ปากกาขนนก / สกุล บุณยทัต
“สายใยแห่งความรักที่กลั่นออกมาจากหัวใจของผู้ให้กำเนิด...รินรดจิตวิญญาณของลูกหลาน..ในวารวันของการเติบโต...คือความรู้สึกอันเป็นทิพย์ต่อการก่อเกิด..สายใยแห่งธรรมชาติที่ทั้งกว้างไกลและล้ำลึก...เป็นดั่งการหว่านโปรยเปลวประกายของเลือดเนื้อ..สู่การก่อเกิดความหวังที่อยู่เหนือความหวัง..ณ ขณะที่..โลกแห่งการมีชีวิตอยู่ได้เหวี่ยงหมุนไป..” จากโลกในเรา ..สู่เรือนในรัก..และ จากเรือนในรัก สู่โลกในเรา “...”
บทเพลงลำนำแห่งความหมายนี้..คือแก่นรากของรวมกวีนิพนธ์ที่สะท้อนค่าความหมายในลีลาอักษรแห่งการตระหนักและประจักษ์ในรัก..อันมีสายเลือดเป็นวิถีธรรมแห่งการโยงใยอันสูงส่ง..
“เรือนในรัก โลกในเรา”..คือรวมกวีนิพนธ์ที่เต็มไปด้วยภาพชีวิต..ที่งามตระการ..เหนือ.. “พรหมลิขิต และ โชคชะตา”..มันเกิดขึ้นโดยสัญชาตญาณแห่งปัญญาญาณอันจริงแท้..ที่พ่อมีต่อลูกสาว..ความรักความเข้าใจอันพิสุทธิ์พิศาล ท่ามกลางความเติบใหญ่..ในนัยของปมปัญหาและการแก้ไขปัญหา..เพื่อศานติสุขในมวลรวมของรสชาติชีวิต..
“พัฒนะ ปฐมพงศ์” กวีฝีมือเอกของนครปฐม..ผู้มีจิตใจและวัตรปฏิบัติต่อการใช้ชีวิตเสมอมา..ได้สรรสร้างกวีนิพนธ์ในชุดนี้ของเขาออกมาอย่างตั้งใจ..โดยใช้หัวใจพรรณนาความด้วยลมหายใจ..อันเปี่ยมพลังที่ขาวสะอาด...
“เราคือผู้กำหนดโชคชะตา..และเก่งกว่าพรหมที่ลิขิตเรา..” “พัฒนะ” แบ่งฉากแสดงแห่ง “ชีวิตในกวีนิพนธ์"ของเขาออกเป็น 3 บทตอนตามลำดับของปรากฏการณ์ชีวิตอันเป็นความทรงจำสำคัญในแต่ละช่วงตอน นับจาก “สายใยรักถักทอ” พ่อกับลูก”/ผูกพันในวิถีแห่งชีวิต/และ..พินิจโลกทัศน์ที่สัจธรรม..”
ทั้งหมดในผลรวมทั้งหมดคือ “ความงามและความหมาย”..ที่ค่อยๆตราตรึงความทรงจำของผู้อ่าน ด้วยผัสสะแห่งสำนึกอันใสกระจ่างของกวีที่อาบชะโลมชีวิตของเขาอย่างเรืองเรื่อ.. “ตรู่นี้นวลน้ำตาอาบหน้าพ่อ/วันที่รอตื้นตัน..เจ้าขวัญเอ๋ย/ชายหรือหญิงจะชิงชังอย่าหวังเลย/ใจจะเอ่ยตามคำปากจำนรรจ์/เป็นหยาดรวงน้ำตา ค่าความรัก/อบอุ่นนักรักยิ่งเจ้ามิ่งขวัญ/คืน-โลกดับกลับเช้า-กระเซ้าตะวัน/ชื่นในอกตื่นตันต่อวันเช้า../ กำเนิดเนื้อนวลตาเจ้าทารก/พ่อเนื้อสั่นขวัญตระหนกแนบอกเจ้า/สัมผัสผิวอ่อนบางอย่างแผ่วเบา/ในวันแรกที่เราได้พบกัน...”
..ปะทุอารมณ์ในวันแรกก่อกำเนิด..ของ “ลูกสาว” ได้กลายมาเป็นความสะพรั่งบานแห่งดอกไม้ของกวีนิพนธ์แสนงาม..และอุ่นไอไปด้วยความจริงใจ..มันอบอวลไปด้วยภาษาอันวิจิตร..ที่ค่อยๆไหลบ่า “ความคิดชีวิต” ออกมาจากด้านใน..เป็นโลกที่ตั้งอยู่เหนือ..เขตคามแห่งความสมหวัง..
ภาษา ณ ตอนนี้ของ “พัฒนะ” ..คือบทเริ่มต้นแห่งใจเหนือใจ...กลางมหาสมุมทรของความรู้สึกรัก..ผ่านสายเลือดและความคิดคำนึงของพ่อ..ผู้เปรียบค่าตัวตนว่าเป็นดั่งช่างปั้น..ผู้ประณีตบรรจงต่อการดูแลและรับเลี้ยงชีวิต.. “ตะแกรงร่อนส่วนเสียแล้วเกลี่ยทิ้ง/เก็บแต่สิ่งเนียนอ่อนร่อนลงใส่..” นวดเนื้อนิ่มนวลทั่วด้วยหัวใจ/ผสมสัดส่วนไว้ให้พอดี/แต่งแบบตามองค์ทรงชีวิต/เนรมิตรูปทรงลงเส้นสี/ด้วยสองมือของพ่อจะต่อตี/กับรูปร้ายที่มีมาผจญ/เชื่อเถิดหนอพ่อนั้น จะปั้นเจ้า/ตามแบบเบ้าให้เห็นเกิดเป็นผล/ให้รู้ดีรู้ชั่วในตัวตน/เฝ้าฝึกฝนความคิด พิจารณา”
กวีนิพนธ์ค่อยๆเปิดเผยให้เห็นวิถีแห่งการเลี้ยงดูลูกให้เติบใหญ่ ในฐานะลูกสาว.. “พัฒนะ” ได้สะท้อนโลกทัศน์และชีวทัศน์ต่อการเลี้ยงดูลูกสาวของเขา..ออกมาอย่างน่าใคร่ครวญและเป็นบทเรียนแห่งชีวิตที่ชวนจดจำและเรียนรู้ในนามของเจตจำนงที่มีค่ายิ่ง “อย่าน้อยใจไปเลยเจ้าเอยเอ๋ย/พ่อไม่เคยมีเงินทองเป็นถุงถัง/สู้ลำบากตรากตรำด้วยกำลัง/แต่เราพอใช้พอได้กิน/พ่อของพ่อเลี้ยงพ่อให้พออยู่/เลี้ยงให้รู้ ให้รัก ไม่หักซิ่น/รากของพ่อเกาะเเน่นแนบแผ่นดิน/แต่ใจพ่อก็มีจินตนาการ/พ่อมีจินตนาการตระการฟ้า/ไม่ต้องใช้เงินตรามาโปรยหว่าน/เพียงรูปแบบชีวิต จิตวิญญาณ/ที่ผ่านกล้า ผ่านร้าน จนกรอบเกรียม”
วิถีของโครงสร้างในการมีชีวิตอยู่...รวมไปถึงการสอนสั่งผ่านการปฏิบัติอันถ่อมตน .ถ่อมสุภาพของผู้เป็นพ่อ...ทำให้ตัวอย่างของการเลือกใช้แนวทางปฏิบัติแห่งชีวิต..ดำเนินไปสู่ฐานรากของความยั่งยืน...เมือเรารู้จักและรู้สึกถึงสถานะ..เราจะมีดวงตาของการเกื้อหนุนและเพ่งพินิจชีวิต.."การเรียนรู้และรับรู้ในรู้สึก"จักเกิดขึ้น ณ โอกาส อันวิจิตรและซาบซึ้งนี้..เป็นตัวตนแห่งตนในทรงจำแห่งวัตรปฏิบัติต่อลูก..ที่เคลื่อนขยายไปทั้งชีวิต นี่คือผลลัพธ์แห่งความภาคภูมิใจ..ในบทบาทอันสัมฤทธิ์ผลของลูกในเวลาต่อมา...กระทั่งนับเนื่องถึงวันนี้...
“รับขวัญปีที่ห้า ของลูกสาว/ทางสายยาวให้เจ้านี้รู้ดี-ชั่ว/พ่อกับแม่มีแต่จะแก่ตัว/จงเป็นบัวกลีบหอมที่พร้อมบาน...”
“พัฒนะ” พัฒนาจิตวิญญาณด้านลึกของลูก..ให้ผสานเข้าใจกับริบททางการเมืองที่ยอกย้อนของประเทศ..ด้วยการชี้แนะอย่างจุดประกาย...ให้ลูกได้เลือกที่จะเข้าใจในสิ่งที่มีค่านี้ แต่กลับสลับซ้อนและเต็มไปด้วยเล่ห์กลอันชวนคลางแคลงใจมากมาย..กวีนิพนธ์ชนะเลิศรางวัล “พานแว่นฟ้า” เมื่อปี 49..ได้ระบุและตอกสลัก..มโนสำนึกให้ “คนรุ่นลูก” ต้องหวนกลับไปคิดใคร่ครวญในสถานการณ์อันหวั่นวิกฤติและไม่น่าวางใจนั้น..อีกครั้งและอีกครั้ง..
“เนื้อแท้นั้น...เจ้าบุญปลูกลูกรู้ไหม?/ว่าประชาธิปไตยในเบื้องต้น/คือ ประชาธิปไตย อยู่ในตน/เพื่อรอคนรู้ค่านำพาไป/ เพราะประชา คือผู้นำ คืออำนาจ/เป็นผู้ครองบทบาทอันยิ่งใหญ่/ผ่านกระบวนการ “อธิปไตย”/โดยเลือก คนเข้ามาใช้ในสภา/พ่อจึงยึดนามนี้ไว้ในมือ/เพราะนั่นคืออำนาจอันทรงค่า/ที่แสดงด้วยหยาดเลือด... หยาดน้ำตา/จึงงดงามสง่ากว่าสิ่งใด”
การปลูกฝังสำนึกคิดอันเป็นปณิธาน..ถือเป็นคำสอนที่ขยายขอบเขตเป็นวงกว้างต่่อการพิเคราะห์รับรู้และเป็นการมุ่งมั่นปฏิบัติแห่งคำสอนของพ่อที่ทั้งโบยบิน เลือกสรร และเป็นคุณค่า..ก่อนจะเติบกล้าขึ้นเป็นผู้ใหญ่..จนสามารถเลือกอุดมคติประจำชีวิตที่มีค่า..ผ่านข้ามอุปสรรคนานากระทั่ง..ก่อเกิดเป็นประโยชน์ต่อจิตใจและสำนึกคิดที่เป็นเสรี..ในที่สุด
พรุ่งนี้..เจ้าจะเปลี่ยนคำที่นำหน้า แม่เจ้าว่าจะหาซื้อสร้อยเส้นใหม่..พ่อก็นั่งตอบความว่า “ตามใจ”..แล้วก็ก็เขียนอะไร...จดใจความ.. สมุดบันทึกปกอ่อนอาจหย่อนงาม..อ่านแล้วเจ้าอย่าถามถึงที่มา..พรุ่งนี้เจ้าจะเปลี่ยนคำที่นำหน้า ก่อนกำลังวังชาพ่อเฉาแห้ง และก่อนที่แววตาจะล้าแรง อยากเห็นแสงแห่งดาวจากสาวน้อย
แสงแห่งความของพ่อทอดตามอายุไขของลูกที่เจริญวัยขึ้น...จากเด็กน้อย..สู่ความเป็นผู้ใหญ่ที่สามารถประคองและเลี้ยงดูตัวเองในบางส่วนแห่งรูปรอยชีวิต...เป็นความรักที่ถูกบันทึกไว้ด้วยสายใยแห่งความห่วงหาอาทร..อันนิมิตเป็น..ความงามแห่งใจของกวีนิพนธ์ในบทสำคัญ..ที่พรั่งพรูออกมาจากคลื่นอารมณ์..
“เท้านิ่มจะถูกตำเมื่อย่ำหนาม/หากหลงดอกไม้งามเมื่อย่ำสวน/เท้าบางบางจะไม่เหลือเส้นนวลนวล/ไม่งามแล้วไม้นวลในสวนไม้/เมื่อรอยลั่นรอยเเรกได้แตกลั่น/คลื่นอารมณ์ครืนครั่นสนั่นไหว/พลัดไม้..พลัดดอก...ไกลออกไป/เลือดตกในอารมณ์สีชมพู”
“สัมพันธภาพแห่งความรัก”...ที่พ่อมีต่อลูกอย่างล้นเหลือ(Sentimental )..ถือเป็นจุดผูกพันแห่งการร้อยเรียงท่วงทำนองของความดื่มประทับใจของชีวิตแห่งกวีคนหนึ่ง...ที่ข้ามผ่านจากความจริงแท้แห่งชีวิต มาสู่ความงามแห่งใจอันสูงสุด ไปสู่...ผัสสะล้ำลึกของชีวิตเชื่อมชีวิตอันมิรู้ลืม..
บันทึกความทรงจำ...ในรสชาติแห่งกวีนิพนธ์ที่จุดประกาย และ สะพรั่งบานคลาคล่ำไปด้วยมวลดอกไม้แห่งความกรุณา..คือพลังปัจจัยอันสูงส่งที่ทำให้ “ชีวิตของมนุษย์"คนหนึ่งได้รับรางวัลชีวิต..อันอิ่มเอมจากความรักอันเป็นเนื้อแท้แห่งกลิ่นอายของผู้ให้กำเนิด..ที่หาสิ่งใดเปรียบปาน..ยากเสมือน..
“เรือน โลกราวล่มแล้ว ละลายหอม หอม กว่าหยาดพะยอม นั่นเจ้า เจ้า เอยรักถนอม อกพ่อ-แม่เอย เอย กล่อมเรือนแก่เหย้า กรุ่นให้เรือนหอม..ในส่วนกลางของรวมกวีนิพนธ์ทั้งหมด.. “พัฒนะ"เลือกใช้ประสบการณ์ทั้งภายนอกและภายในของเขา สอดสานความคิดและการตีความ..ทั้งเชิงพรรณนา วิเคราะห์ กระทั่งตีแผ่เหยียดเย้ยอุบัติการณ์ที่บังเกิดขึ้นผ่านโครงสร้างของความเป็นชีวิตอย่างซ้อนซ้ำ..นั่นจึงเป็นนัยแห่งเรืองราวที่ชวนจับจ้องบนวิถีแห่งสัมพันธ์ชีวิต..
“ผูกพันในวิถีแห่งชีวิต” บทตอนนี้.. “พัฒนะ” สื่อความออกมาอย่างเปิดเปลือยถึงแก่นแท้.. “เขาอามิสคุณก็มาให้อามิส/แลกกับสิทธิ์เมื่อไปอยู่ในคูหา../คุณค่าคุณเลือนหายจากสายตา/หลัง"คุณลงมือฆ่าคุณค่าคุณ/ เกียรติแห่งนักการเมืองถูกคุณฆ่า/ความศักดิ์สิทธิ์ในสภาจับฝ้าฝุ่น/วงเวทีพร้อมพรักนักลงทุน/คงสิ้นบุญแล้ว"ประชา,อธิปไตย..”
พลังกวีที่วิพากษ์เสียดสีอย่างตรงไปตรงมาบทนี้ถูกเปรียบไปถึง “อัตวินิบาตกรรม"ของนัการเมืองไทย..ที่ซากร่างแห่งความตายในเกียรติยศของพวกเขาถมทับถมกันเป็นซากศพที่ไร้ศักดิ์ศรี..ท่วมแผ่นฟ้า..มันเป็นโวหารสำนึกที่กรีดความรู้สึกออกมาจากใจสู่ใจอันวิกฤต..” เราอยู่ท่ามกลางวิบากอันหลากหลาย/กลางภาวะวุ่นวายโหมกระหน่ำ/ผูกเงื่อนปมสร้างกรอบมาครอบงำ/บีบสังคมบอบช้ำอยู่ร่ำไป/
การที่เราอยู่เป็นกันเช่นนี้/เชื่อเถิดผีบรรพชนย่อมก่นไห้/พระภูมิเสาเมืองหลักยิ่งหนักใจ/ทอดอาลัยในทุกขเวทนา/
สังคมประเทศที่ตกอยู่ในเงื้อมเงาของความเจ็บปวดเช่นนี้..แม้จะมีบุญบารมีอะไรมาช่วยคุ้มหัว/มันก็"ว่างเปล่าในเปล่ากลวง"..เหมือนกิริยาอาการของการทำท่าเคารพบางสิ่งบางอย่างในทุกวันนี้..มันไม่ได้ผุดพรายออกมาจากหัวใจอันแท้จริง..
“จุดชนวนคุกรุ่นความรุนแรง/สังคมแบ่งฟากฝ่ายเป็นซ้ายขวา/สายสัมพันธ์สะบั้นแล้วในแววตา/รอเวลาเหตุการณ์หากบานปลาย..” แล้วก็มาถึงช่วงของ “บทตอนสุดท้าย”...แห่งรวมกวีนิพนธ์ของ “พัฒนะ” ..ดวงตาแห่งความคิดของเขาตลอดการปลูกสร้าง รับใช้ และได้ใช้ชีวิต..คือสัญญาณแห่งญาณทัศนะที่ซื่อตรงของเขาที่มีต่อสิ่งต่างๆรอบข้าง/ สายตาแห่งความคิด..ที่ได้เพ่งพินิจถึงสิ่งต่างๆ..ได้ก่อเกิดเป็นโลกทัศน์แห่งสัจธรรมที่ยากจะโต้แย้งและมองข้ามผ่าน...
เหนือข้อสรุปเหล่านี้มันคือ “ความงามแห่งพายุที่มีเหล่าฝูงผีเสื้อโบยบินอยู่/เป็นความงามซ้อนอยู่ในความงาม/เป็นความเจ็บปวดที่ฝังลึกอยู่ในความเจ็บปวด/และที่สุด มันคือความหวังที่เจิดจรัสอยู่ในความหวัง..” สัญญาณพายุ คุฟ้าคลั่ง/สาดสั่งวังวนฝนกระหน่ำ/ดั่งโลกรอกลืนในคลื่นน้ำ/สูง-ต่ำ เบื้องหน้าฟ้าจรดทะเล/แล้วเสียงโหมโถมถั่งโลกดังสนั่น/ลมป่วน คลื่นครวญปั่นบรรโลมเห่/ฟาดแสงวาบปราบปะทะเกินคะเน/หลังนางนวลบินเร่ลาคืนรัง ชีวิตมักมีข้อสรุปแห่งตัวตนเสมอ...และ บริบทแห่งการใส่ใจและวาดหวังในชีวิต..ทำให้เกิดลีลาแห่งวัฏจักรอันเป็นส่วนตัว..ก่อนที่จะคลายเคลื่อนสู่การเป็นดวงตาของสังคม..จวบจนลอยล่องสู่การสัมผัสรู้สารพัน..
นั่นหมายถึงการก้าวย่างบนวิถีกวีจากความเป็นเป้าหมายส่วนตัวอันเร้นลึก...สู่เป้าหมายทางสังคมอันแผดกล้า..กระทั่งบรรลุถึงจักรวาลแห่งการหยั่งรู้อันไกลโพ้น.. “ล่องลอยเถิดเจ้าผีเสื้อกระดาษ/จงบินอย่างผงาดไปวาดฝัน/สัมผัสสู่สัจจาสารพัน/รู้เท่าทัน รู้โลก โชคชะตา/เถิดชีวิต จงเป็นเช่นฉะนี้/สู่สักขี แห่งการแสวงหา/รุ่งรวีโอบขวัญสวรรยา/เถอะนะ! ผีเสื้อข้า จงกล้าบิน”..
“...ผมอ่านรวมกวีนิพนธ์"เรือนในรัก โลกในเรา” ..เล่มนี้จบลง/ด้วยรู้สึกถึงความหมายแห่งบทบันทึกอันรื่นรมย์และถ่อมสุภาพของชีวิต/นี่เป็นรวมกวีนิพนธ์เล่มแรกของ “พัฒนะ ปฐมพงศ์” ในวารวัยที่เติบกล้า..ด้วยประสบการณ์และเนื้อแท้แห่งรสสัมผัสของชีวิต/ประสบการณ์ในด้านการเขียนมาเนิ่นนานทำให้ “ผลึกกวี” ในความเป็นกวีของเขาเต้นเร่าดั่งมีหัวใจ../มันเป็นความเรียบง่ายที่อบอวลไปด้วยกลิ่นของ “แสงธรรม” แห่งการตื่นรู้..
การรู้เท่าทันมายาคติแห่งโลกและสนามที่เปิดกว้างแห่งหัวใจตนเอง/ทำให้ชุมนุมกวีชุดนี้..ตื่นตระการไปด้วยจิตวิญญาณแห่งปรารถนาอันพิสุทธิ์เป็นปาฏิหาริย์ที่เปี่ยมเต็มไปด้วยดุลยภาพ..ของความหวังแห่งความหวังของชีวิต.. “ปรารถนา” เธออาจเคยพลาดพลั้ง/ความเกรอะกรังฝากแผลความแพ้พ่าย/คนยังคงผลัดรุ่นความวุ่นวาย/ผ่านเรืองรอง-ล่มสลาย มาหลายครา “..ว่ากันว่า...กว่ามือแห่งจักรวาลจะปั้นโลก...จนเป็นด้าว เขตแดน น้ำ แผ่นดิน.. “วัฒนาสภาวะโลกธาตุ กำเนิดเชื้อชนชาติต่างศาสตร์-ศิลป์ ดำรงชีพ สร้างอาณาเพื่อหากิน สืบเผ่าพงศ์ดำรงถิ่น...แค่สิ้นใจ"