ปี 2567 จะเป็นปีแรกที่ประเทศไทยมีจำนวนผู้สูงอายุ ที่มีอายุ 60 ปี เพิ่มขึ้น 1 ล้านคน และคาดว่าในปี 2576 ไทยจะมีผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปี สูงถึง 28% ซึ่งจะก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุระดับสุดยอด (Super-Aged Society) หมายถึง สังคมที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป เกินกว่า ร้อยละ 28 ของประชากรทั้งประเทศ หรือเป็นสังคมที่มีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไป เกินกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด
ที่ผ่านมาภาครัฐได้ออกมาตรการณ์เพื่อรับมือกับสังคมสูงวัยหลากหลายมิติ ยิ่งในด้านเศรษฐกิจและสังคม ประเทศไทยเริ่มมีนโยบายเพิ่มระยะเวลาการเกษียณอายุคนทำงาน เช่น จากเดิม 60 ปี เพิ่มเป็น 65 ปี, การสนับสนุนให้บริษัทจ้างงานผู้สูงอายุ, เพิ่มทักษะและการจัดหางานให้เหมาะสมกับแรงงาน, ยกระดับคุณภาพชีวิต รวมถึงวางระบบโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของผู้สูงอายุ ฯลฯ
จากสถานการณ์ประชากรสูงอายุที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดนี้เอง ที่ทำให้ทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญของการสร้างสังคมแห่งการทำงานของผู้สูงอายุในอนาคต ตั้งคำถามและชวนทุกคนออกแบบ ‘งานที่ใช่ งานแบบใด ที่ผู้สูงอายุต้องการ’ ร่วมกันในเวทีสาธารณะ “ดีต่อใจวัยเกษียณ Job แฟร์ - งานของคนชำนาญการ” ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ (สำนัก 9) สสส. ร่วมกับภาคีเครือข่าย กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ThaiPBS) เป็นต้น ในการร่วมขับเคลื่อนงานผู้งอายุ
แรมรุ้ง วรวัธ อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ กล่าวถึงบทบาทของกรมกิจการผู้สูงอายุ ต่อการสร้างอาชีพ สร้างรายได้หลังวัยเกษียณเพื่อรับสังคมสูงวัยว่า คนอายุมากกว่า 60 ปี ปัจจุบันมีสุขภาพแข็งแรงขึ้น และเตรียมพร้อมอย่างดีในการวางแผนสูงอายุ ที่สำคัญคือทุกคนพร้อมที่จะทำงาน โดยรู้รับปรับตัวกับบริบทยุคสมัยรอบตัวที่เปลี่ยนไป
“ที่ผ่านมาเราจะพบว่า ต่อให้อายุ 60 ปี แต่ก็ยังมีรายได้ ทั้งเกิดการจากที่ภาครัฐเราทำงานอย่างเข้มข้น และภาคเอกชนที่ร่วมกันผลักดันและสนับสนุนเชิงนโยบาย ตัวอย่าง การสนับสนุนให้บริษัทจ้างงานผู้สูงอายุ นอกจากนั้น ภาครัฐได้เริ่มตั้งศูนย์บริการจัดหางานผู้สุงอายุ เพื่อส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีงานทำและมีรายได้ที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทที่จ้างผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ในขณะเดียวกันก็เพิ่มทักษะด้านเทคโนโลยี เพื่อให้ผู้สูงอายุรู้เท่าทันกระแสที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วของโลกและยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ”
รัฐบาลทำงานกับหลายภาคส่วนอย่างเข้มข้น ในเชิงนโยบายและโครงสร้าง แต่สิ่งที่สำคัญมาก ๆ ที่อยากชวนทุกคนทำงานไปด้วยกันคือ การเปลี่ยนมุมมองเห็น “ผู้สูงอายุเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีค่า มีทั้งภูมิปัญญา ความชำนาญการ และมีพลังมากกว่ามองว่า ผู้สูงอายุคือวิกฤกตของประเทศ”
แม้ 60 ก็เปลี่ยนได้และเรียนรู้ได้ ประสบการณ์ของของ ป้าจูลี่ - จารีรัตน์ จันทร์ศิริ เจ้าของเพจคุณยายจูลี่มีสาระ ยูทูบเบอร์สาย Health & Beauty วัย 60 ปี ที่รู้รับปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยี แม้จะเป็นเรื่องยาก แต่ป้าจูลี่ก็มองเห็นโอกาสในการสร้างรายได้ให้แก่ตนในวัยเกษียณเช่นเดียวกัน
“สมัยที่เป็นมัคคุเทศก์ เรามั่นใจมากว่าอาชีพนี้แหละจะเป็นอาชีพหลักล่อเลี้ยงเราไปตลอดชีวิต ตอนนั้นเวลาลูกค้าชาวต่างชาติ ถามเราว่ารู้จัก E-mail ไหม? เราคิดเลยว่ามันไม่จำเป็นหรอก โลกจะหมุนก็หมุนไป เรามีความสุขกับปัจจุบันดีที่สุดแล้ว แต่วันหนึ่ง วันที่เรารู้ว่าโลกมันหมุนเร็วมาก จนเราตามไม่ทัน เราจะหยุดอยู่ที่ตรงนั้นไม่ได้ และเริ่มคิดว่าอาชีพที่เราเชื่อมั่นว่ามั่นคงอาจไม่ได้มั่นคงแล้วตามยุคนสมัย แก่แล้วจะทำอย่างไร เพราะอาชีพไกด์ต้องใช้แรง ขึ้นเขาลงหวย เริ่มมามองโลกปัจจุบัน ว่าโลกไปถึงไหน และเริ่มหันมาคุยกับลูก”
ป้าจูลี่เริ่มต้นจากการเรียนรู้จาก Hi5 ใช้วิธีการถามลูก ให้ลูกสอนจนถึงยุค Facebook เริ่มทำ YouTube บันทึกและแบ่งปันเรื่องราวที่มีประโยชน์ให้คนอื่น ตั้งแต่ไม่มีรายได้ จนเริ่มมีผู้ติดตาม และสร้างรายได้ในที่สุด
“เราดึงความชำชาญของเราออกมา เราถนัดเรื่องอะไร สนใจและรู้เรื่องอะไรก็มาแบ่งปันให้คนอื่นรู้ เริ่มจากการเป็นผู้ให้ก่อน แล้วผลลัพธ์อื่น ๆ ก็จะตามมา” ป้าจูลี่ทิ้งท้าย
ในขณะเดียวกันการทำงานขับเคลื่อนสังคมสูงอายุ นอกจากมุมสูงอายุแล้ว ยังมีกลไกของชุมชน โดยมีคนรุ่นใหม่อย่าง มะเหมี่ยว - ปิลันธน์ ไทยสรวง ผู้ก่อตั้งแบรนด์ภูคราม จ.สกลนคร ที่ตั้งใจและทุมเทในการดึงศักยภาพ ภูมิปัญญาท้องถิ่น สู่ธุรกิจที่สร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน
“เหมี่ยวใช้เวลา 10 ปี ในการทำงานกับชุมชน นำประสบการณ์ที่เราเรียนรู้จากข้างนอกกลับมาทำงานที่บ้าน เจอคนทุกเพศทุกวัย ปู่ย่า ตายาย ลุงป้าน้าอา โดยทำผ่านงานผ้า สิ่งแวดล้อม และภูมิปัญญาท้องถิ่น เพราะเชื่อว่าคนที่เก็บสุดยอดความรู้และภูมิปัญญาดีที่สุดคือ ป้า ๆ ยาย ๆ เริ่มจากเข้าไปเรียนรู้ เรื่อยมากจนเริ่มเห็นผลเมื่อเข้าสู่ปีที่ 8”
การทำงานชุมชนไม่ใช่เพียงแค่การทำงานผ่านโปรดักส์ แต่เป็นการทำกระบวนการที่ยาวนานในการสร้างการมีส่วนร่วม รับฟังและเข้าใจความต้องการของชุมชน โดยเป้าหมายคือ การที่ทำให้ชุมชนเห็นคุณค่าของตนเอง รับรู้และภูมิใจในภูมิปัญญาที่สามารถเปลี่ยนเป็นมูลค่าได้ ซึ่งไม่ได้หมายถึงการเปลี่ยนเชิงโครงสร้างรูปธรรมเพียงอย่างเดียว แต่หมายถึงการทำงานเปลี่ยนโครงสร้างภายในใจด้วย
ด้าน แสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ชี้ให้เห็นถึงแนวทางในการเสริมทักษะสู่การเป็นผู้ประกอบการในวัยเกษียณ การปรับตัวเป็นสิ่งสำคัญ มีการสำรวจออกมาว่า ผู้สูงอายุที่มีความต้องการพัฒนาสู่แรงงานมีฝีมือและต้องการทักษะเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งมีมากถึง 4 แสนราย
“อยากชวนทุกคนทำงานร่วมกันผ่าน 5ส ในการขับเคลื่อนเรื่องงานของผู้สูงอายุ ที่ต้องทำงานร่วมกัน และส่งผลได้ในระยะยาว ส 1 สุขภาพ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ สุขภาพกายใจดี สิ่งอื่นที่ดีก็จะตามมาเช่นกัน ส 2 สภาพแวดล้อม และที่อยู่อาศัย บ้านดี เอื้อต่อการใช้ชีวิต ส 3 สังคม ที่ยอมรับผู้สูงอายุในการอยู่ร่วมกันอย่างเท่าเทียม ส 4 เศรษฐกิจ หน่วยงานทุกส่วนต่างทำ ทั้งในเชิงโครงสร้างนโยบาย เอกชนพัฒนาผีมือแรงงานอย่างเข้มข้น และมองว่าแรงงานสูงวัยเป็นกำลังหนึ่งที่สำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ และ ส 5 สร้างสรรค์ ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการขับเคลื่อนของตัวเองให้มีความยั่งยืนต่อไป” แสงชัยกล่าว
สังคมสูงวัย เป็นเรื่องที่ต้องคุยกันต่อเนื่อง สมเกียรติ จันทรสีมา ผู้อำนวยการสำนักเครือข่ายสื่อสาธารณะและการมีส่วนร่วม องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ThaiPBS) ชี้ให้เห็นถึงบทบาทสื่อในการทำงานสื่อสารเรื่องสังคมสูงวัย ไม่เพียงแค่เรื่องการพัฒนากำลังฝีมือแรงงาน แต่ก็ยังรวมถึงการขับเคลื่อนและทำงานกันต่อในมิติอื่น ๆ เพื่อให้เหล่าผู้สูงวัยมีหลักประกันทางสังคมภายใต้การทำงาน รวมถึงทำงานร่วมกันของกับวัยอื่น ๆ อย่างมีความสุข ซึ่งเป็นทิศทางใหญ่ของสังคมโดยมีรัฐบาลเป็นแกนหลัก ร่วมกับภาคีเครือข่ายในการทำงานเรื่องนี้ต่อไป