เมื่อวันที่ 29 เม.ย.67 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปยังหอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ทรงเปิดการแข่งขันภูมิศาสตร์โอลิมปิก ระดับชาติ ครั้งที่ 6 ซึ่งมูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ หรือ สอวน. ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และ “ศูนย์ภูมิศาสตร์โอลิมปิก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์” ภาควิชาภูมิศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ เป็นเจ้าภาพร่วมจัดการแข่งขันภูมิศาสตร์โอลิมปิกระดับชาติ ครั้งที่ 6 ระหว่างวันที่ 28 เมษายน ถึง วันที่ 3 พฤษภาคม พุทธศักราช 2567 ณ ศูนย์ภูมิศาสตร์โอลิมปิก สอวน. มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ เพื่อยกระดับการศึกษาด้านภูมิศาสตร์ ซึ่งเป็นสาขาหนึ่งในหมวดวิทยาศาสตร์ประยุกต์ ที่ใช้อธิบายปรากฏการณ์เชิงพื้นที่ในด้านต่าง ๆ  ทั้งทางธรรมชาติ  ทางสังคมและวัฒนธรรม ตลอดจนการอธิบายถึงปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และสิ่งแวดล้อม เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาและกำหนดแนวทางการพัฒนาทั้งในระยะสั้น และระยะยาว ให้สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน ขององค์การสหประชาชาติ โดยมีศาสตราจารย์เกียรติคุณพีระศักดิ์ ศรีนิเวศ อุปนายกสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พร้อมด้วย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ.จรัส สุวรรณเวลา รองประธานมูลนิธิ สอวน. ดร.ดำรงค์ ศรีพระราม รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นท.หญิง ดร.งามลมัย ผิวเหลือง คณบดีคณะสังคมศาสตร์ รองศาสตราจรย์ ดร.พินิติ รตะนานุกูล เลขาธิการมูลนิธิ สอวน. กรรมการมูลนิธิ สอวน.และคณะกรรมการจัดการแข่งขัน เฝ้ารับเสด็จฯ

การแข่งขันภูมิศาสตร์โอลิมปิก ระดับชาติ เป็นการแข่งขันทางวิชาการ เปิดโอกาสให้นักเรียนผู้มีความสนใจ และมีความรู้ความสามารถในวิชาภูมิศาสตร์ในระดับสูง ได้ทดสอบความรู้ และมีประสบการณ์ในการแข่งขัน เพื่อเตรียมความพร้อมให้แก่นักเรียนที่จะเป็นผู้แทนประเทศไทยไปเข้าร่วมการแข่งขันภูมิศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ครั้งที่ 20 ณ เมืองเมย์นูธ และ เมืองดับลิน ประเทศไอร์แลนด์ ในการแข่งขันครั้งนี้  มีนักเรียนตัวแทนจากทุกศูนย์ภูมิศาสตร์โอลิมปิกทั่วประเทศ จำนวน 15 ศูนย์ ประกอบด้วย ศูนย์มหาวิทยาลัย 7 ศูนย์ ศูนย์โรงเรียน 8 ศูนย์ เข้าร่วมการแข่งขัน รวมทั้งสิ้น 103 คน อาจารย์หัวหน้าทีมและรองหัวหน้าทีม จำนวน 33 คน  และมีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นคณะกรรมการจัดการสอบและตัดสินผลการแข่งขันภูมิศาสตร์โอลิมปิกระดับชาติ การแข่งขันใช้หลักเกณฑ์มาตรฐานเดียวกันกับการแข่งขันภูมิศาสตร์โอลิมปิกระดับนานาชาติ กำหนดให้โจทย์ในข้อสอบและการตอบข้อสอบ เป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด โดยมีการสอบ 3 หัวข้อเรื่อง ได้แก่ ภูมิศาสตร์กายภาพ ภูมิศาสตร์มนุษย์ และภูมิศาสตร์เทคนิค ในรูปแบบการสอบข้อเขียน  การสอบภาคสนาม และ การสอบแบบมัลติมิเดีย โดยศูนย์ภูมิศาสตร์โอลิมปิก สอวน. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันให้เป็นไปอย่างมีมาตรฐาน มีความยุติธรรม โปร่งใส และให้ความเสมอภาคแก่ผู้เข้าแข่งขันทุกคน

โอกาสนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำรัส ความว่า สาขาวิชาภูมิศาสตร์เป็นศาสตร์ที่มีการประยุกต์เทคนิควิธีการทางภูมิศาสตร์ และเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ ร่วมกับการใช้แนวคิดและทฤษฎีทางภูมิศาสตร์ ในการอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ  บนโลก ทั้งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ และที่มนุษย์สร้างขึ้น โดยใช้หลักการวิเคราะห์เชิงพื้นที่และมุมมองเชิงสหวิทยาการ เป็นพื้นฐานสำคัญ ในโลกยุคปัจจุบันที่มีสภาวะความแปรปรวนของภูมิอากาศ และการเกิดภัยพิบัติที่มีความรุนแรงมากขึ้นจากอดีตเป็นอย่างมาก นักภูมิศาสตร์สามารถนำสาระความรู้เชิงระบบ ในด้านภูมิศาสตร์กายภาพ ภูมิศาสตร์มนุษย์ ภูมิศาสตร์ภูมิภาค และเทคนิคทางภูมิศาสตร์ ไปบูรณาการร่วมกับความรู้จากสาขาวิชาอื่น อาทิ ปฐพีวิทยา อุตุนิยมวิทยา สังคมวิทยา การแพทย์ และศาสตร์อื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจในปรากฏการณ์ดังกล่าว ทั้งที่เกิดขึ้นในระดับท้องถิ่น ระดับภาค ระดับประเทศ หรือระดับโลก ทั้งที่เกิดขึ้นในพื้นที่บริเวณเดียว หรือที่เกิดขึ้นและมีผลกระทบต่อพื้นที่ข้างเคียงหรือกระทบต่อพื้นที่ในระดับกว้าง เมื่อมีการนำแนวคิดทฤษฎีทางภูมิศาสตร์ มาใช้ตีความร่วมกับการประยุกต์เทคนิควิธีการทางภูมิศาสตร์ และเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ ที่เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ ‘ภูมิศาสตร์’ จึงเป็นศาสตร์ที่ช่วยให้เกิดความเข้าใจใน สาเหตุ ลักษณะ และรูปแบบเชิงพื้นที่ของการเกิดปรากฏการณ์ ณ เวลานั้น รวมทั้งยังสามารถคาดการณ์แนวโน้มของปรากฏการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ เพื่อให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องสามารถรับมือแก้ไขปัญหา และวางแผนพัฒนาพื้นที่ได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมกับสถานการณ์

จากนั้น เสด็จทอดพระเนตรนิทรรศการแสดงผลงานทางวิชาการของนิสิตและคณาจารย์ ภาควิชาภูมิศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่เป็นการประยุกต์แนวคิดทฤษฏีทางภูมิศาสตร์ และเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศในการวิจัยเชิงพื้นที่ในส่วนต่างๆ ของประเทศไทย ที่สะท้อนกระบวนการเรียนรู้จากการลงมือทำ ด้วยการจัดการเรียนการสอนในหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภูมิศาสตร์และภูมิสารสนเทศศาสตร์ ที่มีเป้าหมายในการผลิต ‘บัณฑิตผู้มีความรู้ ความสามารถ และทักษะ ในการประยุกต์แนวคิดทฤษฏีทางภูมิศาสตร์ และเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ เพื่ออธิบายปรากฏการณ์เชิงพื้นที่ที่เกิดขึ้นบนโลกได้อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ และเหมาะสมกับสภาวการณ์โลกในปัจจุบัน