นายเจษฎา ประภาสะวัต ผู้อำนวยการเขตบางซื่อ เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากที่นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มีข้อสั่งการให้สำนักงานเขตที่มีพื้นที่ทำการค้าที่กรุงเทพมหานครประกาศอนุญาต 86 จุด ถือปฏิบัติตามประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการกำหนดพื้นที่ทำการค้าและการขายหรือจำหน่ายสินค้าในพื้นที่สาธารณะ หรือที่เรียกว่าจุดผ่อนผันนั้น เมื่อวันที่ 30 เม.ย.ที่ผ่านมาเขตบางซื่อได้มีประชุมพิจารณาทบทวนความเหมาะสมของการเป็นพื้นที่ให้ทำการค้าโดยผ่านคณะกรรมการจัดระเบียบหาบเร่-แผงลอย ระดับเขต โดยมีการพิจารณาจุดทำการค้า 5 จุด ประกอบด้วย จุดที่ 1 ตลาดประจวบบางซื่อ ซอยข้างโรงหนัง ถึงสะพานข้ามคลองเปรมประชากร มีผู้ค้า 39 ราย จุดที่ 2 ตลาดใต้สะพานสูง ถนนเตชะวณิช ตั้งแต่อาคารศูนย์เยาวชน 796 ถึงหน้าอาคารเลขที่ 788 มีผู้ค้า 69 ราย

จุดที่ 3 ตลาดมณีพิมาน ฝั่งถนนประชาชื่น ตั้งแต่หน้าอาคารเลขที่ 2/6 ถึงอาคารเลขที่ 7/7 มีผู้ค้า 12 ราย จุดที่ 4 ถนนกรุงเทพ-นนทบุรี แบ่งเป็นฝั่งขาเข้า หน้าอาคารเลขที่ 25 ถึงหน้าอาคารเลขที่ 155 (ปากซอยบุญเหลือ) มีผู้ค้า 16 ราย และฝั่งขาออก หน้าอาคารเลขที่ 202 ถึงทางเข้าตลาดมณี (ฝั่งถนนกรุงเทพ-นนทบุรี) มีผู้ค้า 31 ราย และจุดที่ 5 หน้าตลาดบางซ่อน ถนนกรุงเทพ-นนทบุรี ตั้งแต่อาคารเลขที่ 963 ถึงอาคารเลขที่ 977/1 มีผู้ค้า 33 ราย ซึ่งคณะกรรมการฯได้มีมติเห็นชอบให้สามารถทำการค้าต่อไปได้  แต่ได้มีการกำชับผู้ค้าให้ปฏิบัติการระเบียบหรือข้อกำหนดเพื่อให้เป็นระเบียบเรียบร้อยไม่สร้างความเดือดร้อน หรือตั้งวางแผงค้ากีดขวางการสัญจรของประชาชน ละกำชับเจ้าหน้าที่เทศกิจให้ลงพื้นที่ตรวจบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ส่วนกรณีที่มีการร้องเรียนยว่ามีผู้ค้าทำผิดหลักเกณฑ์ ไม่มีการทำการค้ามาเป็นเวลานานแต่ยังมีชื่ออยู่ในทะเบียนทำการค้าอยู่นั้นได้มอบหมายให้ฝ่ายเทศกิจดำเนินการตรวจสอบหากเป็นจริงจะมีการยกเลิกรายชื่อผุ้ค้ารายนั้นต่อไปเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ค้าคนอื่นที่ต้องการทำการค้าเข้ามาขายอย่างถูกต้อง

นายเจษฎา กล่าวอีกว่า ปัจจุบันกรุงเทพมหานครได้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นร่างประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดพื้นที่ทำการค้าและการขายหรือจำหน่ายสินค้าบนถนนหรือสถานสาธารณะ พ.ศ.2567 ซึ่งจะนำมาใช้แทนประกาศฉบับ พ.ศ.2563 ซึ่งจะมีความระเอียดและรัดกุมมากขึ้น ซึ่งมีการคาดว่าจะสามารถนำไปบังคับใช้ในปีหน้า ซึ่งผู้ค้าและผู้ช่วยจำหน่ายสินค้า จะต้องแต่งกายสะอาด สวมเสื้อมีแขน สวมผ้ากันเปื้อน สวมรองเท้าหุ้มส้น สวมหมวกหรือเนทคลุมผม ต้องติดบัตรประจำตัวของผู้ค้าและผู้ช่วย จำหน่ายสินค้า ไว้ที่หน้าอกเสื้อด้านซ้าย ตลอดเวลาที่จำหน่ายสินค้า และจุดสำคัญอีกอย่างคือผู้ค้าต้องแสดงใบอนุญาตจำหน่ายสินค้าบริเวณแผงค้าที่เห็นได้ง่าย ตลอดเวลาที่จำหน่ายสินค้า ผู้ค้าต้องยื่นภาษีทุกปี หากรายได้ไม่กิน 180,000 บาท/ปีต้องยกเลิกสัญญาทำการค้ากับเขต เพราะจุดประสงค์ของการเปิดจุดผ่อนผันก็เพื่อให้ผู้มีรายได้น้อย หากผู้ค้ามีกำลังมากพอก็ควรคืนสิทธิให้กับผู้อื่น เชื่อว่าเมื่อร่างฯดังกล่าวประกาศใช้การทำการค้าบนที่สาธารณะจะมีความเป็นระเบียบเรียบร้อยมากขึ้น และเป็นการให้โอกาสแก่ผู้มีรายได้อย่างอย่างแท้จริง