สทนช. ชี้ไทยจะเข้าสู่ฤดูฝนช่วงสัปดาห์ที่ 4 ของเดือน พ.ค. แต่จะยังมีฝนน้อยกว่าค่าปกติ ก่อนฝนจะตกเพิ่มขึ้นในช่วงเดือน มิ.ย. แต่มีแนวโน้มเกิดฝนทิ้งช่วงประมาณกลางเดือน มิ.ย. - ก.ค. ในบางพื้นที่ซึ่งได้เตรียมสำรองน้ำไว้รองรับสถานการณ์แล้ว พร้อมติดตามประเมินฝนและสภาพอากาศอย่างใกล้ชิดเพื่อให้ได้ข้อมูลฝนคาดการณ์สำหรับบริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด

 วันนี้ (1 พ.ค. 67) ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นประธานการประชุมติดตามและประเมินสถานการณ์น้ำประจำสัปดาห์ ณ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.) กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรธรณี กรมชลประทาน การประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (GISTDA) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน เป็นต้น เข้าร่วมการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยเลขาธิการ สทนช.  เปิดเผยผลการประชุมว่า ประเทศไทยเข้าสู่ช่วงปลายของสถานการณ์เอลนีโญแล้ว โดยขณะนี้อยู่ในสภาวะเอลนีโญกำลังอ่อน ก่อนจะเข้าสู่สภาวะเป็นกลาง และจะเปลี่ยนเป็นสภาวะลานีญาในช่วงประมาณเดือน มิ.ย. 67 ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้มีปริมาณฝนมากกว่าค่าปกติและช่วยให้อุณหภูมิลดลง สำหรับในระยะนี้ระหว่างวันที่ 3 – 9 พ.ค. 67 มีแนวโน้มที่จะมีฝนตกในลักษณะของฝนฟ้าคะนองและเกิดพายุฤดูร้อนได้ แต่ฝนจะยังไม่กระจายตัวทั้งประเทศ โดยจะมีปริมาณฝนมากในพื้นที่ภาคเหนือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ รวมถึงบริเวณตอนกลางของประเทศที่จะมีฝนตกในระดับหนึ่งเช่นกัน สามารถช่วยคลี่คลายความร้อนและสถานการณ์แล้งในเบื้องต้นได้ ทั้งนี้ คาดว่าประเทศไทยจะเข้าสู่ฤดูฝนในช่วงประมาณสัปดาห์ที่ 4 ของเดือนนี้ อย่างไรก็ตาม ปริมาณฝนคาดการณ์ในช่วงเดือน พ.ค. จะยังคงน้อยกว่าปกติ ก่อนจะมีฝนเพิ่มมากขึ้นในช่วงเดือน มิ.ย. อย่างไรก็ตาม ประมาณกลางเดือน มิ.ย. ถึงช่วงต้นเดือน ก.ค. อาจจะเกิดฝนทิ้งช่วงได้ ขณะนี้จึงได้มีการสำรองน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ ไว้เพื่อเตรียมรองรับสถานการณ์ดังกล่าวด้วย

 “แม้คาดว่าจะมีฝนตกมากขึ้นในช่วงเดือน มิ.ย. นี้ โดยเฉพาะบริเวณตอนกลางของประเทศ แต่พื้นที่ชายขอบของภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนืออาจจะมีฝนน้อยกว่าค่าปกติ ดังนั้นจึงต้องให้ความสำคัญในการวางแผนเพาะปลูกเพื่อป้องกันผลผลิตเกิดความเสียหาย โดยเฉพาะพื้นที่นอกเขตชลประทาน สำหรับเกษตรกรในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หากเริ่มเพาะปลูกในช่วงกลางเดือน ก.ค. จะช่วยลดความเสี่ยงประสบกับปัญหาขาดแคลนน้ำได้ จากนั้นในช่วงเดือน ส.ค. - ต.ค. 67 มีแนวโน้มที่จะมีปริมาณฝนมากกว่าค่าปกติ ซึ่งขณะนี้ สทนช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เร่งดำเนินการตาม 10 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2567 เพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์ลานีญา โดยมาตรการในปีนี้ได้มีการปรับเปลี่ยนจากการบริหารจัดการน้ำแบบรายอ่างเก็บน้ำเป็นการบริหารจัดการน้ำแบบลุ่มน้ำ โดยต้องบริหารจัดการน้ำในอ่างฯ ให้สอดคล้องสัมพันธ์กับปริมาณน้ำในลำน้ำมากที่สุด เพื่อลดผลกระทบการเกิดอุทกภัยในพื้นที่และป้องกันความเสียหายต่อประชาชน โดยเฉพาะผู้ที่อยู่อาศัยในพื้นที่ด้านท้ายของอ่างเก็บน้ำ สำหรับการบริหารจัดการอ่างฯ ในช่วงเดือน พ.ค. จะใช้ฝนคาดการณ์ ONE MAP ซึ่งเป็นข้อมูลการคาดการณ์จากกรมอุตุนิยมวิทยาและ สสน. มาใช้ในการประเมินปริมาณน้ำท่าและวางแผนการบริหารจัดการน้ำ และจะพิจารณาปรับการบริหารจัดการน้ำใหม่อีกครั้งหลังสิ้นเดือน พ.ค. โดยจะมีการติดตามประเมินสถานการณ์ฝนและสภาพอากาศอย่างใกล้ชิดเพื่อให้ได้ข้อมูลฝนคาดการณ์สำหรับการบริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด” เลขาธิการ สทนช. กล่าว

 ดร.สุรสีห์ กล่าวต่อว่า สำหรับสถานการณ์ในช่วงฤดูแล้ง ซึ่งรัฐบาลได้มีความห่วงใยประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาขาดแคลนน้ำ โดยขณะนี้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ โดยเฉพาะสวนผลไม้ที่กรมทรัพยากรน้ำได้เร่งสูบน้ำช่วยเหลือ รวมถึงการระบายน้ำจากอ่างฯ เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำในลำน้ำให้เกษตรกรสามารถสูบไปใช้ได้ พร้อมกันนี้ สทนช. จะยังคงมีการลงพื้นที่เพื่อสำรวจสถานการณ์และหาแนวทางแก้ไขปัญหาในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำอย่างต่อเนื่อง ในส่วนของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ขณะนี้ได้ดำเนินการเปิดหน่วยปฏิบัติการกระจายอยู่ทั่วภูมิภาค โดยจะมีการปฏิบัติการทันทีเมื่อเงื่อนไขของสภาพอากาศมีความเหมาะสม ทั้งนี้ ปัจจุบันมีอ่างฯ ขนาดใหญ่หลายแห่งที่มีปริมาณน้ำค่อนข้างน้อย แต่ปริมาณน้ำทั้งประเทศยังคงเพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศ และคาดว่าปริมาณฝนที่จะตกเพิ่มมากขึ้นในช่วงหลังสิ้นสุดฤดูแล้งจะช่วยเติมปริมาณน้ำต้นทุนให้มีสถานการณ์ดีขึ้น

 “สำหรับสถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูงในช่วงวันที่ 25 – 30 เม.ย. ที่ผ่านมา ตามที่ สทนช. ได้มีการแจ้งเตือนเฝ้าระวัง พบว่า วันที่ 30 เม.ย. 67 แม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณสถานีสูบน้ำสำแลซึ่งใช้สำหรับการผลิตประปาของการประปานครหลวงมีค่าความเค็มสูงเกินมาตรฐาน จึงทำให้น้ำประปาอาจมีรสกร่อยได้ในช่วง 1 – 2 วันนี้ โดยการประปานครหลวงได้มีการแจ้งเตือนกรณีดังกล่าว ทั้งนี้ โรงพยาบาลที่มีการรองรับผู้ป่วยโรคไตที่ต้องเข้ารับบริการฟอกไต จะมีการกรองน้ำผ่านระบบที่ได้มาตรฐานเพื่อให้ปลอดภัยไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ สำหรับน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคขอแนะนำให้ประชาชนในเขตกรุงเทพมหานครซื้อน้ำดื่มบรรจุขวดในช่วงที่น้ำยังมี

รสกร่อย แต่เนื่องจากขณะนี้กรมชลประทานได้มีการระบายน้ำเข้ามาเจือจางความเค็มแล้ว จึงคาดว่าจะสามารถแก้ปัญหาได้โดยเร็วในส่วนของสถานการณ์น้ำเค็มรุกล้ำเข้าสู่คลองประเวศบุรีรมย์และคลองสาขา ปัจจุบันสถานการณ์ดีขึ้นตามลำดับ โดยคาดว่าสถานการณ์ค่าความเค็มในคลองจะคลี่คลายได้ครบทุกแห่งภายในสัปดาห์หน้า อย่างไรก็ตาม คาดว่าช่วงกลางเดือนนี้อาจจะเกิดน้ำทะเลหนุนสูงอีกครั้ง โดย สทนช. จะมีการแจ้งเตือนให้ประชาชนได้ทราบถึงพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบ พร้อมประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเฝ้าระวังใกล้ชิด”