"ภูมิพัฒน์" โต้ "ก้าวไกล" เย็นให้พอรอให้ได้ แนะศึกษา กม.แรงงานให้ถี่ถ้วน ย้ำปรับค่าจ้างขั้นต่ำอย่างมีหลักการ
นายภูมิพัฒน์ เหมือนจันทร์ โฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงกรณีที่นายเซีย จำปาทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวพาดพิงนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน ว่าให้ความหวังลมๆ แล้งๆ เรื่องการปรับค่าจ้างขั้นต่ำว่า นายเซีย ต้องไปศึกษาให้ดีว่าประเทศไทยใช้กฎหมายอะไรในการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ เพราะการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการค่าจ้าง ซึ่งเป็นองค์กรไตรภาคีตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ที่ประกอบด้วย ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง ผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง และผู้แทนฝ่ายรัฐบาล ซึ่งเป็นข้าราชการประจำ ดังนั้น ฝ่ายการเมืองหรือ รมว.แรงงาน จึงไม่สามารถเข้าไปก้าวก่ายหรือทำอะไรได้ตามอำเภอใจ อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นค่าจ้างถือเป็นนโยบายเรือธงของรัฐบาล กระทรวงแรงงานจึงได้รับนโยบายมาปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างเป็นขั้นเป็นตอน และมีหน้าที่อธิบายถึงเหตุความจำเป็นให้คณะกรรมการค่าจ้างเข้าใจในจุดนี้ เพื่อให้ทุกอย่างดำเนินไปอย่างราบรื่น
โดยการให้อำนาจคณะกรรมการไตรภาคีพิจารณานั้นเป็นการปฏิบัติตามกฎหมาย ไม่ใช่การโยนบาป เพราะหากไม่ทำตามกฎหมาย เชื่อว่านายเซีย คงหาเหตุมาโจมตีอีกว่า ฝ่ายการเมืองเข้าไปล้วงลูกหรือแทรกแซงทำให้คณะกรรมการไม่มีอิสระ เช่นนี้กระทรวงแรงงานก็ตกเป็นจำเลยของสังคมทั้งขึ้นทั้งล่อง จึงขอความเป็นธรรมด้วย ที่ผ่านมาเราประกาศปรับค่าจ้างขั้นต่ำเพียงปีละ 1 ครั้ง แต่จากนี้ รมว.พิพัฒน์ ประกาศแล้วว่าสามารถประกาศได้มากกว่านั้นตามสถานการณ์และปัจจัยต่างๆ โดยขอให้นายเซีย รู้จักใจเย็นและอย่านำพี่น้องแรงงานมาอ้างเพื่อเรียกคะแนนให้ตัวเองหรือสร้างความขัดแย้งเพราะคนเหล่านี้เข้าใจดีถึงหลักกฎหมายอยู่แล้ว ความจริงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำนั้นจะถูกกำหนดโดยคำนึงถึงหลักเกณฑ์ตามกฎหมายเพื่อนำมาประกอบกัน เช่น อัตราค่าจ้างปัจจุบัน ดัชนีค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อ ต้นทุนการผลิต ราคาสินค้า ความสามารถของธุรกิจ ผลิตภาพแรงงาน จีดีพีของประเทศ และสภาพเศรษฐกิจสังคม นอกจากนี้ยังกระจายอำนาจไปยังภูมิภาคผ่านคณะอนุกรรมการระดับจังหวัดและกรุงเทพฯ รวม 76 คณะ ซึ่งเป็นองค์กรไตรภาคีเช่นกัน เพื่อทำหน้าที่เสนอแนะอัตราค่าจ้างให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ โดยกระทรวงแรงงานมีเป้าหมายปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท ให้ครอบคลุมทั่วประเทศภายในปีนี้ และจะปรับขึ้นในปีต่อๆไป
“ท่านพิพัฒน์ได้รับฟังเสียงสะท้อนจากทุกฝ่ายทั้งลูกจ้างและนายจ้างบนพื้นฐานของเหตุและผลที่ปฏิบัติได้จริง และประโยชน์ของทุกฝ่าย รวมทั้งเปิดโอกาสให้แต่ละฝ่ายได้ปรับตัวด้วย จึงไม่อยากให้นายเซียใช้ข้อมูลของตัวเองมาตีกินเพียงฝ่ายเดียว และควรทำตัวแบบเย็นให้พอรอให้ได้ คอยดูผลลัพธ์ปลายทางจะดีกว่า ส่วนการออกมาเดินขบวนสังคมนิยมแรงงาน ผนึกกำลังทางชนชั้น เพื่อเสนอข้อเรียกร้องในวันแรงงานนั้นถือเป็นสิทธิที่ทุกคนสามารถทำได้ และเป็นเรื่องที่คนกลุ่มนี้ถนัดอยู่แล้ว” นายภูมิพัฒน์ กล่าว
#ค่าจ้างขั้นต่ำ #แรงงาน #ข่าววันนี้ #ก้าวไกล #ปรับค่าจ้าง #วันแรงงาน #เดือนพฤษภาคม