ดนตรี / รุ่งฟ้า ลิ้มหัสนัยกุล

หลังจากที่มีอีพี.ชุด FKN Bad Pt.1 ไปเมื่อสามปีก่อน พีรลดา สุขวัฒก์ หรือ ไพร่า ก็ตัดสินใจบินไปประเทศอังกฤษ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะต้องการ “โอกาส” ที่ดีกว่าในการทำงานเพลง และมีอิสระในเรื่องการแสดงออกทางความคิดกับทุกเรื่องได้อย่างเต็มที่ อย่างที่เคยสัมภาษณ์ไว้ว่า

“ที่ ไพร่า ย้ายเพราะว่า รู้สึกหดหู่กับการอยู่ต่อที่นี่ เพราะมันไม่มี career growth มันเกี่ยวกับเรื่องการเมืองด้วยแหละ ถ้าคนอยากไล่ตามศิลปะควรย้ายไปอยู่ประเทศอื่น ที่เขาเข้าใจว่าคุณค่าศิลปะคืออะไร ตรงนี้มันตัน ถ้าเอาตัวเองไปอยู่ถูกที่น่าจะโตเร็วกว่า” (อ้างอิงจากเฟซบุ๊ค ไทยบันเทิง Thai PBS, 9 กุมภาพันธ์ 2565)

วันนี้ ไพร่า กลับมาบ้านเกิด-ใสนฐานะศิลปินอิสระ กับชุดความคิดบางอย่างที่เปลี่ยนแปลงไป-โดยเฉพาะการใช้ชีวิต แต่วิธีคิดในการทำเพลงยังเหมือนเดิม อย่างที่เธอบรรจงทำในอัลบั้มเต็มชุดแรกที่มีชื่อว่า Pyradise งานเพลงแนว “ดิสโทเปียน ป็อป” แบบที่เธอนิยาม ผสมผสานกลิ่นอายดนตรีหลากแนวโดยมีอีเล็คโทรนิคเป็นพื้นหลัก เติมด้วยฮิป-ฮ็อป, ร็อค และอีโม กับเรื่องราวสะท้อนสังคม-การเมืองที่บิดเบี้ยว วางคอนเส็ปท์ไว้ให้เรื่องราวในอัลบั้มเกิดขึ้นปี 2084 โดยได้แรงบันดาลใจจากอนิเมะเรื่องดังอย่าง Battle Royale

Pyradise เล่าเรื่องราวของหญิงสาวคนหนึ่ง (ซึ่งก็คือตัวเธอ) กลับมากอบกู้อำนาจและอิสรภาพของประชาชนคืนจากเผด็จการ-ที่ครอบงำปิดกั้นทุกส่วนไม่เว้นแม้แต่การเสพย์งานศิลปะและดนตรี

ในวัยต้นสามสิบ ไพร่า ยังเป็น “ขบถ” ต่อหลายเรื่องราวที่เธอคิดเห็นว่าไม่ถูกต้อง ไม่ว่าจะในหน่วยเล็กสุดอย่างครอบครัวจนถึงหน่วยใหญ่อย่างสังคม อย่างที่ได้ยินชัดเจนใน “Cut My Tongue”, “New Bitch” และแน่นอนชัดเจนมากในเรื่องการเมืองอย่าง “Dicktatorshit” กับ “Petrol & Matches” รวมถึง “Wet” ซิงเกิ้ลล่าสุดที่พูดถึงความเชื่อมั่นในตัวเอง สิ่งที่ตัวเองเลือกและทำ

มองแบบผ่านๆ ไพร่า มีความเป็นพั้งค์สูงมาก ไม่แค่ตัวดนตรี แต่ยังหมายรวมถึงเนื้อหาที่เธอตั้งใจนำมาเขียน มาบอกกล่าว การแสดงออกทางรูปลักษณ์ และงานศิลป์แขนงอื่นอย่างภาพปกกับวิชวลกราฟิคในเอ็มวี

แต่เมื่อมองลึกลงไป ดนตรีอีเล็คโทรนิค-ป็อปลูกผสมอารมณ์ดุดันแบบพั้งค์ของ ไพร่า นอกจากความอึกทึกตึงตังแล้วยังมีความไพเราะของท่วงทำนองด้วย แล้วยังมีท่อนฮุกติดหู-ชนิดที่ว่าฟังไปสองสามรอบก็ฮัมตามได้ มีสัมผัสป็อปเต็มเปี่ยม เรียกว่าเป็นงานที่จะฟังเอาเพลินก็ได้ และเอา “สาระ” ก็ดี แต่ใครจะไปคิดต่ออย่างไรนั้น-ขึ้นอยู่กับประสบการณ์คนฟัง

ชื่อ ไพร่า อาจไม่เป็นที่คุ้นหูของคนฟังเพลงไทยกลุ่มใหญ่มากนัก ทั้งๆที่มีผลงานในบ้านเรามาแล้วชุดหนึ่ง ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะแนวเพลงที่เธอเลือก ไม่ตรงจริตกับคนไทยหมู่มาก แต่ในระดับนานาชาติ กลับเป็นที่รู้จักมากกว่า และได้การยอมรับสูง เคยขึ้นเวทีในเทศกาลดนตรีดังๆอย่าง Burning Man ที่สหรัฐอเมริกา และเคยได้รับรางวัล BandLab NME Awards 2022 สาขา Best Solo Act From Asia อีกด้วย

อยากให้เปิดใจฟังเพลงของนักร้อง/นักแต่งเพลงสาวไทยคนนี้ดู จะคิดต่างหรือคิดเหมือนไม่ใช่ประเด็น เพราะงานศิลปะไม่ควรมีข้อจำกัด (เว้นเสียแต่จะทำออกมาแล้วฟังไม่ได้) ซึ่งนอกจากความเก่งกาจในการทำเพลงแล้ว เสียงของ ไพร่า ก็ยังน่าฟังกว่าใครหลายคนที่เรียกตัวเองว่า “นักร้อง”