เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ อย่างหนัก จากผู้สนับสนุนขั้วอนุรักษ์นิยม ฝ่ายนิยมสีเขียว หลังจากกลาโหม เปิดเผยบางส่วนของร่างแก้ไขพระราชบัญญัติจัดระเบียบกระทรวงกลาโหมปี 2551 เพื่อสกัดการปฏิวัติรัฐประหาร และคัดกรองคุณสมบัตินายพล

โดยมีทั้งผู้ที่เข้าใจไปว่า และผู้ที่จงใจบิดประเด็น เพื่อปรุงกระแสปกป้องกองทัพ สนับสนุนการรัฐประหาร ว่า ต้องการแก้ไขสัดส่วนของสภากลาโหม เพื่อหวังจะให้มีฝ่ายการเมือง มากกว่าฝ่ายทหาร เพื่อแทรกแซง การแต่งตั้งโยกย้ายทหารชั้นนายพล ทั้งๆที่สภากลาโหมไม่ได้มีอำนาจหน้าที่ในการแต่งตั้งโยกย้ายทหารชั้นนายพล แต่อย่างใด

เพราะในส่วนของคณะกรรมการแต่งตั้งโยกย้ายในของกระทรวงกลาโหม หรือที่เรียกว่าบอร์ด 7 เสือกลาโหมนั้น ยังคงมีสัดส่วนและองค์ประกอบตามเดิม คือยังมีรมว.กลาโหม รมช.กลาโหม ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผบ.ทบ. ผบ.ทร.และ ผบ.ทอ. โดยไม่ได้มีการแก้ไขในส่วนนี้

แต่ที่ทำให้กลายเป็น “หนังคนละม้วน” คือ การที่ สุทิน ตั้งคณะทำงาน เพื่อร่างแก้ไขพรบ.กลาโหมฉบับนี้ เพราะได้รับสัญญาณ จากพรรคเพื่อไทย ให้ร่างฉบับ ของกระทรวงกลาโหมขึ้นมาเอง เนื่องจากพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย ก็จะมีการเสนอร่างแก้ไขพรบ. กลาโหม ด้วยเช่นกัน และเป็นที่รู้กันดีว่า ถ้าเป็นร่างแก้ไขพรบ.กลาโหม ของพรรคก้าวไกล ก็น่าจะร่างมาแบบสุดโต่ง ในการปฏิรูปกองทัพ ส่วนร่างของพรรคเพื่อไทย แม้จะซอฟท์ กว่า แต่ก็ต้องทำตามที่ได้หาเสียงไว้คือ เรื่องการปฏิรูปกองทัพ ปรับโครงสร้างกองทัพ ลดจำนวนนายพล และการต่อต้านการปฏิวัติรัฐประหาร

อีกทั้ง พรบ.กลาโหม ปี 2551 นี้ ออกมาในยุครัฐประหาร ของ “บิ๊กบัง” พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน  ผบ.ทบ.ในเวลานั้น แล้ว ตั้งรัฐบาลทหารที่มี พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์เป็น นายกรัฐมนตรี  เพื่อเป็นกฎหมายในการป้องกันไม่ให้ฝ่ายการเมืองแทรกแซงกองทัพ โดยเฉพาะการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารชั้นนายพล โดยมีมาตรา 25 ที่กำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารชั้นนายพลของกระทรวงกลาโหม หรือบอร์ด 7 เสือกลาโหม

จึงต้องมีร่างที่ 3 ของกระทรวงกลาโหม ที่จะเป็นทางสายกลาง ที่ฝ่ายประชาชนยอมรับได้และฝ่ายทหารก็ยอมรับได้ เพราะกรรมการชุดนี้ก็มีทหารเป็นคนร่าง คณะทำงาน ชุดนีั ชื่อว่า คณะทำงานขับเคลื่อนแก้ไขร่างกฎหมายความมั่นคงของ กลาโหม  ในรัฐสภา  นายสุทินแต่งตั้งตั้งแต่ 19 ธันวาคม 2566 เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ในการสนับสนุนข้อมูลเกี่ยวกับร่างกฎหมายความมั่นคงของ กลาโหม ในรัฐสภา เป็นไปด้วยความเรียบร้อย

โดยมี “บิ๊กอั๋น” พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา ที่ปรึกษารมว.กลาโหม  อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาตินายทหารนอกราชการ เป็นประธานคณะทำงาน และมี จำนงค์ ไชยมงคล  ผช.รมว.กห. มือขวา สุทิน เป็น ที่ปรึกษาคณะทำงาน 

โดยมีคณะทำงานที่ เป็นทหารในราชการเช่น พล.ร.อ.สุพพัต ยุทธวงศ์ รอง ปลัดกลาโหม  เป็น รองประธานคณะทำงาน  พล.อ.พิสิษฐ์ นพเมือง เจ้ากรมพระธรรมนูญ พล.อ.ยุทธนินทร์ บุนนาค ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ สำนักปลัดกลาโหม พล.ต.พรพจน์ เมธาวุฒินันท์ ผช.ผอ. สำนักนโยบายและแผน กลาโหม( สนผ.กห. ) พล.ต.เจนวิทย์ เด็ดแก้ว ผช. เจ้ากรมเสมียนตรา เป็นคณะทำงาน

และ มี พล.ต.พัฒนชัย พัฒนจริญ ผช.เจ้ากรมพระธรรมนูญ  เป็นคณะทำงานและเลขานุการฯ และ พ.อ.เสนีย์ พรหมวิวัฒน์  เป็นผู้ช่วยเลขานุการฯ โดยให้คณะทำงานนี้ มีอำนาจหน้าที่ ติดตาม ศึกษาและรวบรวมข้อมูลร่างกฎหมายด้านความมั่นคงที่เกี่ยวกับ กห. และ ให้ข้อเสนอแนะหรือแนะนำให้ส่วนราชการ กห. ที่เกี่ยวข้องนำข้อเสนอแนะหรือแนะนำไปปรับปรุงกฎหมายด้านความมั่นคงที่เกี่ยวกับ กห. ให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

ทางสายกลางของ ร่างแก้ไข พรบ.กลาโหม ฉบับนี้ คือ การเสนอ คือ การสกัดรัฐประหาร โดยให้ รมว.กลาโหม เสนอ นายกฯเสนอ ครม. ออกคำสั่ง “พักราชการ” ทหารที่จะก่อการรัฐประหาร เพื่อระงับยับยั้งการรัฐประหาร  โดยใช้ “พักราชการ” แต่ ไม่ “ปลด” เพราะทหารระดับนายพล เป็นตำแหน่งที่โปรดเกล้าฯ

แม้จะแก้ไขสัดส่วนสมาชิกสภากลาโหม การแก้ไขสัดส่วน และจำนวนสมาชิกสภากลาโหม ลง โดยตัด รองปลัดกลาโหม และ ผช.ผบ.ทบ. ผช.ผบ.ทร. และ ผช. ผบ.ทอ.  ออกจาก สมาชิกสภากลาโหม แล้วมาเพิ่ม สมาชิกสภากลาโหม ผู้ทรงคุณวุฒิ จาก 3 คน เป็น 5 คน แต่ ไม่เกี่ยวข้อง กับการแต่งตั้งโยกย้ายนายพล เพราะสภากลาโหม ไม่มีหน้าที่ในการแต่งตั้งโยกย้ายนายพล  แต่ เป็นอำนาจของ “บอร์ด7 เสือกลาโหม” เท่านั้น ตามเดิม

และ ที่สำคัญ เมื่อไม่ได้แตะต้องการแต่งตัังโยกย้าย  แต่มีการเพิ่มระบบการคัดกรองนายพล ด้วยการเพิ่ม คุณสมบัติของ ผู้ที่เหมาะสมเป็น นายพล จะต้องไม่มี คุณสมบัติต้องห้าม 3 ข้อ  คือ1. ต้องไม่เคยเป็นผู้มีอิทธิพล ไม่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ค้ามนุษย์ ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ 2.ต้องไม่เป็นคู่สัญญากับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงกลาโหม ประกอบธุรกิจหรือกิจการ 3.ต้องไม่อยู่ในระหว่างถูกสอบสวนทางวินัย ระหว่างถูกดำเนินคดีอาญาฯ 

ทั้งนี้ เพื่อให้ ภาพลักษณ์ของ การเป็นนายพล  เป็นที่ยอมรับของประชาชน ว่า ผ่านการพิจารณาคัดกรอง มาแล้ว

แต่สุดท้าย เป็นที่รู้กันดีว่าไม่ว่ากฎหมายฉบับใด ก็ไม่สามารถที่จะสกัดการรัฐประหารได้เพราะสุดท้ายหากสถานการณ์บีบบังคับทหาร หรือผู้นำกองทัพก็ต้องฉีกรัฐธรรมนูญและสถาปนาตนเป็นองค์รัฏฐาธิปัตย์ มีเพียงฝ่ายการเมืองต้องสร้างเงื่อนไขในการแทรกแซงกองทัพ ขณะที่กองทัพ ก็ต้องไม่จ้องแต่รัฐประหาร แต่อยู่ด้วยกันอย่างรอมชอม