จากกรณี ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสด์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเล และ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เขียนบทความระบุหน้าทะเลที่หน้าเกาะกระดาด ต.เกาะหมาก อ.เกาะกูด จ.ตราด ตายจำนวนกว่า 800 ไร่ ซึ่งมีสาเหตุมาจากภาวะโลกร้อน และน้ำทะเลลดลง นั้น
ล่าสุด วันที่ 1 เม.ย.67 นายภุชงค์ สฤษฎีชัยกุล ผู้อำนวยการศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 1 หรือ ทช. 1 (ระยอง) เปิดเผยว่า จากข้อมูลของนักวิทยาศาสตร์ของ ทช.1 พบว่า สาเหตุหลัก 2 ประการที่ส่งผลกระทบต่อการตายของหญ้าทะเลก็คือ การลดลงของระดับน้ำในหมู่เกาะทะเลตราด ซึ่งส่งผลกระทบต่อสมดุลของหญ้าทะเลที่เกาะกระดาดที่มีอยู่จำนวนมาก ซึ่งในพื้นที่ไม่มีการทำประมงหรือสิ่งใดที่รบกวนการดำรงอยู่ของหญ้าทะเล และอีกสาเหตุหนึ่งก็คือ ปัญหาอุณหภูมิน้ำที่สูงขึ้น เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้หญ้าทะเลดำรงอยู่ไม่ได้ และต้องตายไป ซึ่งต้องยอมรับว่า สภาพภูมิอากาศของโลกเปลี่ยนไป มีผลต่ออุณหภูมิของน้ำทะเล และมีผลต่อการดำรงชีวิตของหญ้าทะเลของเกาะกระดาดโดยตรง
“ปัญหานี้เกิดขึ้นทั่วไปในภาคตะวันออกหรือในพื้นที่อื่นๆเพราะอากาศโลกมันเปลี่ยน อุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้นรวมทั้งน้ำทะเลที่ลดลงทำให้น้ำทะเลแห้ง ซึ่งวันนี้เรื่องคนไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไป เพราะชุมชนเข้มแข็ง อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ ทางอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจะเดินทางมาที่ตำบลเกาะหมากในวันที่ 7 พฤษภาคม 2567 เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง และเข้ามาแก้ปัญหาทั้งเรื่องประการังและหญ้าทะเล พร้อมมอบแนวทางในการช่วยเหลือให้กับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องดูและและฟื้นฟูหญ้าทะเลให้กลับมามีชีวิตอีกครั้งหนึ่ง“
ผู้อำนวยการทช.1 (ระยอง) กล่าวอีกว่า ปัญกาที่จะตามมาในอนาคตก็คือ ปริมาณสัตว์น้ำวัยอ่อนในพื้นที่หมู่เกาะทะเลตราดจะไม่มีที่อยู่อาศัยหรือฟักตัว ซึ่งจะส่งผลต่อปริมาณสัตว์ทะเลในพื้นที่จะมีลดลง และชาวประมงพื้นที่จะขาดรายได้ หรือหากมีความรุนแรงอาจจะต้องยุติอาชีพได้เช่นกัน ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องในพื้นที่ของจังหวัดตราดจังหวัดเดียวแต่มันเป็นปัญหาทั่วไปที่ทรัพยากรเหล่านี้จะได้รับผลกระทบเช่นกัน ทั้งจันทบุรหรือระยองเอง รวมไปถึงภาคใต้ก็เกิดปัญหาทำนองนี้เช่นกัน
นายสันติ ศิริสมบัติ ประมงจังหวัดตราด เปิดเผยว่า ผลกระทบทีทเกิดขึ้นต่อหญ้าทะเลที่ตายไป จะมีผลกระทบต่อแหล่งที่อยู่มแหล่งอนุบาลหรือแหล่งอาหารของสัตว์ทะเลวัยอ่อน ซึ่งเป็นผลกระทบทางตรง เพราะสัตว์วัยอ่อนจะเกิดและเติบโตที่นี่ จากนั้นเมื่อเติบโตแล้วจะออกไปหาอาหารและไปดำรงชีวิตภายนอกต่อไป ซึ่งไม่เพียงเท่านั้น ชาวประมงพื้นบ้านที่ต้องอาศัยและหากินกับสัตว์ชายฝั่งหากสัตว์ทะเลมีน้อยก็จะส่งผลกระทบต่อรายได้ของเขา หากเกิดนานและแก้ไขให้กลับมาไม่ได้ย่อจะเกิดผลกระทบต่อเนื่องเป็นวงกว้าง รวมทั้งสัตว์ทะเลอย่างพะยูน หรือโลมาที่มีชุกชุมในทะเลตราด