ประเพณีบุญบั้งไฟ เป็นหนึ่งในฮีตสิบสองเดือนของชาวอีสาน นิยมทำกันในเดือน 6 หรือเดือน 7 เป็นช่วงฤดูฝนเข้าสู่การทำนา ตกกล้า หว่าน ไถ การจัดงานประเพณีบุญบั้งไฟ ถือเป็นส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิต ตามความเชื่อคือเป็นการขอฝนให้ตกต้องตามฤดูกาล ซึ่งเป็นประเพณีที่ทุกคนมีความสนุกสนาน มีการละเล่นแบบพื้นบ้าน มีขบวนแห่ที่สวยงาม สร้างความสามัคคีและสร้างการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนที่มีผลต่อการดำเนินชีวิตของคนในชุมชนโดยแท้


การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ชวนสัมผัสวิถีวัฒนธรรม ประเพณีบุญบั้งไฟ ประจำปี 2567 ซึ่งมีการจัดงานอย่างยิ่งใหญ่ในหลายจังหวัดของภาคอีสาน เริ่มกันที่งานบุญบั้งไฟจังหวัดยโสธร จัดขึ้นในระหว่างวันที่  10 - 12  พฤษภาคม  2567 ณ บริเวณถนนแจ้งสนิท หน้าอำเภอเมืองยโสธร บั้งไฟที่เข้าร่วมขบวนแห่ จะถูกตกแต่งประดับประดาอย่างสวยงามด้วยลวดลายไทยสีทอง ส่วนหัวของบั้งไฟจะทำเป็นรูปต่างๆ ส่วนมากนิยมทำเป็นรูปหัวพญานาคกำลังพ่นน้ำ สอดคล้องกับตำนานในการขอฝน ชมขบวนบั้งไฟสวยงามที่บริเวณถนนแจ้งสนิท การประกวดกาพย์เซิ้งบั้งไฟ  การประกวดกองเชียร์ และการประกวดธิดาบั้งไฟโก้ การโชว์แสงสีเสียง พร้อมชิมและช็อปสินค้า OTOP ของกิน ของฝาก ตลอดการจัดงาน

 


 และอีกหนึ่งไฮไลต์ห้ามพลาดในวันอาทิตย์ที่ 12 พฤษภาคม 2567 ตื่นตากับการจุดบั้งไฟแฟนซี และบั้งไฟขึ้นสูง ที่บริเวณสวนสาธารณะพญาแถน เทศบาลเมืองยโสธร  
    
นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาร่วมงานประเพณีบุญบั้งไฟจังหวัดยโสธร สามารถเดินทางไปยังแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจในพื้นที่ ได้แก่ “พิพิธภัณฑ์พญาคันคาก” ตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่ริมอ่างเก็บน้ำลำทวน บริเวณอุทยานสวรรค์วิมานพญาแถน เป็นอาคารจำลองรูปร่างพญาคันคาก หรือคางคกตัวใหญ่ สูง 19 เมตร ภายในประกอบด้วยพื้นที่จัดนิทรรศการจำนวน 5 ชั้น ได้แก่ ชั้นที่ 1 แสดงประวัติศาสตร์ความเป็นมาของเมืองยโสธร ชั้นที่ 2 ตำนานพญาแถนและพญาคันคาก ชั้นที่ 3 ตำนานและเรื่องราวของบั้งไฟ ชั้นที่ 4 อัตลักษณ์เมืองยโสธร และชั้นที่ 5 จุดชมวิวเมืองยโสธร เปิดทุกวันพุธ-วันจันทร์ (ปิดวันอังคาร) วันธรรมดา เวลา 09.00-12.00 น. และ 15.00-18.00 น. วันเสาร์-วันอาทิตย์ เวลา 09.00-12.00 น. และ 13.00-19.00 น. อัตราค่าเข้าชม ผู้ใหญ่ 40 บาท เด็ก 20 บาท สอบถามข้อมูล โทร. 0 4575 6710


     
เดินทางไปชมความสวยงามและความเก่าแก่  “โบสถ์คริสต์บ้านซ่งแย้” หรือที่รู้จักกันอีกชื่อว่า “วัดอัครเทวดามิคาแอล” เป็นโบสถ์ไม้คริสต์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีอายุถึง 100 ปี ในอำเภอไทยเจริญ และกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสุดอันซีนของจังหวัดยโสธรส่วน  ไม่พลาดชม "บ้านสิงห์ท่า" ย่านการค้าตั้งแต่สมัยโบราณ และได้เจริญขึ้นเมื่อสมัยฝรั่งเศสเข้ามามีอิทธิพล ช่วงนั้นเองผู้ที่มีฐานะดีได้มีการนำช่างฝีมือจากเวียดนามจำนวนมากเข้ามาสร้างบ้านเรือน ทำให้บ้านเรือนมีรูปแบบศิลปกรรมแบบจีนผสมยุโรปที่งดงาม ปัจจุบันยังคงเหลือให้เห็นสองข้างทางของถนนศรีสุนทร ถนนนครทุม ถนนอุทัยรามฤทธิ์ และถนนวิทยธำรง บางแห่งยังคงความสมบูรณ์อยู่มาก บ่งบอกถึงบรรยากาศของความเป็นอดีต สร้างเสน่ห์ให้บ้านสิงห์ท่าสวยงามมาจนทุกวันนี้ ย่านนี้ยังเป็นแหล่งทำปลาส้มและลอดช่องยโสธรของฝากขึ้นชื่อของจังหวัดยโสธรอีกด้วย สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ททท.สำนักงานอุบลราชธานี (รับผิดชอบพื้นที่ อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ยโสธร)  โทร. 0 4524 3770 หรือ Facebook : ททท.สำนักงานอุบลราชธานี TAT Ubonratchathani

ไปต่อกันที่งานประเพณีบุญบั้งไฟจังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งมีจัดอยู่ในหลายพื้นที่ แต่ที่เป็นไฮไลต์ของเดือนนี้ คือ “งานประเพณีวัฒนธรรมผู้ไท บุญบั้งไฟตะไลล้านประจำปี 2567” โดยเทศบาลตำบลกุดหว้า และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันจัดขึ้น ในวันเสาร์ – อาทิตย์ที่สามของเดือนพฤษภาคมในทุกปี ปีนี้ตรงกับวันที่วันที่ 15-19 พฤษภาคม  2567 ณ เทศบาลตำบลกุดหว้า อำเภอกุฉินารายณ์ เพื่อรักษาไว้ซึ่งวีถีประเพณีวัฒนธรรมอันดีงามของท้องถิ่นและส่งเสริมการท่องเที่ยว   


    
ตื่นตา ตื่นใจ กับการแสดงแสง สี เสียง ประวัติความเป็นมาของชนเผ่าผู้ไท ที่มีความอ่อนช้อยสวยงามและยิ่งใหญ่ มหกรรมอาหารผู้ไท “มากินแกงเข้าโล้ง ซูดน้ำซว้าไก่ ฮอยฮีตผู้ไท เบิ่งตะไลล้านบ้านกุดหว้า” การจัดบูธแสดงสาธิตผลิตภัณฑ์ และการแสดงศิลปวัฒนธรรมชุมชนชาวผู้ไท การประกวดขบวนแห่บั้งไฟตะไลล้าน การแข่งขันจุดบั้งไฟตะไลแสนขึ้นสูง และการจุดบั้งไฟตะไลล้านบูชาพญาแถน ซึ่งบั้งไฟตะไลในงานนี้  มีความโดดเด่นด้วยลักษณะวงกลมคล้ายล้อเกวียน ประกอบด้วยกระบอกอัดแน่นด้วยดินปืน และขนาดของบั้งไฟที่มีเอกลักษณ์เฉพาะหลากหลาย ทั้งบั้งไฟตะไลจิ๋ว ตะไลแสน ตะไลล้าน ตะไล 2 ล้าน และตะไลสิบล้าน นับเป็นแห่งแรกและหนึ่งเดียวในโลกที่ทำบั้งไฟตะไลขนาดใหญ่ นอกจากนี้ยังมีงานประเพณีบุญบั้งไฟแพรวากาฬสินธุ์ ระหว่างวันที่ 29 พฤษภาคม - 2 มิถุนายน 2567 ณ สำนักงานเทศบาลตำบลโพน อำเภอคำม่วง สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ททท.สำนักงานขอนแก่น  โทร. 0 4322 7714-5 หรือ Facebook : ททท.สำนักงานขอนแก่น TAT Khonkaen Fanpage 

นอกจากการเดินทางมาชมงานประเพณีดังกล่าวแล้ว จังหวัดกาฬสินธุ์ยังมีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจ อย่างเส้นทางท่องเที่ยวทาง “ธรณีวิทยา” อย่าง  “พิพิธภัณฑ์สิรินธร” เดิมเป็นศูนย์วิจัยไดโนเสาร์ภูกุ้มข้าว พบกับหลุมขุดค้นไดโนเสาร์กินพืชที่สมบูรณ์ที่สุดของประเทศไทย โดยพบกระดูกไดโนเสาร์เกือบทั้งตัว กองรวมอยู่กับกระดูกไดโนเสาร์กินพืชพันธุ์ต่าง ๆ อีก 2-3 ชนิด กระดูกทั้งหมดอยู่ในชั้นหินที่วางตัวอยู่บนไหล่เขา เปิดทุกวันอังคาร-วันอาทิตย์ (ปิดวันจันทร์) เวลา 9.30 น.-16.30 น. อัตราค่าเข้าชม ชาวไทย ผู้ใหญ่ 50 บาท เด็ก (อายุ 12 ปี ขึ้นไป) 20 บาท ชาวต่างชาติ ผู้ใหญ่ 150 บาท เด็ก (อายุ 12 ปี ขึ้นไป) 70 บาท สอบถามข้อมูล โทร. 0 4387 1613 www.sdm.dmr.go.th

ผาแดงภูสิงห์ ตั้งอยู่บริเวณหุบเขาภูสิงห์  ฝั่งตำบลสหัสขันธ์ เป็นหน้าผาหินทรายสีแดงที่มีขนาดใหญ่และหนา โดยผาหินทรายนี้ปรากฏโครงสร้างธรณีวิทยาที่ค่อนข้างชัดเจน ส่วน ภูน้อย (เป็นแหล่งขุดค้น) ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลดินจี่ อำเภอคำม่วง เป็นแหล่งค้นพบซากฟอสซิลไดโนเสาร์จำนวนมาก บนแนวเทือกเขาภูพาน อยู่ในกลุ่มหินโคราชยุคจูราสสิกตอนปลายมีอายุประมาณ 150 ปี โดยเริ่มค้นพบครั้งแรกในปี 2551 และมีการค้นพบซากดึกดำบรรพ์ตั้งแต่ฟันขนาดเล็กเพียงไม่กี่มิลลิเมตร จนถึงกระดูกใหญ่เกือบเท่าตัวคน และมีความหลากหลายทางสายพันธุ์  

วนอุทยานภูแฝก เป็นแหล่งรอยเท้าไดโนเสาร์ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย โดยรอยเท้าไดโนเสาร์นั้นถูกค้นพบบนพลาญหินที่เป็นทางน้ำของห้วยน้ำยัง รอยเท้าฝังอยู่ในผิวหน้าของชั้นหินทราย จากการพบรอยเท้าไดโนเสาร์ทำให้ทราบว่าชั้นหินทรายในบริเวณนี้ ในอดีตมีสภาพเป็นหาดทรายริมน้ำ เป็นที่ที่ไดโนเสาร์เดินผ่าน หรือเที่ยวหากินอยู่ในบริเวณหาดทรายชุ่มน้ำนี้

จังหวัดกาฬสินธุ์ยังมีความน่าสนใจทางการท่องเที่ยวอีกหลากหลาย และสามารถท่องเที่ยวเชื่อมโยงไปสู่จังหวัดใกล้เคียงในเส้นทางท่องเที่ยวต่างๆ ได้ ทั้งเส้นทางท่องเที่ยว “ธรณีวิทยา : ขอนแก่น – กาฬสินธุ์ (Khon Kaen Geopark – Kalasin Geopark)”  ช่วยเติมเต็มให้การมาเยือนอีสานกลางในช่วงเวลาดังกล่าวคุ้มค่ามากยิ่งขึ้น