หากกล่าวถึง “สหรัฐอเมริกา” ต้องถือว่าเป็นพี่เบิ้มใหญ่ของกลุ่มประเทศเสรีประชาธิปไตย นับตั้งแต่หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา
ไม่ใช่แต่ทางการ คือ รัฐบาลวอชิงตัน เท่านั้น แม้แต่ประชาชนทั่วไปในสหรัฐฯ ก็กระตือรือร้นในระบอบประชาธิปไตยเป็นอย่างมาก
ถึงขนาดกล่าวขวัญเป็น “ ดินแดนแห่งเสรีภาพ” ควบคู่ไปกับการให้ความสนใจในเรื่องการเมืองประเทศของตน
ทว่า สถานการณ์และบรรยากาศของการให้ความสนใจด้านการเมืองของประชาชนคนอเมริกัน ณ ชั่วโมงนี้ ดูท่าจะแตกต่างจากอดีตที่เคยเป็นมา โดยให้ความสนใจในการเมืองประเทศของพวกเขาน้อยลง และเป็นการลดน้อยถอยลงมาเรื่อยๆ เป็นลำดับ
กระทั่ง ล่าสุด บรรดานักวิเคราะห์ถึงขั้นใช้คำว่า สนใจกันน้อยอย่างสุดๆ เป็นประวัติการณ์
ภายหลังจากทราบผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนชาวอเมริกันเกี่ยวกับความสนใจในทางการเมืองประเทศของพวกเขาเอง
โดยสถานีโทรทัศน์สำนักข่าวเอ็นบีซี หรือเอ็นบีซีนิวส์ ซึ่งมีที่ตั้งสำนักงานใหญ่อยู่ในมหานครนิวยอร์ก รัฐนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐฯ ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนชาวอเมริกันกลุ่มตัวอย่าง เมื่อช่วงสัปดาห์ก่อนหน้า
ทั้งนี้ ทาง “เอ็นบีซีนิวส์” ยังได้พุ่งเป้าไปที่กลุ่มตัวอย่างที่มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเป็นประการสำคัญ ซึ่งจะมีผลต่อผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่จะมีขึ้นในปลายปีนี้โดยตรง
ผลการสำรวจความคิดเห็น ปรากฏว่า อเมริกันชนสนใจในการเมืองน้อยลงเป็นประวัติการณ์ลง เมื่อเปรียบเทียบจากการสำรวจครั้งก่อนๆ ท่ามกลางสถานการณ์และบรรยากาศการเมืองของสหรัฐฯ เข้าสู่โหมดเลือกตั้งประธานาธิบดี ที่จะมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายนปลายปีนี้
จากตอบคำถามของกลุ่มตัวอย่าง ระบุว่า มีความสนใจในการเมืองเป็นอย่างมาก มีจำนวนร้อยละ 64 หรือคิดเป็น 6 ใน 10 ไม่ถึง 7 ใน 10 ตามค่าประมาณการ
แม้ตัวเลขข้างต้นจะยังถือว่า เป็นจำนวนเสียงส่วนใหญ่ คือ เกินกว่าร้อยละ 50 หรือมากกว่าครึ่ง แต่ก็เป็นตัวเลขที่น้อยกว่าการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อปี 2020 (พ.ศ. 2563) หรือเมื่อ 4 ปีก่อน ที่ในครั้งนั้นตัวเลขของชาวอเมริกันสนใจการเมืองมีจำนวนมากถึงร้อยละ 77 หรือเกือบ 8 ใน 10 เลยทีเดียว
ทั้งนี้ ตัวเลขความสนใจการเมืองร้อยละ 64 ข้างต้น ก็ยังถือว่าลดต่ำลงเมื่อเปรียบเทียบกับการสำรวจความคิดเห็นของชาวอเมริกันเมื่อเดือนก่อนหน้าด้วย ที่ตัวเลขอยู่ที่ร้อยละ 67 หรือเกือบ 7 ใน 10 ตามค่าประมาณการ
ในการสำรวจความคิดเห็นครั้งนี้ ทาง “เอ็นบีซีนิวส์” ยังพบด้วยว่า เหตุปัจจัยที่ทำให้ชาวอเมริกัน มีความสนใจการเมืองลดลงข้างต้น ก็มาจากความไม่พึงพอใจต่อผู้สมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ จากทั้งสองพรรคที่กำลังดำเนินการขับเคี่ยวรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ณ ชั่วโมงนี้อีกด้วย
นั่นคือ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐฯ คนปัจจุบัน ที่ลงชิงชัยเพื่อรักษาเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐฯในนามพรรคเดโมแครตต่ออีกสมัย และนายโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ สมัยที่แล้ว ที่ขอล้างตา สางแค้น ต่อประธานาธิบดีไบเดน ด้วยการลงสมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในนามพรรครีพับลิกัน เพื่อกลับเข้าสู่ทำเนียบขาวให้ได้ในอีกคำรบ
เรียกว่า ความไม่ชอบ ความไม่พึงพอใจ ที่มีสองผู้สมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในครั้งนี้ มีผลต่อความกระตือรือร้นที่จะสนใจในการเมืองของเหล่าชาวอเมริกันชนด้วยเหมือนกัน ตามการรายงานของสถานีโทรทัศน์สำนักข่าวเอ็นบีซีนิวส์
โดยผลการสำรวจความคิดเห็นกลุ่มตัวอย่างชาวอเมริกันที่มีสิทธิลงคะแนนเสียง เกี่ยวกับความนิยมชื่นชอบที่มีต่อประธานาธิบดีไบเดน ล่าสุด ก็เหลือเพียงร้อยละ 38 เท่านั้น
ทั้งนี้ ตัวเลขที่ออกมาข้างต้น ก็ถือเป็นอีกครั้ง ที่คะแนนนิยมของประธานาธิบดีไบเดนต่ำกว่าร้อยละ 40 หรือเหลือไม่ถึงร้อยละ 40 จากเดิมที่เริ่มขยับขึ้นมาเหนือร้อยละ 40 ในการสำรวจความคิดเห็นครั้งก่อนหน้า
เช่นเดียวกับตัวเลขความพึงพอใจที่มีต่ออดีตประธานาธิบดีทรัมป์นั้น ก็อยู่ในระดับเดียวกับประธานาธิบดีไบเดน คือ ร้อยละ 38 เช่นกัน
เหตุปัจจัยที่ทำให้ตัวเลขความพึงพอใจของสองผู้สมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งนี้ ต่ำเตี้ยเรี่ยดินอย่างที่เห็น ก็มาจากเรื่องส่วนตัวของผู้สมัครฯทั้งสองเองหลายประการด้วยกัน
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอายุอานามที่ทั้งสองมีอายุมากแล้ว โดยอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ ปัจจุบันมีอายุ 77 ปี ขณะที่ ประธานาธิบดีไบเดน ก็มากถึง 81 ปี
ปัญหาส่วนตัวของสองผู้สมัครฯ โดยอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ ก็เผชิญหน้ากับคดีความต่างๆ ถึง 34 – 37 กระทงด้วยกัน ซึ่งมีทั้งคดีแพ่ง และคดีอาญา โดยคดีอาญาที่อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ รายนี้เผชิญ ถ้าหากศาลพิจารณาลงโทษสูงสุดก็อาจจะเจอคุก 4 ปี ในแต่ละกระทง
ขณะที่ นายไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนปัจจุบัน ซึ่งมีอายุ 81 ปีแล้วนั้น ก็มีปัญหาสุขภาพเป็นอุปสรรคสำคัญ รวมถึงในเรื่องความจำของเขา ที่แสดงถึงข้อบกพร่องสับสนหลายครั้ง ในช่วงที่เขาขึ้นกล่าวปราศรัย ยกตัวอย่างล่าสุดในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งที่รัฐเพนซิลเวเนีย เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งเขากล่าวให้ประชาชนชาวอเมริกัน เลือกระหว่าง “เสรีภาพ” กับ “ประชาธิปไตย” ซึ่งเป็นเรื่องเดียวกัน จนบรรดาผู้ฟังปราศรัยต่างพากันหัวเราะราวกับฟังเรื่องราวอันขบขัน
บรรดานักวิเคราะห์ ที่ได้เห็นตัวเลขความสนใจการเมืองของชาวอเมริกันที่ถูกเผยแพร่ออกมา ก็แสดงความวิตกกังวลว่า ผู้ออกไปใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งจะมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายนปลายปีนี้ อาจจะมีจำนวนลดลงกว่าครั้งก่อนๆ เนื่องจากตัวผู้สมัครฯ ซึ่งเป็นแคนดิเดตนั้น ไม่ชวนให้กระตือรือร้นให้คนออกไปเลือกตั้งก็เป็นได้