นายกฯ ได้ฤกษ์นัดประชุม ก.ตร. 30 เม.ย.จัดโผผู้ทรงคุณวุฒิฯ ที่ปรึกษาพิเศษนายพลสีกากี ด้านก.ต.ช. เผยผลสำรวจสเปกผบ.ตร.ของปชช. ระบุต้องซื่อสัตย์ ไม่เอี่ยวเงินสีเทา ชี้คนส่วนใหญ่เบื่อข่าวบิ๊กตร.ขัดแย้ง 

     
เมื่อวันที่ 28 เม.ย.67  ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) จะเป็นประธานเพื่อประชุม ก.ตร.ครั้งที่ 3/2567 ในวันที่ 30 เม.ย. เวลา 15.00 น.ที่ห้องประชุมศรียานนท์ ชั้น 1 อาคาร 1 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) โดยมีวาระน่าสนใจเช่น ข้าราชการตำรวจร้องขอความเป็นธรรม , การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ ก.ตร.เกี่ยวกับการพัฒนางานสอบสวน , ร่างระเบียบ ก.ตร.ว่าด้วยการกำหนดลำดับอาวุโสของข้าราชการตำรวจในการรักษาราชการแทน พ.ศ. ..., ขอยกเว้นคุณสมบัติของผู้เข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตร ผกก. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 และการคัดเลือกแต่งตั้งข้าราชการตำรวจดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาพิเศษ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
    
 สำหรับ ลำดับอาวุโส ระดับ ผู้ช่วย ผบ.ตร. ผู้มีคุณสมบัติครบถ้วนดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาพิเศษ ตร. ได้แก่ 1. พล.ต.ท.สุรพงษ์ ชัยจันทร์ รอง จตช. ลำดับอาวุโส ระดับ รอง ผบช. ผู้มีคุณสมบัติครบถ้วนดำรงตำแหน่ง ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ตร. 5 ลำดับแรก ได้แก่ 1. พล.ต.ต.ชูฉัตร ธารีฉัตร รอง ผบช.สตม. 2. พล.ต.ต.สมเกียรติ วัฒนพรมงคล รอง ผบช.ปส.  3. พล.ต.ต.สายเพชร ศรีสังข์ รอง ผบช.ภ.3 4. พล.ต.ต.ชนวีร์ ชมาฤกษ์ รอง ผบช. รร.นรต. และ 5. พล.ต.ต.ศุภเศรษฐ์ โชคชัย รอง ผบช.ทท.
    
 ลำดับอาวุโส ระดับ รอง ผบก. ผู้มีคุณสมบัติครบถ้วนดำรงตำแหน่ง ผู้ทรงคุณวุฒิ ตร. 5 ลำดับแรก ได้แก่ 1.พ.ต.อ.หญิง การต์ชนก บุญศิวนนท์ อาจารย์ (สบ 5) กลุ่มอาจารย์ บช.ศ. 2.พ.ต.อ.ภูดิท พานิชประเสริฐ รอง ผบก.ภ.จว.ปัตตานี 3.พ.ต.อ.สาโรช ขวัญบุญจันทร์ รอง ผบก.ภ.จว.ศรีสะเกษ 4.พ.ต.อ.ประสิทธิศักดิ์ ศรีสุข รอง ผบก.ภ.จว.ชุมพร และ5. พ.ต.อ.สมพร กฤษณพิพัฒน์ รอง ผบก.ผอ.
  
   ส่วนการแต่งตั้งวาระเดือนเม.ย. เป็นการแต่งตั้งในตำแหน่ง ที่ปรึกษาพิเศษ ตร. ยศพล.ต.อ. แต่งตั้งจากผู้ช่วย ผบ.ตร.ที่ครองตำแหน่งครบ 1 ปี จะเกษียณอายุราชการในอีก 6 เดือนข้างหน้า หรือสิ้นปีงบประมาณ 2567 กลุ่มนี้สามารถแต่งตั้งได้ 10 คน จากผู้มีคุณสมบัติครบถ้วน  ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ตร. ยศ พล.ต.ท. เทียบเท่าผู้บัญชาการ แต่งตั้งจากรองผู้บัญชาการที่ครองตำแหน่งครบ 1 ปี จะเกษียณในสิ้นปีงบประมาณ 2567 กลุ่มนี้สามารถแต่งตั้งได้ 20 คน จากผู้มีคุณสมบัติครบถ้วน และตำแหน่ง ผู้ทรงคุณวุฒิ ตร. ยศ พล.ต.ต. เทียบเท่าผู้บังคับการ แต่งตั้งจากรองผู้บังคับการที่ครองตำแหน่งครบ 5 ปี จะเกษียณอายุราชการในสิ้นปีงบประมาณ 2567 กลุ่มนี้สามารถแต่งตั้งได้ 30 คน จากผู้มีคุณสมบัติครบถ้วน
    
 ด้าน ผศ.ดร.นพดล กรรณิกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ นโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) ที่ปรึกษามูลนิธิ สถาบันวิจัยความสุขชุมชนและความเป็นผู้นำ เสนอผลสำรวจเรื่อง ตำรวจของประชาชนกรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ ดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) รวมจำนวนตัวอย่างในการวิเคราะห์ทางสถิติทั้งสิ้น จำนวนทั้งสิ้น 1,207 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 25 - 27 เม.ย.ที่ผ่านมา
     
โดยผลการสำรวจพบว่า ที่น่าพิจารณาเมื่อถามประชาชนถึงคุณสมบัติ (Spec) ของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนต่อไปที่ประชาชนต้องการ ส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 75.5 ระบุ เป็นคนซื่อสัตย์ สุจริต รองลงมา ร้อยละ 71.4 ระบุ สร้างความสามัคคีในองค์กรตำรวจ ร้อยละ 68.2 ระบุ ไม่มีประวัติด่างพร้อย ไม่พัวพันกับเงินผิดกฎหมาย ร้อยละ 66.8 ระบุ เข้าถึงประชาชน ดูแลความปลอดภัยของประชาชน และร้อยละ 63.2 ระบุ เร่งฟื้นฟู ศรัทธาของประชาชน ตามลำดับ
    
 อย่างไรก็ตาม เมื่อถามถึงความรู้สึกเบื่อหน่าย ข่าวนายตำรวจระดับสูงขณะนี้ พบว่า ส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 62.2 ระบุเบื่อมากถึงมากที่สุด รองลงมา ร้อยละ 16.7 ระบุ เบื่อค่อนข้างมาก ร้อยละ 9.4 ระบุ เบื่อค่อนข้างน้อย และร้อยละ 11.7 ระบุ เบื่อน้อย ถึง ไม่เบื่อเลย ที่น่าพิจารณาคือ เมื่อถามต่อถึงความเห็นต่อตำรวจที่ตกเป็นข่าวในทางลบกระทบภาพลักษณ์ขณะนี้ พบว่า ส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 89.9 ระบุ ตำรวจควรเร่งทำงาน สร้างผลงาน ความปลอดภัยของประชาชน รองลงมา ร้อยละ 74.1 ระบุ เรื่องของตำรวจ ควรจบได้แล้ว และร้อยละ 72.8 ระบุ ตำรวจที่ตกเป็นข่าว ควรชี้แจงว่า ตนเองบริสุทธิ์อย่างไร
     
ที่น่าสนใจ คือ เมื่อถามถึงผลงานของตำรวจในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ที่ประชาชนรู้และพึงพอใจ พบว่า ส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 64.8 ระบุ การติดตามจับกุมคนร้าย รองลงมา ร้อยละ 56.0 ระบุ ตรวจตรา ดูแลความปลอดภัย ยามค่ำคืน ร้อยละ 54.5 ระบุ การแก้ไขปัญหายาเสพติด ร้อยละ 53.3 ระบุช่วยเหลือทุกเรื่องที่ประชาชนเดือดร้อน และ ร้อยละ 51.8 ระบุ การปราบปรามเว็บพนัน มิจฉาชีพหลอกลวงออนไลน์ เป็นต้น
    
 ผศ.ดร.นพดล กรรณิกา ก.ต.ช.ผู้ทรงคุณวุฒิ และที่ปรึกษา มูลนิธิสถาบันวิจัยความสุขชุมชนฯ กล่าวว่า ผลโพลชิ้นนี้ชี้ให้เห็นว่า ประชาชนต้องการข้อมูลจำเพาะหรือสเปก (Spec) คุณสมบัติ 5 ประการ ของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนต่อไปคือ 1.ซื่อสัตย์สุจริต 2. สร้างความสามัคคีภายในองค์กร 3. ไม่มีประวัติด่างพร้อยเกี่ยวข้องกับเงินผิดกฎหมาย 4.เข้าถึงประชาชน ดูแลความปลอดภัยของประชาชน และ 5. เร่งฟื้นฟูศรัทธาของประชาชน
   
  ผศ.ดร.นพดล กล่าวต่อว่า ที่น่าพิจารณาคือ ประชาชนรู้สึกเบื่อหน่ายต่อข่าวนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ในขณะที่เพราะประชาชนอาจจะเห็นความชัดเจนในข้อมูลบางอย่างของเรื่องราวที่เกิดขึ้นแล้ว แต่อาจจะไม่เห็นว่าจะเกิดประโยชน์ต่อประชาชนอย่างไร นอกจากนี้ ประชาชนต้องการให้ตำรวจเร่งทำงาน สร้างผลงาน ความปลอดภัยของประชาชน เรื่องราวของตำรวจในสื่อควรจบได้แล้ว เพราะประชาชนต้องการให้ตำรวจเป็น ตำรวจของประชาชน ที่มีหน้าที่และอำนาจหลักคือรักษาความมั่นคงของชาติและความปลอดภัยของประชาชน มากกว่า
   
  ผศ.ดร.นพดล  กล่าวอีกว่า แม้หลายคนอาจจะคิดว่า องค์กรตำรวจกำลังล่มสลาย ศรัทธาของประชาชนลดลง แต่ขอเสนอมุมมองให้เห็นความเป็นจริงบางอย่างว่า ตำรวจเป็นสถาบันที่ศักดิ์สิทธิ์คู่แผ่นดินมาร่วม 170 ปีแล้วก่อเกิดขึ้นครั้งแรกเป็น กองโปลิศ ในสมัยรัชกาลที่ 4 นายตำรวจผู้ใดสร้างความเสื่อมเสียต่อสถาบันอันศักดิ์สิทธิ์นี้ก็จะร้อนรนใจทนอยู่ไม่ได้และจะแพ้ภัยตัวเอง
    
 อย่างไรก็ตาม ในท่ามกลางกระแสข่าวลบต่อสถาบันตำรวจ แต่ผลโพลพบว่าตำรวจส่วนใหญ่ยังทำหน้าที่เป็น ตำรวจของประชาชน เพราะ ประชาชนยังคงพึงพอใจต่อการทำงานของตำรวจใน 5 อันดับแรก ได้แก่ การติดตามจับกุมคนร้าย การตรวจตราดูแลความปลอดภัยของประชาชนยามค่ำคืน การแก้ไขปัญหายาเสพติด การช่วยเหลือทุกเรื่องที่ประชาชนเดือดร้อน และการปราบปรามเว็บพนัน มิจฉาชีพหลอกลวงออนไลน์ที่กำลังเห็นผลงานของตำรวจมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะตำรวจน้ำดีจะทนเห็นความเดือดร้อนของประชาชนไม่ได้จึงยังคงอดทนอดกลั้นกับกระแสข่าวลบต่อองค์กรตำรวจและกำลังมุ่งหน้ารุกฆาตจัดการกวาดล้างขบวนการมิจฉาชีพและขบวนการที่เป็นภัยคุกคามเพื่อรักษาความมั่นคงของชาติและความปกติสุขของประชาชนคนไทยทั้งประเทศ