วันที่ 27 เมษายน 2567 ดร.กัลยาณี ธรรมจารีย์ นายกสมาคมส่งเสริมเครือข่ายการท่องเที่ยวจังหวัดศรีสะเกษเปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายจาก นายชัยรัตน์ ฉัตรศุภกุล ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 38 ศรีสะเกษ ให้เป็นประธาน ดำเนินการประชุมภาคีเครือข่ายด้านการท่องเที่ยวและที่เกี่ยวข้อง ในการดำเนินการภายใต้โครงการพัฒนาบุคลากร สินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยวแบบบูรณาการ กิจกรรม พัฒนาทักษะแรงงานด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการในยุค new normal (งบจับหวัด) ประจำปีงบประมาณ 2567
โดยมีนางสาวสุดาลักษณ์ พรหมชุณห์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานแผนงานและสารสนเทศ นางสุพิน ศรีเลิศ พนักงานธุรการ ระดับ ส4 นำคณะเครือข่ายเข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย ดร.ชูเกียรติ พงศ์พนาพิพัฒน์ คณบดี คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ นายศรณรงค์ ปล่องทอง งานกองทุนสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยราชภัฎศรีสะเกษ นางสาวพัชรินทร์ ธนฤทธิ์ไพศาล งานกองทุนสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ นายบวรพัฒน์ รุ่งคำ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบักดอง ดร.เพ็ญศรี สารีบุตร เลขานุการสภาวัฒนธรรมอำเภอขุนหาญ นายสุชาติ วรโพด ผู้อำนวยการโรงเรียนหมู่บ้านทับทิมสยาม 07 นายชาญชัย ขันทอง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทับทิมสยาม 07 โดยมี นางสายสมร พาบุตร ผู้ใหญ่บ้านทับทิมสยาม 07 (ประธานป่าชุมชนทับทิมสยาม 07) นายสมหมาย พาบุตร กรรมการป่าชุมชนทับทิมสยาม 07 นำคณะกรรมการอีก จำนวน 5 คนเข้าร่วมนำเสนอความเป็นมาของป่าชุมชน
นางสายสมร พาบุตร กล่าวว่า ได้เตรียมการมาหลายปีในการเปิดเส้นทางท่องเที่ยวธรรมชาติที่มีผีเสื้อสวยงาม มีกล้วยไม้และป่าที่ยังอุดมสมบูรณ์ที่พวกเราได้ช่วยกันรักษา ทำให้มีหลายคณะที่สนใจ ได้เดินทางมาศึกษาเส้นทางนี้แล้ว อาทิ มาจากจังหวัด มหาสารคาม ขอนแก่น ยโสธร และมีเด็กนักเรียน อสม.ก็มาศึกษา พวกเราต้องการให้มีการอบรมในหลักสูตรที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณจากจังหวัดศรีสะเกษ อยากให้สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 38 ศรีสะเกษจัดอบรมเรื่องกิริยามารยาท การต้อนรับ การเป็นผู้นำเที่ยวที่สามารถเล่าเรื่องStory เรื่องราวป่าชุมชน สามารถ สื่อสารและสื่อความหมายด้านวัฒนธรรมภูมิปัญญาท้องถิ่นผลิตภัณฑ์ชุมชน เพราะเราได้จัดเส้นทางท่องเที่ยวไว้จำนวน 6 ฐาน ฐานแรกเป็นฐานข้อมูล ฐานที่สองเป็นจุดชมวิว ฐานที่สาม ตะเคียนหิน กะไดลิง ฐานที่สี่ ยาสมุนไพร ฐานที่ห้า ฐานไม้เป๊าะเปี๊ยะ (ตะแบกล้านต้น) และฐานที่หก ฐานสายน้ำแห่งชีวิต จุดนี้สามารถล่องแก่งได้โดยทางชุมชนได้เตรียมความพร้อมด้านการให้ความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยว ล่องแก่งในรัศมี 300 เมตร มีเสื้อชูชีพ ห่วงยาง วิทยุสื่อสารอีก15 เครื่อง ระยะ 20 เมตร
นายศรณรงค์ ปล่องทอง และนางสาวพัชรินทร์ ธนฤทธิ์ไพศาล งานกองทุนสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ กล่าวว่าจากที่เคยร่วมงานกับผู้ใหญ่สายสมร มาตั้งแต่ปี 64 ร่วมขับเคลื่อนป่าชุมชนเป็นเส้นทางท่องเที่ยว เป็นเทรนการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่มีความสมบูรณ์ถึง 80 เปอร์เซ็นต์ ส่วนใหญ่ผู้ที่มาเที่ยวจะเป็นวัยรุ่นที่สนใจป่าชุมชน ที่มีเสน่ห์และมีแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติสวยงาม แม้การไปถึงฐานที่หกจะรู้สึกเหนื่อยบ้างเพราะเป็นการเดินในป่า แต่ก็คุ้มค่าเพราะมีความสุขทำให้หายเหนื่อย และป่านี้จะเปิดเดือนมิถุนาถึงเดือนกันยายน ก็จะปิดป่าเพื่ออนุรักษ์ ช่วงนี้จะเปิดกลุ่มเฉพาะสำหรับนักท่องเที่ยวที่จะมาร่วมกันทำแนวกันไฟ ปลูกป่า เพื่ออนุรักษ์เท่านั้นเป็นการทำCSRร่วมกัน
ดร.ชูเกียรติ พงศ์พนาพิพัฒน์ คณบดี คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ กล่าวว่า จากการที่จังหวัดศรีสะเกษมีการขับเคลื่อนแบบบูรณาการ มี 1+ 10 อาเจนด้า และเพิ่มเรื่องท่องเที่ยว เข้ามาในอาเจนด้า ด้วย ทำให้จังหวัดเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นในหลายๆด้าน จังหวัดมีการทำการตลาด เรื่องทุเรียนภูเขาไฟ เรื่องกีฬา เรื่องอัตลักษณ์ของผ้า ฯลฯ เราต้องเตรียมรับและนำเสนอว่าจะเป็นการรับนักท่องเที่ยวแบบไหน จะหาอะไรดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเที่ยวจะจัดแบบท่องเที่ยงเชิงสุขภาพ หรือสายมู หรือจะรับนักท่องเที่ยวกลุ่มไหน ต้องเตรียมการรองรับให้น่าสนใจ
ดร.กัลยาณี ธรรมจารีย์ กล่าวว่า เป็นการประชุมที่ทุกคนมีส่วนร่วมในการนำเสนอ ให้ความเห็นทุกคน มากมายจนไม่สามารถนำรายละเอียดมาลงได้หมด โดยมีมติที่ประชุมได้เห็นชอบเส้นทางศึกษาธรรมชาติแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ป่าชุมชนบ้านทับทิมสยาม 07 ตำบลบักดอง อำเภอขุนหาญ ให้มีการอบรมหลักสูตรเทคนิคการเป็นผู้นำเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ 30 ชั่วโมง ในการฝึกอบรม โดยใช้อาคารอเนกประสงค์โครงการทับทิมสยาม 07 ตำบลบักดอง เป็นสถานที่ฝึกอบรมกลุ่มเป้าหมายผู้เข้ารับการฝึกอบรม เป็นประชาชนในพื้นที่ทับทิมสยาม 07 เข้ารับการฝึกอบรม จำนวน 20 คนและกำหนดระยะเวลาการฝึกอบรมระหว่างวันที่ 16-20 พฤษภาคม 2567 โดยจะเชิญผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษเป็นประธานในพิธีเปิด และให้ช่วยกันประชาสัมพันธ์ของดีของอำเภอขุนหาญในเส้นทางอื่นๆ เช่นเรื่องประเพณี วัฒนธรรม ชนเผ่าเขมร อาหารท้องถิ่น