั่วภูมิภาคแปซิฟิกและเอเชียตะวันออก จำนวนกว่า 243 ล้านคน

สำหรับ พื้นที่ในภูมิภาคเอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แยกย่อยแต่ละประเทศที่ประสบกับคลื่นร้อนที่ถาโถม อาทิเช่น

“อินเดีย” ในช่วงปลายเดือนเมษายนที่เพิ่งผ่านพ้นมา ต้องเผชิญกับอากาศที่ร้อนจัด ซึ่งมีอุณหภูมิทะลุเกินกว่า 40 องศาเซลเซียส โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อวันที่ 27 เมษายน ตัวเลขอุณหภูมิทะยานขึ้นไปถึง 44 องศาเซลเซียส ในหลายพื้นที่ของแดนภารตะ

ถึงประชาชนผู้คน ซึ่งคุ้นชินกับอากาศร้อนกันเป็นทุนเดิมอยู่แล้วตามสภาพภูมิอากาศของประเทศอินเดีย ต่างบ่นกันเป็นเสียงเดียวว่า ไม่เคยเจอสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าวเช่นนี้มาก่อน

ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองในประเทศอินเดีย ที่กำลังอยู่ในบรรยากาศรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ส่งผลให้ทางการของรัฐบาล ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมทิ ต้องจัดตั้งหน่วยเฉพาะกิจ ขึ้นมาเพื่อดูแลปัญหาภัยอากาศร้อนต่อบรรดาผู้ที่ไปใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งกันโดยเฉพาะ สำหรับ การเปิดคูหาให้ประชาชนได้ไปใช้สิทธิ์เมื่อช่วงปลายดือนเมษายนที่ผ่านมา

ส่วนที่ “เนปาล” อีกหนึ่งประเทศในเอเชียใต้ และมีภูเขาหิมาลัย หรือเทือกเขาเอเวอเรสต์ ที่มีทั้งหิมะหนาวเย็นเต็มเทือกเขา แต่ก็ไม่ได้ช่วยให้อากาศของเนปาลคลายร้อนได้แต่ประการใด โดยในช่วงปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา ก็ประสบกับอุณหภูมิทะลุเกินกว่า 40 องศาเซลเซียสเป็นเวลาหลายวัน และบางวันอุณหภูมิก็พุ่งไปถึง 43 องศาเซลเซียสก็ยังมีให้เห็น

ส่งผลให้ผู้คนต้องเข้าโรงพยาบาลกันอย่างล้นหลาม เพื่อรักษาอาการป่วยจากสภาพอากาศที่ร้อนจัด และยังมีรายงานด้วยว่า จากสภาพอากาศที่ร้อนจัด ก็ทำให้เนปาลเกิด “โรคอุจจาระร่วง” จากการติดเชื้อไวรัสที่ปนเปื้อนมากับอาหาร แพร่ระบาดอีกด้วย ซึ่งเชื้อไวรัสที่ทำให้ท้องร่วงข้างต้น ก็เป็นผลมาจากอากาศร้อนจัด ทำให้เชื้อไวรัสมีฤทธิ์ร้ายขึ้น

เช่นเดียวกับที่ “บังกลาเทศ” อีกหนึ่งในประเทศของภูมิภาคเอเชียใต้ ก็ประสบกับภัยร้อน ด้วยอุณหภูมิที่สูงเกินกว่า 40 องศาเซลเซียส โดยเมื่อช่วงปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา บังกลาเทศก็มีอากาศร้อนจนทุกสถิติครั้งล่าสุด จากการที่วัดอุณหภูมิได้ถึง 42.7 องศาเซลเซียส ส่งผลให้โรงเรียนทั่วประเทศที่กำลังจะเปิดภาคเรียนนั้น ต้องขยายเวลาการเปิดภาคเรียนออกไป และทำให้เด็กนักเรียนจำนวนหลายล้านคน ที่กำลังเตรียมตัวเปิดภาคเรียนใหม่นี้ ต้องอยู่กับบ้านของพวกเขาไปก่อน

ทางการบังกลาเทศ ระดมรถพ่นละอองน้ำ ไปช่วยคลายร้อนให้แก่ประชาชนตามท้องถนนสายต่างๆ ท่ามกลางสภาพอากาศที่ร้อนจัด (Photo : AFP)

ขณะที่ หลายประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็เผชิญกับสภาพอากาศร้อนจัดปานๆ กัน หรือในบางประเทศก็อาจจะเลวร้ายยิ่งกว่า ทั้งตัวเลขอุณหภูมิที่พุ่งขึ้นสูง และการเจ็บไข้ได้ป่วยจากผลพวงของอากาศร้อน ตลอดจนกิจกรรมต่างๆ ต้องถูกระงับ หรือถึงขั้นต้องยกเลิกไป

เริ่มจาก “เมียนมา” ที่อุณหภูมิพุ่งไปถึง 43 องศาเซลเซียส สำหรับสภาพอากาศในเมืองมัณฑะเลย์ เมื่อวันที่ 28 เมษายน ก่อนที่อีกหนึ่งวันถัดมา ที่เมืองเชาะ เมืองท่าเรือในภาคมะกเว ซึ่งเป็นภาคกลางตอนบนของเมียนมา ปรากกฏว่า อุณหภูมิทะยานไปถึง 48.2 องศาเซลเซียส

ประชาชนชาวเมียนมา ใช้พื้นที่สวนสาธารณะคลายร้อน หลังเผชิญกับสภาพอากาศร้อนจัด (Photot : AFP)

อากาศที่ร้อนขนาดนี้ ก็ส่งผลกระทบต่อผู้คน โดยมีรายงานว่า ถึงขนาดทำให้ผู้คนไม่สามารถพำนักอาศัยอยู่ในที่พักของตนได้ แม้กระทั่งอพาร์ทเมนท์ ตึกสูง มีเครื่องปรับอากาศก็ตาม โดยหลายคนต้องอาศัยร่มไม้ในสวนสาธารณะ เป็นสถานที่คลายร้อน

ขณะเดียวกัน ทางด้าน “กัมพูชา” และ “เวียดนาม” ก็ผจญกับอุณหภูมิที่สูงเกินกว่า 40 – 43 องศาเซลเซียส ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมต่างๆ ให้ต้องระงับ หรือยกเลิกไป หรือไม่ก็เปลี่ยนเวลาการทำกิจกรรม เช่น การทำนาในช่วงเวลากลางคืน ซึ่งมีอากาศร้อนน้อยกว่าช่วงเวลากลางวัน เป็นต้น พร้อมกันนั้น กระทรวงสาธารณสุข ก็ได้ประกาศแจ้งเตือนให้ประชาชนระมัดระวังสุขภาพ

ด้านฟิลิปปินส์ ก็เจอคลื่นร้อนจนอุณหภูมิเกือบแตะ 40 องศาเซลเซียส ส่งผลให้ทางการต้องมีคำสั่งปิดการเรียนการสอน เพราะหวั่นเกรงว่าจะกระทบต่อสุขภาพของเด็กนักเรียน

	เจ้าของรถม้าชาวฟิลิปปินส์ นำม้ามาหลบลมร้อนใต้ต้นไม้ริมถนนสายหนึ่งในกรุงมะนิลา พร้อมกับให้น้ำแก่ม้าเพื่อคลายร้อน (Photo : AFP)

ส่วนที่ไทยเรานั้น สภาพอุณหภูมิก็ทะลุเกินกว่า 40 องศาเซลเซียสเช่นกัน ในบางพื้นที่เช่น อ.เถิง จ.ลำปาง อุณหภูมิก็พุ่งไปถึง 44.2 องศาเซลเซียส

โดยสภาพอากาศที่ร้อนจัด ก็คร่าชีวิตผู้คนด้วยอาการฮีทสโตรก หรือลมแดด ไปแล้วกว่า 30 คน สำหรับโศกนาฏกรรมอากาศร้อนในไทย

ประเทศในย่านเอเชียใต้แห่งหนึ่ง จัดส่วนโรงพยาบาลสำหรับรองรับผู้ป่วยจากสภาพอากาศที่ร้อนจัด เช่น ฮีทสโตรก หรือลมแดด โดยเฉพาะ (Photo : AFP)

บรรดาผู้เชี่ยวชาญ กล่าวเตือนว่า อากาศร้อนที่หลายประเทศในเอเชียเผชิญอยู่นี้ เป็นผลสืบเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือโลกร้อน เลวร้ายหนักขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบทำให้อากาศร้อนยาวนานขึ้น รุนแรงขึ้น หรือถี่ขึ้นกว่าในช่วงที่ผ่านมา