รายงาน กนง.ชี้ ดบ.ปัจจุบันสอดคล้องกับแนวโน้ม ศก.-เงินเฟ้อ รวมทั้งเอื้อต่อการรักษาเสถียรภาพการเงินในระยะยาว
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยแพร่รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 10 เม.ย.67 ซึ่งที่ประชุม กนง.มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ระดับเดิมที่ 2.50% เนื่องจากคณะกรรมการฯ ส่วนใหญ่ ประเมินว่าอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันยังสอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ รวมทั้งเอื้อต่อการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในระยะยาว กรรมการที่เข้าร่วมประชุม นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ (ประธาน) นางอลิศรา มหาสันทนะ (รองประธาน) นางรุ่ง มัลลิกะมาส นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน นายรพี สุจริตกุล นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส นายสันติธาร เสถียรไทย
ภาวะเศรษฐกิจโลกและภาวะตลาดการเงินโลก เศรษฐกิจประเทศคู่ค้ามีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่องที่ร้อยละ 2.6 และ 2.7 ในปี 2567 และ 2568 ตามลำดับ แต่ผลดีต่อการค้าโลกมีจำกัด เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐฯที่เป็นแรงขับเคลื่อนหลักยังคงขยายตัวจากภาคบริการ ขณะที่เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงจากปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ยืดเยื้อ โดย การบริโภคที่อ่อนแอและกำลังการผลิตส่วนเกินของจีนนำไปสู่ภาวะสินค้าล้นตลาด ซึ่งสร้างแรงกดดันต่อ ภาคการผลิตและการส่งออกสินค้าในหลายประเทศ ด้านการฟื้นตัวของวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์โลกยังคงกระจุก ตัวอยู่ในกลุ่มสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูง ส่งผลให้การส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ของบางประเทศในภูมิภาคเอเชีย ยังได้รับประโยชน์ไม่เต็มที่ ภาวะตลาดการเงินโลกสะท้อนความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่ปรับดีขึ้น (risk-on sentiment) ตามเศรษฐกิจโลก ที่ขยายตัวต่อเนื่องและเงินเฟ้อที่ทยอยปรับลดลง ส่งผลให้ราคาสินทรัพย์เสี่ยงปรับสูงขึ้นและเงินทุนเคลื่อนย้าย ไหลเข้าประเทศภูมิภาคมากขึ้น
อย่างไรก็ดี ผู้ร่วมตลาดปรับการคาดการณ์ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ ธนาคารกลางสหรัฐฯ ออกไปเป็นช่วงกลางปีจากข้อมูลเงินเฟ้อที่ลดลงช้ากว่าคาด ส่งผลให้เงินดอลลาร์สรอ. ยังทรงตัวในระดับแข็งค่า ภาวะเศรษฐกิจไทย เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวที่ร้อยละ 2.6 และ 3.0 ในปี 2567 และ 2568 ตามลำดับ โดยมีปัจจัย สนับสนุนจาก (1) ภาคการท่องเที่ยวที่ปรับดีขึ้น สะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติและค่าใช้จ่ายต่อคนที่ อยู่ในทิศทางขยายตัว โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะอยู่ที่ 35.5 ล้านคน และ 39.5 ล้านคนในปี 2567 และ 2568 ตามลำดับ (2) การบริโภคภาคเอกชนที่มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องแม้ชะลอลงจากอัตรา การขยายตัวที่สูงในปี2566 โดยการบริโภคหมวดบริการและการใช้จ่ายของกลุ่มรายได้สูงเป็นแรงสนับสนุน สำคัญ และ (3) การใช้จ่ายภาครัฐที่จะกลับมาเพิ่มขึ้นในช่วงที่เหลือของปีหลังลดลงมากในช่วงก่อนหน้า ในขณะที่ภาคการส่งออกและการผลิตมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปในช่วงครึ่งหลังของปี
ทั้งนี้แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้ามีความไม่แน่นอน จากการฟื้นตัวของภาคการส่งออกที่อาจช้ากว่าคาด ปัญหาภาวะสินค้าล้นตลาดและปัจจัยเชิงโครงสร้างของไทย รวมถึงผลของการเบิกจ่ายงบประมาณและ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ แต่มีแนวโน้มทยอยเพิ่มขึ้นเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงปลายปีนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2567 และ 2568 อยู่ที่ร้อยละ 0.6 และ 1.3 ตามลำดับ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานใน ปี 2567 และ 2568 มีแนวโน้มทรงตัวอยู่ที่ร้อยละ 0.6 และ 0.9 ตามลำดับ
โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2567 ที่อยู่ในระดับต่ำเป็นผลจากปัจจัยเฉพาะด้านอุปทานเป็นสำคัญ ได้แก่ (1) ราคาอาหารสดบางกลุ่มที่ปรับลดลงอาทิ ราคาผักและราคาเนื้อสุกร จากปริมาณผลผลิตที่เข้าสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก และ (2) ราคาพลังงานที่ปรับ ลดลงจากมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพภาครัฐ ซึ่งหากหักผลของมาตรการดังกล่าว อัตราเงินเฟ้อทั่วไปตลอด ช่วงที่ผ่านมายังคงเป็นบวก ทั้งนี้ ต้องติดตามความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจทำให้ราคาน้ำมันดิบ ในตลาดโลกสูงขึ้น รวมถึงมาตรการช่วยเหลือราคาพลังงานของภาครัฐที่อาจส่งผลต่อราคาพลังงานในประเทศ ในระยะต่อไป
ภาวะการเงินในประเทศโดยรวมทรงตัว ต้นทุนการกู้ยืมของภาคเอกชนผ่านธนาคารพาณิชย์และ ตลาดตราสารหนี้ทรงตัวใกล้เคียงเดิม ยอดคงค้างสินเชื่อภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนขยายตัวชะลอลงจาก การชำระคืนหนี้ ขณะที่ปริมาณสินเชื่อปล่อยใหม่ในภาพรวมยังมีต่อเนื่อง อย่างไรก็ดีกลุ่มธุรกิจขนาดเล็กบาง กลุ่มและครัวเรือนรายได้น้อยยังเผชิญกับภาวะการเงินที่ตึงตัวจากปัญหาเชิงโครงสร้างในการเข้าถึงสินเชื่อ รวมถึงความสามารถในการชำระหนี้ที่ปรับลดลงจากรายได้ที่ฟื้นตัวช้า สำหรับอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบ ดอลลาร์ สรอ.เคลื่อนไหวผันผวน โดยปรับอ่อนค่านำสกุลภูมิภาคตามการคาดการณ์ทิศทางนโยบายการเงิน ของธนาคารกลางสหรัฐฯ ประกอบกับปัจจัยด้านเศรษฐกิจการเงินในประเทศในช่วงที่ผ่านมา
ประเด็นสำคัญที่คณะกรรมการฯ อภิปราย
• คณะกรรมการฯ ประเมินว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยที่โน้มต่ำลงหลังวิกฤตโควิด สะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างที่กดดันศักยภาพเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคการส่งออกและการผลิตที่เผชิญ ความท้าทายจากความสามารถในการแข่งขันที่ปรับลดลง อีกทั้งอาจได้รับแรงกดดันเพิ่มเติมจากกำลัง การผลิตส่วนเกินของจีนและภาวะสินค้าล้นตลาด ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยได้รับผลดีจากการฟื้นตัวของ เศรษฐกิจโลกจำกัด อย่างไรก็ดีเศรษฐกิจไทยในปีนี้ยังมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่สูงขึ้นจากปีก่อน อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไตรมาสเทียบไตรมาสในปี 2567 คาดว่าจะเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณร้อยละ 1.0 ซึ่งอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในอดีต โดยได้รับแรงส่งสำคัญจากปัจจัยเชิงวัฏจักรที่มีแนวโน้มปรับดีขึ้น โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายภาครัฐในช่วงที่เหลือของปีในขณะที่แรงฉุดจากปริมาณ สิงค้าคงคลังที่อยู่ในระดับที่สูงมากผิดปกติในช่วงที่ผ่านมาคาดว่าจะบรรเทาลง ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยในระยะ ข้างหน้ามีความไม่แน่นอนสูงจากหลายปัจจัย ได้แก่ (1) การฟื้นตัวของการส่งออกสินค้า (2) แรงส่งจาก การใช้จ่ายภาครัฐ โดยขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพในการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐในช่วงที่เหลือของปีและ (3) การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลในระยะต่อไป
• คณะกรรมการฯ ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำจากแรงกดดันด้านอุปทานและมาตรการ ภาครัฐเป็นหลัก แต่จะทยอยเพิ่มขึ้นเข้าสู่กรอบเป้าหมายภายในปลายปีนี้โดยการลดลงของราคาสินค้า ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นวงกว้าง แต่จำกัดอยู่ในบางกลุ่มสินค้า ได้แก่ ราคาอาหารสดและราคาพลังงาน สำหรับ ราคาสินค้าในหมวดพื้นฐานโดยรวมยังคงปรับเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปาน กลางยังอยู่ในกรอบเป้าหมาย ทั้งนี้คณะกรรมการฯ เห็นว่าอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มอยู่ในระดับใกล้เคียง ขอบล่างของกรอบเป้าหมายนั้นยังไม่มีประเด็นน่ากังวล เนื่องจากเป็นผลของปัจจัยด้านอุปทานเป็นหลัก และไม่มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเงินฝืด นอกจากนี้อัตราเงินเฟ้อปัจจุบันที่อยู่ในระดับต่ำช่วยบรรเทา ปัญหาค่าครองชีพของครัวเรือนหลังจากเร่งสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ดีคณะกรรมการฯ มีข้อสังเกตว่า ราคาสินค้าและบริการบางกลุ่มซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในดัชนีราคาผู้บริโภค เช่น ค่าเช่าบ้าน ยานพาหนะ และการสื่อสาร มีการเคลื่อนไหวค่อนข้างน้อยมาเป็นเวลานาน คณะกรรมการฯ จึงเห็นควรให้ศึกษาประเด็นดังกล่าวเพิ่มเติม เพื่อประโยชน์ต่อการประเมินพลวัตเงินเฟ้อและค่าครองชีพของ ครัวเรือนให้สอดคล้องกับพัฒนาการในปัจจุบันมากขึ้น
• คณะกรรมการฯ ตระหนักถึงภาวะการเงินที่ตึงตัวขึ้นของธุรกิจขนาดเล็กบางกลุ่มและครัวเรือนรายได้ น้อย โดยสถาบันการเงินมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อกับลูกหนี้กลุ่มดังกล่าวมากขึ้นตาม ความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ที่ด้อยลงจากรายได้ที่ฟื้นตัวช้า อีกทั้งธุรกิจขนาดเล็กมีปัญหาเชิงโครงสร้างในการเข้าถึงสินเชื่อมาอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดีภาวะการเงินไม่เป็นข้อจำกัดต่อ การขยายตัวของเศรษฐกิจในภาพรวม สะท้อนจาก (1) ต้นทุนการกู้ยืมของภาคเอกชนผ่านธนาคาร พาณิชย์และตลาดตราสารหนี้ที่ทรงตัวตามอัตราดอกเบี้ยนโยบายตั้งแต่เดือนกันยายน ปี 2566 (2) ภาคธุรกิจและครัวเรือนยังได้รับสินเชื่อใหม่ แม้ยอดคงค้างสินเชื่อจะลดลงจากการชำระคืนหนี้ และ (3) ภาคธุรกิจและครัวเรือนในภาพรวมยังสามารถชำระหนี้ได้ แม้ยอดคงค้างสินเชื่อด้อยคุณภาพในบางหมวด เช่น รถยนต์ทยอยปรับเพิ่มขึ้นจากการเร่งปล่อยสินเชื่อไปมากในช่วงก่อนหน้า แต่คาดว่ายอดคงค้างสินเชื่อ ด้อยคุณภาพดังกล่าวจะไม่เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด
• คณะกรรมการฯ มีความกังวลเกี่ยวกับหนี้ครัวเรือนของไทยที่อยู่ในระดับสูง และเห็นว่ากระบวนการ ปรับลดสัดส่วนหนี้ต่อรายได้(debt deleveraging) ควรมีอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากยอดคงค้างหนี้ที่อยู่ ในระดับสูงจะฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาว โดยเฉพาะหากเป็นการก่อหนี้ที่ไม่ช่วยให้เกิด รายได้หรือสะสมความมั่งคั่งในอนาคต (unproductive loans) ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ เห็นว่าการแก้ปัญหา หนี้ครัวเรือนให้มีประสิทธิผลควรมาจากการสร้างงานและเพิ่มรายได้ให้กับภาคครัวเรือน รวมทั้งการให้ สินเชื่อที่สอดคล้องกับศักยภาพในการชำระคืนของผู้กู้เป็นหลัก ขณะที่อัตราดอกเบี้ยควรอยู่ในระดับที่ ไม่ต่ำเกินไปที่จะเพิ่มการสะสมความเปราะบางของเศรษฐกิจในระยะยาว จึงสนับสนุนนโยบายของ ธปท. ในการดำเนินมาตรการเฉพาะจุดผ่านสถาบันการเงิน โดยเฉพาะมาตรการการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบ และเป็นธรรม (Responsible Lending) ซึ่งจะมีประสิทธิผลมากกว่าและมีต้นทุนน้อยกว่าการใช้อัตรา ดอกเบี้ยนโยบาย
• คณะกรรมการฯ เห็นว่าเงินบาทเทียบดอลลาร์ สรอ. เคลื่อนไหวผันผวนสูง และอ่อนค่านำสกุลภูมิภาค โดยมีสาเหตุจากทั้งปัจจัยต่างประเทศ ได้แก่ ผู้ร่วมตลาดปรับการคาดการณ์ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ของธนาคารกลางสหรัฐฯ เป็นสำคัญ รวมทั้งปัจจัยด้านเศรษฐกิจการเงินในประเทศ เช่น ตัวเลขเศรษฐกิจ ไทยที่ออกมาต่ำกว่าคาดในช่วงที่ผ่านมา และราคาทองคำที่เคลื่อนไหวผันผวน จึงเห็นควรให้ติดตามการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิด
• กรรมการส่วนใหญ่เห็นว่าอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับการรักษาเสถียรภาพ เศรษฐกิจและการเงิน รวมถึงเห็นว่านโยบายการเงินมีประสิทธิผลจำกัดในการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง โดยพิจารณาว่า (1) อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยที่โน้มต่ำลง ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากปัญหา เชิงโครงสร้าง ยังไม่ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับที่เป็นกลางต่อเศรษฐกิจ (neutral interest rate) เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ (2) อัตราดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบันเอื้อให้debt deleveraging เกิดขึ้นได้ ต่อเนื่อง โดยเห็นว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยช่วยลดภาระหนี้ในระยะสั้น แต่จะเสริมแรงจูงใจให้เกิดการ ก่อหนี้ใหม่เพิ่มเติม ส่งผลให้ยอดคงค้างหนี้ยิ่งสูงขึ้น ซึ่งเพิ่มความเปราะบางและฉุดรั้งการเติบโตของ เศรษฐกิจในระยะยาว และ (3) อัตราดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบันสามารถรองรับความไม่แน่นอนของแนวโน้มเศรษฐกิจและความผันผวนของค่าเงินบาทได้ในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ดีกรรมการพร้อมที่จะปรับอัตรา ดอกเบี้ยนโยบายหากพัฒนาการเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการฟื้นตัวของการส่งออกและการใช้จ่ายและ มาตรการของภาครัฐเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่กรรมการ 2 ท่านเห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง เพื่อให้ (1) สอดคล้องกับศักยภาพเศรษฐกิจที่ขยายตัวต่ำลงจากปัจจัยเชิงโครงสร้างที่ชัดเจนขึ้น และ (2) ช่วยบรรเทาภาระของลูกหนี้ได้บ้าง โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็กและครัวเรือนรายได้น้อยซึ่งมี จำนวนมาก ทั้งนี้ เห็นว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อให้สอดคล้องกับศักยภาพเศรษฐกิจจะไม่กระทบ debt deleveraging อย่างมีนัยสำคัญ
การดำเนินนโยบายการเงิน คณะกรรมการฯ มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 2.50 ต่อปี โดย 2 เสียง เห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี คณะกรรมการฯ เห็นว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2567 มีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่สูงขึ้นจากปีก่อน จากการบริโภคภาคเอกชนและการท่องเที่ยว รวมถึงการใช้จ่ายภาครัฐที่จะกลับมาเพิ่มขึ้นในช่วงที่เหลือของปี ขณะที่การฟื้นตัวของภาคการส่งออกและภาคการผลิตถูกกดดันจากปัจจัยต่างประเทศและปัญหา เชิงโครงสร้าง ด้านอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำจากปัจจัยด้านอุปทาน และมีแนวโน้มทยอยเพิ่มขึ้นเข้าสู่ กรอบเป้าหมายในช่วงปลายปี 2567 ภาวะการเงินโดยรวมทรงตัว และไม่เป็นอุปสรรคต่อการขยายตัว ของเศรษฐกิจในภาพรวม แต่มีธุรกิจขนาดเล็กบางกลุ่มและครัวเรือนรายได้น้อยยังต้องเผชิญกับภาวะการเงินตึงตัว รวมทั้งต้องติดตามความผันผวนของค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิด ระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ แต่คณะกรรมการฯ มีความกังวลเกี่ยวกับหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง และเห็นความสำคัญของ debt deleveraging ที่ควรมีอย่างต่อเนื่อง
คณะกรรมการฯ สนับสนุนนโยบายของ ธปท. ในการดำเนินมาตรการเฉพาะจุดผ่านสถาบันการเงิน โดยเฉพาะมาตรการการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) ภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน กรรมการส่วนใหญ่ประเมินว่าอัตราดอกเบี้ย ปัจจุบันยังสอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ รวมทั้งเอื้อต่อการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ การเงินในระยะยาว อย่างไรก็ดีเศรษฐกิจไทยยังมีความไม่แน่นอนโดยเฉพาะการฟื้นตัวของภาคการส่งออก รวมทั้งผลของการเบิกจ่ายงบประมาณและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ คณะกรรมการฯจะติดตามพัฒนาการดังกล่าวและพิจารณานโยบายการเงินให้เหมาะสมกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในระยะข้างหน้า
#กนง #ดอกเบี้ย #ข่าววันนี้ #แบงก์ชาติ #สยามรัฐวันนี้