จากนโยบายของรัฐบาลที่จัดตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ (ซูเปอร์บอร์ด ซอฟต์พาวเวอร์) เพื่อขับเคลื่อนและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของประเทศไทย ผ่านต้นทุนทางวัฒนธรรม “Soft Power of Thailand” โดยได้กำหนดเป้าหมายการดําเนินงานออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะ 100 วัน ระยะ 6 เดือน และระยะ 1 ปี โดยให้ทางภาคเอกชนช่วยสนับสนุน  พร้อมเสนอแนะรัฐบาลเกี่ยวกับการตีโจทย์พัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ของไทยให้โดนใจตลาดต่างประเทศ

พร้อมผลักดันสู่เป้าหมายรวม

โดย นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า รัฐบาลเชื่อมั่นว่านโยบายด้านซอฟต์พาวเวอร์จะเป็นกลยุทธ์สำคัญที่จะช่วยส่งเสริมให้เกิดความเชื่อมั่นและกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวคุณภาพ รวมถึงพัฒนาศักยภาพและเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในตลาดโลก พร้อมผลักดันไปสู่เป้าหมายภาพรวมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยตามที่ตั้งไว้ทำรายได้รวมการท่องเที่ยวาปี 2567 สร้างรายได้ 3.5 ล้านล้านบาท

ล่าสุดการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ครั้งที่ 2/2567 ได้มอบนโยบาย 3 ข้อ ให้คณะกรรมการฯ เน้นย้ำการใช้งบประมาณให้คุ้มค่า เกิดประโยชน์สูงสุด โดยมีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมฯ พร้อมด้วย รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง นางสาวแพทองธาร ชินวัตร รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ และคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ เข้าร่วมประชุม

ซึ่ง นางสาวสุดาวรรณ  กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีมอบนโยบายต่อที่ประชุมว่า นโยบายในแต่ละสาขา ควรเตรียมความพร้อมสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมและคน ในช่วงของต้นน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำ เพื่อให้ครอบคลุมถึงประชาชนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะผู้ที่เริ่มต้น ต้องการฝึกฝนหรือเรียนรู้เพื่อสร้างอาชีพต่อไปในอนาคต โดยได้มอบนโยบายในการทำงาน จำนวน 3 ข้อ ดังนี้ ข้อ 1 ขอให้ทำแผนการ “รับ Register” เพื่อคัด 1 ครอบครัว 1 soft power ให้เร็วที่สุด เพื่อจะได้แยกความรู้ความสามารถตามความชำนาญและสาขาอาชีพ และนำคนไปเข้าหลักสูตรฝึกอบรม

ทั้งนี้ควรจะมีทั้ง Online และ Onsite ตามความสามารถ รวมถึงต้องจัด Class และวิธีการคัดเลือกผู้เข้าเรียนให้ทั่วถึง และยุติธรรม ข้อ 2 ขอให้เตรียม “เนื้อหา Content” ที่จะใช้ในการ Upskill/Reskill ให้ตรงกับความชำนาญ และเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ First Impression ในการเรียนรู้สำคัญมาก เพื่อที่ให้ประชาชนสมัครเข้ามาได้พบเนื้อหาที่จะนำไปพัฒนา ด้วยวิธีการเรียนการสอนที่เข้าใจง่าย มีมาตรฐานที่ดี และข้อที่ 3 การจัด Event ที่จะต้องมีการ “ต่อยอด” จากที่ภาคอุตสาหกรรมทำอยู่แล้ว

โดยมีภาครัฐเข้าไปช่วยพิจารณาในการต่อยอด Event ที่ทำแล้วจะช่วยขยายผลได้มาก ต่อยอดจากภาคอุตสาหกรรมให้เข้าถึงคนได้มากขึ้น และต้องให้แน่ใจว่าการต่อยอดนั้นเป็นประโยชน์มากขึ้น มีความคุ้มค่าในการลงทุน ด้วยเหตุนี้จึงต้องมีตัวชี้วัดชัดเจนว่า การที่รัฐเข้าไปลงทุนจะช่วยขยายผลได้อย่างไร

ลดความซ้ำซ้อนการดำเนินงาน

พร้อมกันนี้ นางสาวสุดาวรรณ  ยังกล่าวว่า นายกรัฐมนตรียังได้กำชับให้ผู้ที่เกี่ยวข้องพิจารณารายละเอียดของโครงการ ลดความซ้ำซ้อนการดำเนินงาน และเน้นย้ำเรื่องการใช้จ่ายงบประมาณต้องถูกต้องตามระเบียบราชการ ตรงตามวัตถุประสงค์ ให้คำนึงถึงความคุ้มค่าและประโยชน์ที่ได้รับเป็นสำคัญ โดยให้เรียงลำดับความสำคัญของโครงการในการพิจารณางบประมาณ

อีกทั้งยังขอให้คณะกรรมการ และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยกันขับเคลื่อน ผลักดันนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม เกิดประโยชน์สูงสุด หากติดขัดปัญหาตรงไหนขอให้รายงานมาให้ทราบ เพื่อจะได้แก้ไขปัญหาช่วยให้เกิดผลสำเร็จตามระยะเวลาที่กำหนดไว้