"บัวแก้ว" เผยเหตุการณ์สู้รบใน "เมียนมา" สถานการณ์ไม่แน่นอน ประเมินรายชั่วโมง ย้ำ 3 แนวทางปฏิบัติ เผยไทยพร้อมเป็นคนกลางเจรจาหากได้รับการร้องขอ ขณะที่ "เมียวดี" เสียงระเบิดดังแต่เช้า มีทหารเมียนมาที่แตกทัพไปช่วงก่อนรวมตัวกันประมาณ 200 นาย หวังชิงค่ายผาซองคืนจากฝ่ายต่อต้าน
ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 23 เม.ย.67 นายนิกรเดช พลางกูร อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจบริหารสถานการณ์อันเนื่องมาจากความไม่สงบในเมียนมา ว่า ได้มีการประเมินสถานการณ์ซึ่งค่อนข้างยังไม่แน่นอน ต้องประเมินกันเป็นรายชั่วโมง และในช่วงบ่ายของวันนี้ นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ต่างประเทศ ในฐานะประธานคณะกรรมการเฉพาะกิจบริหารสถานการณ์อันเนื่องมาจากความไม่สงบในเมียนมา จะลงพื้นที่ ซึ่งจะเห็นภาพชัดมากขึ้นในหลายเรื่อง ทั้งสถานการณ์สู้รบฝั่งเมียนมา การดูแลความสงบเรียบร้อยของคนไทย และให้ความช่วยเหลือผู้อพยพตามหลักมนุษยธรรม
นายนิกรเดช เปิดเผยอีกว่า ในที่ประชุมวันนี้ได้สรุป 3 หลักการที่จะใช้ บริหารจัดการ การรับมือสู้รบในเมียนมา คือ 1.ยึดมั่นการรักษาอธิปไตยของไทย เป็นเรื่องหลัก ดูแลคนไทยไม่ให้ได้รับผลกระทบ 2.ไม่ให้ใช้ดินแดนของไทยดำเนินกิจกรรม ในการต่อต้านรัฐบาลเมียนมา ซึ่งเป็นหลักปฏิบัติตามปกติอยู่แล้ว 3.ยึดมั่นในหลักมนุษยธรรมกับทุกฝ่ายโดยไม่เลือกปฏิบัติ ถือเป็นหัวใจในการดำเนินการอยู่แล้ว
นอกจากนี้นายปานปรีย์ ยังได้สั่งการให้สภาความมั่นคงแห่งชาติติดตามสถานการณ์ และเป็นหน่วยงานหลัก ส่วนกระทรวงต่างประเทศจะดูแลและพูดคุยในส่วนของต่างประเทศ และองค์การระหว่างประเทศ ที่ให้ความช่วยเหลือต่าง และการประสานงานกับอาเซียนเพื่อแสดงท่าที ส่วนรายละเอียดหลังจากนี้ให้รอฟังหลัง นายปานปรีย์ลงพื้นที่ เพื่อไปดูว่าแผนที่วางไว้เป็นไปตามที่กำหนดหรือไม่ และพร้อมดูแลหากมีผู้อพยพเข้ามามากขึ้น แต่โดยภาพรวมไม่สามารถควบคุมตัวเลขคนเข้าออกได้ เพราะคนที่อพยพเข้ามาคือคนที่รู้สึกไม่ปลอดภัยและหนีอันตรายเข้ามา ซึ่งเราก็รับและให้ความช่วยเหลือหมด ส่วนการเดินทางกลับไปถิ่นฐานเดิมนั้นให้ดูที่ความสมัครใจ และต้องแน่ใจว่าเขาปลอดภัย ดังนั้นตัวเลขเข้าออกจึงมีการปรับเปลี่ยนตลอดเวลา
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีแนวโน้มจะมีการตั้งกองกำลังในประเทศไทยหรือไม่ นายนิกรเดช กล่าวว่า ตั้งกองกำลังในฝั่งไทยไม่ได้ และไม่มีแนวโน้ม ซึ่งเป็นจุดยืนที่ตนย้ำในที่ประชุมว่าเราไม่อนุญาตให้ใช้ดินแดนไทย เป็นฐานในการปฏิบัติการ และทางประเทศเมียนมาก็ทราบดี ถึงแนวปฏิบัตินี้
เมื่อถามว่า จะมีการเจรจากับกลุ่มกองกำลังหรือไม่ นายนิกรเดช กล่าวว่า เราพร้อมมาตลอด แต่ไม่สามารถทำเองได้หากไม่ได้รับการร้องขอจากฝั่งเมียนมาว่าอยากให้ไทยเข้าไปมีบทบาทช่วยเจรจากับทุกฝ่าย ซึ่งเราพร้อมอยู่แล้ว เพราะปัจจุบันยังไม่มีการร้องขออะไร คาดว่าน่าจะมีการหารือเป็นการภายในกันเองอยู่
“ยอมรับว่าประเทศไทยมีความกังวล เพราะไม่อยากให้เพื่อนบ้านมีการสู้รบกันภายใน พอพูดกันมาตลอดว่าอยากให้เกิดสันติภาพ มีเสถียรภาพความมั่นคงในเมียนมา แต่ถ้ามองบทบาทของไทยในอนาคต หากทุกฝ่ายเห็นว่าไทยพร้อม และต้องการให้เข้าไปมีบทบาท ไปเจรจากับทุกฝ่ายเราก็พร้อม” นายนิกรเดช กล่าว
ที่ อ.แม่สอด จ.ตาก ผู้สื่อข่าวรายงานถึงสถานการณ์สู้รบระหว่างทหารเมียนมากับฝ่ายต่อต้าน ในพื้นที่ จ.เมียวดี ตรงข้าม ต.ท่าสายลวด อ.แม่สอด จ.ตาก ว่า วันนี้ชาวเมียนมาและชาวไทยในพื้นที่ ต.ท่าสายลวด แม่ตาว และแม่สอด ได้ยินเสียงระเบิดเกิดขึ้นหลายนัดประมาณ 1 นาที แต่ยังไม่เป็นที่ยืนยันว่าทหารเมียนมาใช้เครื่องบินมาทิ้งระเบิด หรือฝ่ายต่อต้านใช้โดรนทิ้งระเบิดฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
ขณะที่มีรายงานว่า มีทหารเมียนมาที่แตกทัพไปช่วงก่อนๆ ได้รวมตัวกันประมาณ 200 นาย เพื่อจะชิงค่ายผาซอง หรือกองพัน 275 คืนจากฝ่ายต่อต้าน โดยจะเข้าไปสมทบกับทหารกองพล 55 ที่กำลังเดินทางมายังเมียวดี เพื่อชิงเมืองเมียวดีคืน ซึ่งขณะนี้อยู่ในพื้นที่กอกาเลก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้ผู้หนีภัยจากการสู้รบเหลือเพียง 983 คน ณ เวลา 18.00 น. วันที่ 22 เมษายน 2567 จากพื้นที่ปลอดภัยชั่วคราว 2 แห่ง คือที่ท่าทรายรุจิรา ต.ท่าสายลวด อ.แม่สอด จ.ตาก 1 แห่ง และที่บ้านหนองหลวง อ.อุ้มผาง จำนวน 77 คน ส่วนเจ้าหน้าที่ไทย มีทั้งทหารหน่วยเฉพาะกิจราชมนู ตำรวจ สภ.แม่สอด และตำรวจตระเวนชายแดน กองร้อย ตชด.ที่ 346 อ.แม่สอด ยังคงดูแลเฝ้าระวังตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา ตลอด
อย่างไรก็ดี ผู้ลี้ภัยที่กลับไปนั้นไปด้วยความสมัครใจ มีเจ้าหน้าที่ทหารให้การดูแลด้านความปลอดภัยจนลงเรือข้ามไปฝั่งเมียนมา