วันที่ 30 เมษายน 2567  ที่โรงแรมดิอิมพีเรียลโฮเทล อ.เมือง จ.นครราชสีมา นายสมชาย วรรธนะสุพร นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เมืองคง อ.คง จ.นครราชสีมา จัดการประชุมกลุ่มการจัดการขยะมูลฝอย (cluster) พื้นที่นครราชสีมา ตอนบน ขณะรอผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จำนวน 129 แห่ง พื้นที่ 17 อำเภอ ประกอบด้วย อ.คง อ.โนนไทย อ.โนนแดง อ.แก้งสนามนาง อ.สีดา อ.บ้านเหลื่อม อ.ขามสะแกแสง อ.พระทองคำ อ.โนนสูง อ.เฉลิมพระเกียรติ อ.จักราช อ.บัวใหญ่ อ.บัวลาย อ.ประทาย อ.ชุมพวง อ.เมืองยาง และ อ.ลำทะเมนชัย เดินทางมารับฟังการชี้แจงความคืบหน้าและการปรับปรุงข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ให้เป็นปัจจุบัน กรณี อบต.เมืองคง ได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงมหาดไทย ให้จัดหาเอกชนมาลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้ากำจัดขยะมูลฝอยชุมชนโดยนำไปใช้ผลิตไฟฟ้า รูปแบบนำขยะมูลฝอยในกลุ่ม อปท.ดังกล่าว ปริมาณรวมต่อวัน 540 ตัน ใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าขนาดไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ เพื่อแก้ปัญหาการจัดการขยะมูลฝอยชุมอย่างยั่งยืน งบประมาณ 1,800 ล้านบาท

โดย พ.ต.อ ดำรงศิลป์ ดวงกลาง ข้าราชการตำรวจบำนาญ แกนนำคนโคราชไม่เอาโรงไฟฟ้าขยะพร้อมชาวบ้านที่มีบ้านพัก ที่ทำกินในละแวกที่ตั้งโรงงาน พิกัด ต.พะงาด อ.ขามสะแกแสง เดินทางมาคัดค้านการดำเนินโครงการ ฯ โดยมี พ.ต.อ สุทธินันท์ คงแช่มดี ผกก.สภ เมือง สนธิกำลังทั้งในและนอกเครื่องแบบดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย ได้นำแผงเหล็กและใช้เครื่องกั้นปิดทางเข้าพร้อมคัดกรอง ห้ามผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องผ่านเข้าไปอย่างเด็ดขาด มวลชนร่วม 100 คน จึงยืนถือป้ายไวนิลพร้อมส่งเสียงโห่ร้องสำแดงพลังไม่เอาโรงไฟฟ้าขยะและระหว่างรถยนต์ของแต่ละ อปท.แล่นเข้ามาด้านใน มวลชนได้ร้องขอให้ทบทวนการร่วมบันทึกข้อตกลง (MOU) ซึ่งมีหลาย 10 อปท. จอดรถด้านนอกแล้วให้ผู้บริหารเดินเข้าด้านหลัง เกรงอาจส่งผลเชิงลบในการเลือกตั้งสมัยหน้า

ต่อมา พ.ต.อ ดำรงศิลป์ แกนนำได้มาพูดคุยกับผู้บริหาร อบต.เมืองคง ในฐานะเจ้าของโครงการ เพื่อขออนุญาตเข้าไปสังเกตการณ์ด้านใน แต่ไม่มีคำตอบใดๆ อ้างขอหารือกันก่อนพร้อมให้ผู้บริหาร อปท.129 แห่ง ดำเนินกิจกรรมซึ่งเป็นไปด้วยความราบรื่น ปล่อยให้มวลชนปักหลักอยู่ด้านหน้าแยกย้ายเดินทางกลับ เนื่องจากส่วนหนึ่งเป็นผู้หญิงและผู้สูงอายุเกรงสภาพอากาศร้อนอบอ้าวจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพ

พ.ต.อ ดำรงศิลป์ เปิดเผยว่า โรงงานตั้งอยู่ใกล้ชุมชนและแหล่งน้ำสาธารณะใช้อุปโภค บริโภค จึงกลัวผลกระทบสิ่งแวดล้อม ทั้งกลิ่นเหม็น น้ำเสียและมลพิษควันท่อไอเสียจากรถขนขยะที่ต้องเข้าไปเทขยะวันละกว่า 100 เที่ยว ร้องขอให้ไปสร้างที่อื่น แต่ไม่เป็นผล จึงรวมตัวยื่นหนังสือพร้อมรายชื่อชาวบ้าน 2,666 คน กับ ผวจ.นครราชสีมา และ รมว.มหาดไทย รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง แต่นายทุนนำผู้นำชุมชนและชาวบ้านเดินทางดูงานโรงขยะหนองแขม กรุงเทพมหานคร พร้อมให้เบี้ยเลี้ยงค่าเดินทาง เพื่อไม่ให้พูดความจริงที่เป็นผลกระทบปัญหาสิ่งแวดล้อม รวมทั้งผู้มีอำนาจไม่ยอมฟังเสียงชาวบ้านแต่อย่างใด อนุญาตให้ดำเนินโครงการต่อ

ไทม์ไลน์ วันที่ 24 พฤษภาคม 2565 ได้จัดประชาพิจารณ์ที่ อบต.เมืองคง ชาวบ้านในพื้นที่คัดค้านจนไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ ต้องมาขอใช้พื้นที่ อบต.โนนไทย อ.โนนไทย ก็ถูกชาวบ้านรวมตัวคัดค้านอีก เนื่องจากกระบวนการไม่ชอบมาพากล จ.นครราชสีมา มีคำสั่งไม่ให้ดำเนินโครงการ ต่อมา อบต.เมืองคง และบริษัทเอกชนย้ายโครงการมาปักหมุดที่ ต.พะงาด อ.ขามสะแกแสง และจัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียที่หอประชุม อ.ขามสะแกแสง มีชาวบ้านเข้าร่วมกว่า 1 พันคน ระหว่างเปิดโอกาสให้กลุ่มเห็นต่างซึ่งเป็นห่วงปัญหาสิ่งแวดล้อมแสดงความคิดเห็นได้มีมือดีปิดไมค์ทำให้เกิดความโกหลาหนทั้งลุกขึ้นชูป้ายประท้วงและเสียงโห่ร้องอื้ออึง เจ้าหน้าที่ตำรวจและอาสาสมัครรักษาดินแดน (อส.) ได้สนธิกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยได้ขอให้กลุ่มผู้ประท้วงออกมาหอประชุมโดยใช้รถกระบะติดเครื่องขยายเสียงไฮด์ปาร์ค เหลือชาวบ้าน 2-300 คน อ้างเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เนื่องจากมีบ้านพักและที่ทำกินในรัศมีไม่เกิน 3 กิโลเมตร ยกมือเห็นชอบให้ดำเนินโครงการ