วันที่ 29 เม.ย.67 ที่ศูนย์บริหารจัดการขยะ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) จังหวัดระยอง นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ศึกษาการบริหารจัดการโรงขยะไฟฟ้าต้นแบบ ด้วยเทคโนโลยีจากประเทศฟินแลนด์ ซึ่งมีจุดเด่นคือการใช้เครื่องจักรทำงานเป็นหลัก จะใช้บุคลากรเฉพาะส่วนควบคุมและซ่อมบำรุงเครื่องจักรเท่านั้น เป็นการใช้เทคโนโลยีทำงานแทนคน โดยโรงขยะดังกล่าว รับขยะสดได้วันละ 500 ตัน จากขยะทั้งหมดในจังหวัดระยองวันละ 1,000 ตัน เพื่อนำมาลงบ่อคัดแยก จากนั้นจะใช้เครื่องจักรคีบขยะที่ควบคุมการทำงานโดยคน ในการขนย้ายขยะจากบ่อพักเข้าสู่ระบบคัดแยกตามสายพานต่อไป โดยเครื่องคีบดังกล่าวสามารถคีบขยะสูงสุดครั้งละ 2.5 ตัน

 

ส่วนขยะที่แยกได้จากทั้งหมด 500 ตันต่อวัน แบ่งเป็นขยะอินทรีย์ร้อยละ 40 นำไปหมักก๊าซชีวภาพ ขยะเชื้อเพลิงร้อยละ 40 นำไปเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า และขยะที่เผาไหม้ไม่ได้ ต้องฝังกลบร้อยละ 20 เช่น แก้ว เศษหิน เป็นต้น

 

นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม เผยว่า ปัจจุบัน ที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช ของ กทม. มีโรงแยกขยะลักษณะเดียวกันกับที่ อบจ.ระยอง ส่วนศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม ใช้วิธีรวบรวมขยะนำไปคัดแยกที่ศูนย์กำจัดมูลฝอย จ.นครปฐม อย่างไรก็ตาม แต่ละศูนย์ฯ มีระบบสายพานลำเลียงขยะ แต่ยังใช้บุคลากรเป็นหลักในการควบคุมการคัดแยก ยังไม่มีเครื่องจักรหรือเทคโนโลยีสมบูรณ์ในส่วนนี้

 

นายชัชชาติ กล่าวว่า ศูนย์บริหารจัดการขยะแห่งนี้ จัดทำเพื่อศึกษาดูงานการคัดแยกขยะด้วยเทคโนโลยีโดยเฉพาะ ทุกกระบวนการใช้เครื่องจักรในการคัดแยกทั้งหมด โดยไม่เกิดกลิ่นรบกวนชุมชนรอบข้าง สิ่งสำคัญของการแยกขยะคือ เพื่อผลิตเชื้อเพลิงที่เผาไหม้ได้ (RDF) โดยการคัดแยกขยะที่เผาไหม้ได้ออกจากขยะอินทรีย์ เศษโลหะ และขยะที่เผาไหม้ไม่ได้ เช่น ขวดแก้ว กรวดหิน ทั้งนี้ได้สั่งการให้สำนักสิ่งแวดล้อมนำตัวอย่างไปปรับปรุงให้ดีขึ้น

 

“ในยุโรปมีการพัฒนาเครื่องมือในการบริหารจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพ และหลายจังหวัดก็มีการบริหารจัดการขยะที่ดี กทม.ต้องมาเรียนรู้ เพื่อนำไปปรับปรุงให้ดีขึ้น ปัจจุบันกรุงเทพมหานครมีขยะที่จัดเก็บได้ประมาณวันละ 9,000 ตัน ซึ่งศูนย์กำจัดมูลฝอยและกระบวนการกำจัดขยะยังพบปัญหาอยู่ เช่น การบริหารโรงกำจัดขยะไฟฟ้าใกล้ชุมชน และการควบคุมกลิ่นรบกวน” ผู้ว่าฯกทม.กล่าว