สถานการณ์ "ค่าฝุ่น" PM2.5 วิกฤต ค่าฝุ่นพุ่งสูงหลายเมือง "เชียงใหม่ - กทม." จมฝุ่นหนัก ติดอันดับโลกทั้ง 2 เมือง "กรมปศุสัตว์" ร่วมมือเครือข่ายกำชับมาตรการไม่รับซื้อข้าวโพดจากการเผา ตามนโยบาย "ไม่เผา เราซื้อ" มุ่งแก้ปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 อย่างยั่งยืน เตรียมประชุมวางมาตรฐาน 9 พ.ค.67

 เมื่อวันที่ 1 พ.ค.67 เว็บไซต์ IQAir ได้รายงาน ดัชนีคุณภาพอากาศ ของทั่วโลก พบว่า "เชียงใหม่" และกรุงเทพมหานคร (กทม.) ค่าฝุ่นพุ่งสูงขึ้น ติดอันดับ 5 และ 6 ของโลก โดย เชียงใหม่ มีดัชนีคุณภาพอากาศ ล่าสุด 160 AQI ระดับสีแดง และ กทม. มีดัชนีคุณภาพอากาศ ล่าสุด 155 AQI ระดับสีแดง อยู่ในเกณฑ์ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและทางเดินหายใจ


 ดัชนีคุณภาพอากาศ ในประเทศ เมื่อเวลา 10.00 น. (1 พ.ค.67) พบว่า อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่ มีค่าฝุ่น สูงเป็นอันดับ 1 ในประเทศ โดย 10 อันดับในประเทศ ได้แก่ 1.แม่ออน จ.เชียงใหม่ 176 AQI 2.เมืองเชียงราย จ.เชียงราย 169 AQI 3.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ 164 AQI 4.ทวีวัฒนา กทม. 164 AQI 5.เมืองสมุทรสาคร จ.สมุทรสาคร 163 AQI 6.บางกอกน้อย กทม. 162 AQI 7.สันทราย จ.เชียงใหม่ 162 AQI 8.บางกรวย จ.นนทบุรี 161 AQI 9.บางขุนเทียน กทม. 160 AQI 10.บางบอน กทม. 159 AQI
 ขณะที่ GISTDA เกาะติดสถานการณ์ "ค่าฝุ่น" PM 2.5 แบบรายชั่วโมง ด้วยข้อมูลจากดาวเทียมผ่านแอปพลิเคชั่น "เช็คฝุ่น" เมื่อเวลา 08.00 น. ของวันที่ 1 พ.ค.67 พบ 8 จังหวัด มีค่าฝุ่นเกินเกณฑ์มาตรฐานในระดับสีแดงที่มีผลกระทบต่อสุขภาพและระบบทางเดินหายใจ คือ 1.เชียงราย 118.1 ไมโครกรัม 2.เชียงใหม่ 106.5 ไมโครกรัม 3.บึงกาฬ 101.6 ไมโครกรัม 4.น่าน 100 ไมโครกรัม 5.พะเยา 99.3 ไมโครกรัม 6.แม่ฮ่องสอน 90.8 ไมโครกรัม 7.ลำพูน 85.3 ไมโครกรัม และ8.ลำปาง 82.9 ไมโครกรัม
 ส่วนอีก 19 จังหวัดโซนภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง มีค่าคุณภาพอากาศเกินมาตรฐานในระดับสีส้ม สำหรับพื้นที่ กรุงเทพมหานคร เช้าวันเดียวกัน พบคุณภาพอากาศเริ่มมีผลกระท่อต่อสุขภาพเกือบทุกเขตพื้นที่


 ด้าน นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลและนโยบายของร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีมาตรการกำชับห้ามนำเข้าข้าวโพดที่มาจากประเทศเพื่อนบ้านที่มีการเผา และที่มีกระบวนการผลิตที่เกี่ยวข้องกับการเผา โดยมุ่งแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนและการแก้ปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 อย่างยั่งยืนนั้น กรมปศุสัตว์รับสนองนโยบายและได้ดำเนินการอย่างจริงจังเคร่งครัด


 นายสัตวแพทย์โสภัชย์ ชวาลกุล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมปศุสัตว์เร่งดำเนินการเพื่อหารือกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ในวันที่ 30 เมษายน 2567 ณ กรมปศุสัตว์ เพื่อภาคเกษตรมีการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อาหารปลอดภัยและผลิตได้อย่างยั่งยืน


 โดยร่วมหาแนวทางการจัดการวัตถุดิบอาหารสัตว์ เพื่อลดปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากกรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย สมาคมส่งเสริมผู้ใช้วัตถุดิบอาหารสัตว์


 จากการหารือได้มีแนวทางดำเนินการ ดังนี้ 1) กรมวิชาการเกษตรทำแนวทางการรับรองกระบวนการผลิตข้าวโพดเมล็ดแห้งแบบไม่เผาโดยหลักเกณฑ์การรับรองผู้ที่ได้รับการรับรองจะต้องเป็นผู้ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับข้าวโพดเมล็ดแห้ง (GAP) และเพิ่มเติมกระบวนการผลิตข้าวโพดเมล็ดแห้งแบบไม่เผาตามหลักเกณฑ์ วิธีการที่กำหนด 2) สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ ทบทวนหลักเกณฑ์การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับข้าวโพดเมล็ดแห้งแบบไม่เผา


 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับข้าวโพดเมล็ดแห้งแบบไม่เผา จะมีการจัดประชุมในวันที่ 9 พ.ค. 67 โดยใช้มาตรฐานสินค้าเกษตร มกษ.4402-2553 ฉบับเดิมมาปรับปรุงเพิ่มเติม ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวยังเป็นแบบสมัครใจ โดยจะมีการประเมินผลการดำเนินการก่อนจะมีการนำไปใช้แบบภาคบังคับ
 3) กรมปศุสัตว์และสมาคม ร่วมประสานแจ้งหน่วยงานบริษัทต่างๆ ที่รับซื้อวัตถุดิบอาหารสัตว์ให้รับซื้อและสนับสนุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่ไม่มาจากการเผาหรือเกี่ยวข้องกับการเผา และหาข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนพื้นที่ที่ได้มาตรฐาน GAP และไม่มีการเผา ไม่ได้มาตรฐาน GAP แต่มีการเผา/ไม่มีการเผา


 ทั้งนี้ ให้ทุกหน่วยงานร่วมมือกันดำเนินการอย่างเร่งด่วน นำข้อมูลและความคืบหน้าการดำเนินการมารายงานการประชุมครั้งหน้ากำหนดวันที่ 23 พฤกษาคม 2567 เพื่อปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรมมีประสิทธิภาพสอดคล้องกับบริบทในพื้นที่และสภาพแวดล้อมของประเทศไทย สามารถแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนและลดปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 ได้อย่างยืนต่อไป ด้วยนโยบาย ไม่เผา เราซื้อ