“สังคมให้เรา เราก็คืนให้สังคม” เป็นเรื่องดีๆ ที่นราอาสาพาทำดี ของการส่งมอบความดี จากมือผู้ให้ ถึงใจผู้รับ ได้แบ่งปันให้กับชาวบ้านบนเกาะปูลาโต๊ะบีซู ตำบลศาลาใหม่ อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส เป็นครั้งที่5 “นราอาสาพาทำดี” ร่วมกับ FORD NARATHIWAT การท่องเที่ยวและสมาคมกีฬาแห่งประเทศไทยจังหวัดนราธิวาส จัดกิจกรรม นราอาสาพาทำดี On Touring and Sharing เที่ยวสุขใจได้แบ่งปัน บ้านปูลาโต๊ะบีซู ตำบลศาลาใหม่ อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส โดยกิจกรรมจิตอาสาครั้งนี้ได้ แบ่งปัน อุปกรณ์ กีฬา และอุปกรณ์การเรียน สมุด ดินสอ ไม้บรรทัด เป็นต้น ให้กับเด็กๆที่เรียนหนังสือในโรงเรียนตาดีกา พร้อมมอบอุปกรณ์กีฬา เช่นลูกฟุตบอล วอลเลย์บอล ตระกร้อ ไว้ใช้เล่นในยามว่างให้เกิดประโยชน์ ส่งเสริมการออกกำลังกาย เพื่อจะได้มีสุขภาพแข็งแรง กล้าแสดงออก เติบโต ทั้งกายและใจอย่างมีประสิทธิภาพ และพร้อมที่จะออกไปใช้ชีวิตในอนาคตข้างหน้าได้
เสร็จภารกิจ ต่อด้วย พาไป “ Sharing เที่ยวสุขใจ” บนเกาะปูลาโต๊ะบีซู กับการ กางเต็นท์ ตั้งแคมป์ปิ้งย่าง หมึก หอยที่สดจากชาวบ้านที่ออกเรือหาเองเพราะชาวบ้านที่นี่มีอาชีพหลักคือเป็นชาวประมง นักท่องเที่ยวจึงมีโอกาสที่จะได้ทานอาหารทะเลสดๆที่พึ่งขึ้นจากเรือ นอกจากนี้ ปูลาโต๊ะบีซู ยังมีผลิตภัณฑ์อาหารทะเลแปรรูป เช่น ปลากุเลา ปลาชนิดต่างๆ หมึกแห้ง กุ้งแห้งตากแห้งที่ชาวบ้านร่วมมือกันทำขึ้นเป็น วิสาหกิจชุมชน เพื่อสร้างรายได้ให้กับกลุ่มสตรี ออกจำหน่ายให้กับนักท่องเที่ยวไว้ติดมือกลับบ้านอีกด้วย ที่สำคัญเกาะปูลาโต๊ะบีซู มีหาดทรายที่ขาวสะอาด น้ำใสเป็นสีคราม มีต้นมะพร้าว เรียงรายติดชายฝั่งทะเล ต่างจากที่อื่นที่มีแต่ต้นสน เหมาะสำหรับคนที่ชอบความสงบ เพื่อมาพักผ่อนหย่อนใจ ที่สำคัญเราสามารถดูแสงแรกของดวงอาทิตย์ขึ้นบนผิวน้ำทะเลในยามเช้าของวันได้อย่างชัดเจน เพราะเกาะปูลาโต๊ะบีซู ติดกับทะเลอ่าวไทยฝั่งตะวันออก ที่มีพระอาทิตย์ขึ้นจากฝั่งประเทศมาเลเซีย
บ้านปูลาโต๊ะบีซู จะเป็นหมู่บ้านที่อยู่บนเกาะ ฝั่งหนึ่งของเกาะติดแม่น้ำตากใบ และอีกฝั่งหนึ่งติดทะเลอ่าวไทย ชาวบ้านเรียกเกาะนี้ว่า เกาะปูลาโต๊ะบีซู (เป็นภาษามลายูท้องถิ่น ) มีความหมายแบ่งเป็น 3 คำว่า “ปูลา” แปลว่าเกาะ “โต๊ะ” หมายถึง คนเฒ่าคนแก่ และ “บีซู” แปลว่า คนใบ้ คือเกาะคนใบ้ที่เป็นคนแรกที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานบริเวณเกาะสมัยก่อนนั้น ชาวบ้านจึงได้ตั้งชื่อเรียกเกาะนี้ว่า “ปูลาโต๊ะบีซู ” ปัจจุบันมีประชากร จำนวน 800 คน หรือครัวเรือนยังไม่แน่ชัด เพราะยังมีที่ยังไม่ขึ้นทะเบียน มีประชากรที่นับถือศาสนาอิสลาม ปัจจุบันมี มัสยิด มีโรงเรียน มีตาดีกา เพิ่งมีไฟฟ้าเข้าเมื่อต้นเดือนเมษายน 2567 ที่ผ่านมาสามารถไปที่เกาะได้ 2 ทาง คือ ทางน้ำและทางบก สำหรับ “ทางน้ำ” คือจะนั่งเรือข้ามไปเกาะ ที่มีระยะจากฝั่งไปประมาณ 500 เมตร การขนส่งได้เฉพาะข้าวของเครื่องใช้อุปโภคบริโภคเท่านั้น ใช้เวลาข้ามฝั่งประมาณ 15 นาที และอีกทาง คือ “ทางบก”ที่สามารถเข้าไปกับรถยนต์-รถจักรยายนต์ไปถึงเกาะได้คือ ไปทางหาดเสด็จ ทางไปบ้านตาบา อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ใช้เวลาการเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง ถึงแม้ระยะทางอาจไกลหน่อย แต่จะสะดวกดีกว่า ถ้าจะไปกางเต็นท์แคมป์ปิ้ง ย่าง ที่หาดเกาะปูลาโต๊ะบีซู
จุดประสงค์หลัก การไปท่องเที่ยวเกาะปูลาโต๊ะบีซู และแบ่งปันนำสิ่งของไปมอบให้กับเด็กๆครั้งนี้ นอกจากได้บุญแล้วทีมงาน นราอาสาพาทำดี สมาคมการท่องเที่ยวและกีฬาแห่งประเทศไทยจังหวัดนราธิวาส และทีมงาน FORD ฟอร์ดนราธิวาส ยังคงอยากนำเสนอแหล่งท่องเที่ยวของเกาะปูลาโต๊ะบีซูให้นักท่องเที่ยวที่สนใจ เที่ยวสุขใจ ไปเที่ยวเกาะปูลาโต๊ะบีซู มีอาหารทะเลสด ทะเลสะอาด ทิวทัศน์สวย อากาศดี คนในพื้นที่ก็ใจดี ชวนมาเที่ยวกันเยอะๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้กับชาวบ้านให้มีรายได้เพิ่ม เลี้ยงครอบครัวได้ ด้วยลำแข็งของตนเอง และสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ โดยที่ไม่ต้องทิ้งเกาะออกไปทำงานที่อื่น
นาย มะรีเป็ง หะยีสาและ ประธานนราอาสาพาทำดี ให้สัมภาษณ์ว่า วันนี้ นาราอาสาพาทำดี เชื่อมต่อความดีจากมือผู้ให้ถึงใจผู้รับ มาจัดกิจกรรมเที่ยวสุขใจและได้แบ่งปัน เราได้มาเช็คอินที่ริมชายหาดปูลาโต๊ะบีซู บรรยากาศยามค่ำคืน และก็บรรยากาศยามเช้า สวยงามมาก ติดตามความสวยงามได้ที่เพจ.นราอาสาพาทำดี และอีกหนึ่งกิจกรรมคือ แบ่งปันให้กับน้องๆบนเกาะปูลาโต๊ะบีซู ด้วยอุปกรณ์การเรียน อุปกรณ์การกีฬา มอบให้น้องๆได้ฝึกทักษะกีฬา และก็ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์.สำหรับใครสนใจที่จะมาเที่ยวที่เกาะปูลาโต๊ะบีซุแล้ว สามารถติดต่อ โดยตรง กับคุณ รูฮานี ยูโซ๊ะ ซึ่งเป็นประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชน แปรรูปเกาะหัวใจเกื้อกู และเป็นบัณฑิตอาสาฯ อยู่ที่นั่น หรือโทร. 088-7696090 ครับ.