ทุกปีในช่วงฤดูร้อน ทุกชีวิตบนโลกใบนี้ต้องเผชิญกับคลื่นความร้อนและอุณหภูมิที่สูงขึ้นต่อเนื่องจาก “ภาวะโลกร้อน” (Global Warming) และหลายครั้งที่เราเห็นคนร้อนจนเจ็บป่วยหรือเกิดความเครียดและแสดงอาการออกมาในหลายรูปแบบ พืชและสัตว์ ก็อยู่ในสถานการณ์ที่ไม่แตกต่างกัน เช่น ผัก อาจยืนต้นเหี่ยวเฉาตาย ส่วนสัตว์ก็จะมีความไม่สบายตัว เครียด ไม่กินอาหารแต่กินน้ำมากกว่าปกติ เพื่อระบายความร้อน ซึ่งจะมีผลต่อการเติบโตและทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยกว่าปกติ
ช่วงที่ผ่านมา ถือว่าเป็นช่วงประจวบเหมาะที่ภาคปศุสัตว์ ทั้งหมู ไข่ไก่ ไข่เป็ด ทยอยปรับขึ้นราคาตามปริมาณผลผลิตที่ลดลงและต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ซึ่งเป็นการปรับตามกลไกตลาด เพราะต้นทุนการผลิตสูงขึ้นแต่จับสัตว์น้อยกว่าปกติ หรือ สัตว์ให้ผลผลิตที่มีขนาดเล็กลง แต่ช่วงหลังจากเดือนเมษายน ย่างเข้าฤดูฝนอากาศเย็นลง สัตว์สบายตัวกินอาหารได้ปกติ ผลผลิตก็จะดีขึ้นราคาจะปรับลงตามกลไกอุปสงค์-อุปทาน เป็นวัฏจักรราคาเช่นนี้ทุกปี
อย่างไรก็ตาม การปรับราคาขึ้นแต่ละครั้งย่อมส่งผลทางจิตวิทยาต่อความรู้สึกของผู้บริโภค โดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัวทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยก็ยังอยู่ในวังวนนี้ “ข้าวของแพง ค่าครองชีพสูง” ขณะที่อาหารยังเป็นปัจจัยหลักในการดำรงชีวิตของมนุษย์ ราคาจึงเป็นเรื่องอ่อนไหวต่อการตัดสินใจเลือกซื้อ โดยเฉพาะหมู ไข่ไก่ ไข่เป็ด ล้วนเป็นอาหารหลักของคนไทย แม้ขยับขึ้นเพียงเล็กน้อยก็มีเสียงสะท้อนกลับมาทันที
ย้อนหลังไป 5 ปี (2562-2566) หากพิจารณาต้นทุนการผลิตสุกรเฉลี่ย จะพบว่าอยู่ระหว่าง 64.54-100 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มอยู่ที่ 66.60-115 บาทต่อกิโลกรัม โดยราคาขายปลีกสุกร (ไม่ตัดแต่ง) อยู่ที่ 134.69 – 182.62 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ไตรมาสแรกของปี 2567 ราคาต้นทุนอยู่ที่ 80 บาท ราคาหน้าฟาร์ม 72-78 บาท (ตัวเลขสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ) และราคาขายปลีก 127.88 บาท (ตัวเลขกรมการค้าภายใน) ตามลำดับ เห็นได้ว่าต้นทุนสูงขึ้นมาก สวนทางกับราคาขายปลีกที่ต่ำกว่าเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา ราคาจึง “ไม่แพงอย่างที่คิด” หากแต่ต้นทุนการผลิตและราคาที่เกษตรกรขายได้ใกล้เคียงกันมาก ส่วนราคาขายปลีกก็เป็นราคาที่สมเหตุสมผล
หากเปรียบเทียบไข่ไก่ในช่วงเวลาเดียวกันกับสุกร ราคาไข่ไก่มีต้นทุนการผลิตเฉลี่ยที่ 2.63-3.67 บาทต่อฟอง ราคาไข่คละหน้าฟาร์ม 2.79-3.53 บาทต่อฟอง ไข่ไก่เบอร์ 3 ขายปลีกที่ 3.20-4.23 บาทต่อฟอง แม้ราคาจะเพิ่มทุกรายการแต่ก็ปรับเพิ่มในระดับต่ำเมื่อเทียบกับสินค้าอุปโภค-บริโภครายการอื่นๆ และไข่ไก่ยังเป็นโปรตีนคุณภาพสูงที่สามารถเข้าถึงได้ง่ายที่สุดทั้งราคาและปริมาณมีเพียงพอต่อความต้องการ
ที่สำคัญ กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าภายใน ทำหน้าที่เป็นเกราะป้องกันผู้บริโภคอย่างดีมาโดยตลอด ดูแลและกำกับการปรับราคาสินค้าแต่ละครั้งให้สอดคล้องกับโครงสร้างต้นทุนการผลิต โดยถ่วงน้ำหนักของวัตถุดิบและปัจจัยการผลิตตามหลักวิชาการ ให้การปรับราคาสมดุลและเป็นธรรมที่สุดทั้งผู้ซื้อและผู้ผลิต ไม่ให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบหรือกักตุนสินค้า จนเกิดการขาดแคลนและมีราคาสูงจากการเก็งกำไร
ทั้งนี้ สังคมต้องเข้าใจตรงกันว่า ในห่วงโซ่การผลิตและห่วงโซ่การค้า มีผู้เกี่ยวข้องหลายภาคส่วน อีกทั้งสินค้าแต่ละชนิด กว่าจะถึงมือผู้บริโภคต้องผ่านหลายขั้นตอน จากฟาร์มหรือโรงงาน สู่ตัวแทนจำหน่ายหรือพ่อค้าคนกลาง สู่ร้านค้าหรือผู้ค้ารายย่อย ซึ่งแต่ละช่วงจะมีค่าบริการ ค่าขนส่งและค่าใช้จ่ายอื่นๆ เพิ่มขึ้น สินค้าแต่ละรายการจึงมีการบวกราคาเพิ่มเป็นทอดๆ ผู้บริโภคจึงไม่สามารถซื้อสินค้าได้ในราคาเดียวกับที่ประตูโรงงาน กรมการค้าภายใน จึงทำหน้าที่ติดตามและกำกับราคาให้เหมาะสมตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงปลายทางให้เป็นธรรมกับผู้บริโภค ขณะเดียวกันผู้ผลิตต้องมีกำไร มีเงินทุนหมุนเวียนเพียงพอเพื่อดูแลพนักงาน ให้ห่วงโซ่การผลิตดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง สร้างเสถียรภาพทั้งปริมาณและคุณภาพ อย่างเพียงพอ ไม่ขาดแคลน สร้างความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืนให้กับคนไทย
โดย : สมสมัย หาญเมืองบน นักวิชาการอิสระ