ศ.สุรชาติแนะแก้ปัญหาแหล่งอาชญากรรมริมเมยคู่ขนานผลกระทบการสู้รบชายแดนแม่สอด-เมียวดี ชี้รมว.มท.-พาณิชย์ลงพื้นที่ เสนอแนวคิด “1ฐาน 3 ขา 6 ช่องทาง” ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรมเผยลูกหลานผู้หนีภัยทะลักเมืองมหาชัย จี้รัฐออกมาตรการรองรับ

เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2567 ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการด้านความมั่นคงให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์ชายแดนไทย-พม่าด้านอำเภอแม่สอด จ.ตาก ซึ่งนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี จะเดินทางมาตรวจเยี่ยมพื้นที่ในวันที่ 23 เมษายนว่า สิ่งที่ประเทศไทยต้องเร่งทำคือเรื่องยุทธศาสตร์เนื่องจากสถานการณ์พม่ามีความผันผวนเร็ว และในความผันผวนเร็วนี้มีความซับซ้อนเนื่องจากเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ และทับซ้อนด้วยปัญหาความขัดแย้ง

ศ.ดร.สุรชาติกล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นเริ่มส่งสัญญาณว่ารัฐบาลไทยต้องคิดเรื่องนี้อย่างจริงจังมากขึ้น ความโชคดีคือจำนวนผู้อพยพยังไม่มากอย่างน่ากังวล แต่ก็เป็นสัญญาณที่บอกว่าอาจจะเกิดการทะลักของผู้อพยพจำนวนมากได้ ถ้าสถานการณ์สงครามขยายตัว จากแนวโน้มที่กองทัพเมียนมาอาจจะเข้าตีเพื่อยึดเมียวดีคืน ดังนั้นการรับมือปัญหาแนวชายแดนจะไม่ใช่เรื่องทหารของกองทัพภาคที่ 3 ฝ่ายเดียว แต่จะมีทั้งความมั่นคงที่เป็นความมั่นคงของมนุษย์ ในกรณีของผู้อพยพ การให้ความช่วยเหลือ อาจต้องมีบทบาทของกระทรวงมหาดไทย แต่วันนี้เราเห็นบทบาทของกระทรวงมหาดไทยน้อยมาก อาจจะเห็นเพียงบทบาทของผู้ว่าราชการจังหวัด

“ผมอยากเห็นบทบาทของ รมว.มหาดไทย ไปดูที่แม่สอดบ้าง ปัญหาการค้าชายแดนที่รัฐบาลมีความกังวล เพราะเมียวดีกับแม่สอดเป็นเมืองแฝดในยุทธศาสตร์การค้าของทั้งสองฝั่ง พอสงครามเกิดก็มีผลกระทบด้านเศรษฐกิจ กรณีอย่างนี้เป็นบทบาทที่กระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจจะต้องเข้ามาดูมากขึ้น รวมถึงปัญหาเรื่องการเปิดด่านที่อาจจะต้องคิดไปข้างหน้าว่า ถ้าด่านที่แม่สอดยังมีความขลุกขลัก มีระยะเวลาของการปิดที่นานขึ้น อาจจะต้องคิดถึงด่านอื่น เช่น ด่านสิงขร จ.ประจวบคีรีขันธ์” ศ.ดร.สุรชาติ กล่าว

ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงกล่าวอีกว่า บทบาทที่สำคัญยังอยู่กับองค์กรในพื้นที่ที่จะทำงานแบบบูรณาการและประสานกัน คำถามที่สำคัญก็คือสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ใครจะเป็นผู้บัญชาการซึ่งตนคิดว่าไม่มีผู้บัญชาการเหตุการณ์ในพื้นที่ซึ่งไม่ได้แล้วเพราะสถานการณ์มีแนวโน้มที่ใหญ่ขึ้น โดยรัฐบาลที่กรุงเทพอาจต้องคิดในกรอบของระบบงานความมั่นคงทั้งระบบเพื่อให้เกิดศูนย์ที่ไม่ใช่แค่สั่งการยุทธวิธี แต่ต้องเกิดศูนย์ควบคุมในระดับของพื้นที่จริงๆ

“ผมเชื่อว่านี่เป็นโจทย์ที่เราไม่คุ้นในวันนี้ เรามีเพียงศูนย์สั่งการที่ออกคำสั่ง แต่ต้องคิดใหญ่มากกว่านั้น ถ้าปัญหาขยายตัว ในส่วนเศรษฐกิจภาครัฐต้องคุยกับหอการค้าตลอดแนว เชียงราย ตาก กาญจนบุรี ระนอง ซึ่งเป็น 4 หอการค้าหลักในพื้นที่ชายแดนตะวันตก ต้องเปิดเวทีโดยรองนายกรัฐมนตรี หรือ รมว.ที่ดูแลด้านเศรษฐกิจ เพราะถ้าสงครามยืดเยื้อยาวนานจะกระทบกับการค้าชายแดนทั้งแนว”ศ.สุรชาติ กล่าว

ศ.สุรชาติกล่าวว่า การที่นายกรัฐมนตรีตัดสินใจมาลงดูพื้นที่ อาจจะเป็นข้อดีที่ได้เห็นสถานการณ์จริง แต่เห็นแล้วควรคิดเสมอว่า ภาพที่เห็นอย่างเดียวไม่เพียงพอถ้าไม่มียุทธศาสตร์รองรับ เพราะภาพที่เห็นเป็นปัญหาเฉพาะหน้าซึ่งมีโอกาสเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วภายใต้เงื่อนไขสงคราม

ผู้สื่อข่าวถามกรณีที่กองกำลัง BGF ที่พัวพันกับแหล่งอาชญากรรมฝั่งเมียวดี ซึ่งกลายเป็นภาพที่ซับซ้อนของสงครามมากขึ้น นายกรัฐมนตรีควรรู้ตัวละครแบบนี้ หรือควรมีนโยบายออกมาหรือไม่ว่า อย่างไร ศ.สุรชาติ กล่าวว่า ได้พูดมาเสมอว่าแนวทางแก้ปัญหาของไทยต่อสงครามในเมียนมาต้องไม่ทิ้งประเด็นเรื่องกลุ่มธุรกิจจีนเทา เนื่องจากย้ายฐานจากกัมพูชามาอยู่ที่เมียวดี โจทย์การแก้ปัญหาสงครามต้องคิดคู่ขนานกับการแก้ปัญหาธุรกิจจีนเทา บ่อน สแกมเมอร์ โทรศัพท์หลอกลวง รวมถึงการค้ามนุษย์ แต่ว่าโจทย์ยุทธศาสตร์ความมั่นคงรอบนี้ซับซ้อนกว่าตอนแก้ปัญหากัมพูชา ด้านหนึ่งไทยต้องคุยกับจีนด้วย

“ผมเสนอแนวคิด 3 ส่วน คือ 1ฐาน 3 ขา 6 ช่องทาง คือ การดำเนินการของไทยเรื่องเมียนมาต้องอยู่บนฐานของอาเซียนคือมติห้าประการ 3 ขาคือการเชื่อมกลุ่มการเมืองเมียนมา 3 ฝ่ายคือสภาบริหารแห่งรัฐพม่า(SAC) รัฐบาลเงา NUG และกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ EAOs เป็นโจทย์ท้าทายรัฐบาล ส่วน 6 ช่องทางคือการทูตที่ติดต่อกับสหรัฐ จีน สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น อินเดีย และออสเตรเลีย ซึ่งควรที่จะต้องเข้ามามีบทบาทเพื่อช่วยผลักดันการแก้ปัญหาเมียนมา และช่วยแบกภาระการช่วยเหลือทางมนุษยธรรม”นักวิชาการด้านความมั่นคง กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามถึงยุทธศาสตร์แนวชายแดนตะวันตก นโยบายรัฐกันชนในอดีตที่เคยใช้ ในปัจจุบันเราจำเป็นต้องสร้างความสัมพันธ์กับกลุ่มกองกำลังชาติพันธุ์ต่างๆ หรือไม่และรัฐไทยควรทบทวนอย่างไร ศ.สุรชาติ กล่าวว่ายุทธศาสตร์แนวกันชนเวลาพูดในสังคมไทยก็จะถูกวิจารณ์ว่าเก่า โบราณและตกยุค เพราะสงครามชุดเก่าตกไป แต่ผลพวงที่เกิดในระยะกว่า 20 ปีจะเห็นว่าตั้งแต่รัฐบาลไทยและกองทัพไทยเอารัฐบาลทหารในยุคเก่าคือที่ย่างกุ้งเป็นศูนย์กลางของความสัมพันธ์ ทำให้เราละทิ้งความสัมพันธ์กับกลุ่มชาติพันธุ์

“ผมไม่ได้เสนอให้ไทยเข้าไปแทรกแซงกิจการภายในของเมียนมา แต่ต้องยอมรับว่าตลอดแนวชายแดนในอดีตมีความสัมพันธ์อันดีกับกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ แต่เมื่อเราละทิ้งยุทธศาสตร์เดิม เปลี่ยนเป็นความสัมพันธ์ระหว่างกรุงเทพกับย่างกุ้งเป็นหลัก เราทิ้งทุกอย่าง ทิ้งความสัมพันธ์กับชาติพันธุ์ไปเกือบหมด ในสถานการณ์ที่ผันผวนในเมียนมา ถ้าตลอดแนวชายแดนลุ่มน้ำสาละวิน ยาวลงไปถึงระนอง ในระยะยาว ถ้ากลายเป็นพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รัฐบาลไทยอาจต้องคิดปรับตัว อาจไม่ได้หมายถึงยุทธศาสตร์รัฐกันชนแบบเก่า แต่เรากำลังพูดถึงการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับกลุ่มชาติพันธุ์ที่เป็นเจ้าของพื้นที่ตลอดแนวชายแดนไทย” ศ.สุรชาติ กล่าว

ขณะที่นายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์การสู้รบชายแดนริมแม่น้ำเมยด้าน อ.แม่สอด -เมียวดีว่า สถานการณ์การอพยพมายังฝั่งไทยในปัจจุบันแตกต่างจากอดีต โดยเมื่อก่อนอพยพมาอยู่เพียง 2-3 วันก็กลับ แต่ปัจจุบันตั้งแต่เกิดการสู้รบรุนแรง ชาวบ้านได้อพยพเข้ามาปักหลักในประเทศไทยและอยู่นานมากขึ้น ดังนั้นรัฐบาลควรมีมาตรการรองรับที่ดี

นายสุรพงษ์กล่าวว่า ผู้หนีภัยมีทั้งกลุ่มที่เข้าใหม่และกลุ่มที่เคยอยู่ไทยต่างกลับเข้ามาไทยหมด บางส่วนอพยพเข้าไปถึงจังหวัดสมุทรสาคร สังเกตได้ว่าตอนนี้ที่จังหวัดสมุทรสาครมีเด็กเข้ามาเยอะมาก แต่ระบบไทยยังไม่มีอะไรที่จะรองรับ ซึ่งในช่วง 3-4 เดือนนี้ยิ่งหนักเพราะมีการสู้รบรุนแรงขึ้น มีประชาชนทะลักชายแดนเยอะขึ้นโดยที่ จ.สมุทรสาครบางจุดมีเด็กเข้ามานับพันคน

“ผู้ใหญ่อาจจะไปทำงานที่ไหนไม่รู้ แต่เด็กๆเราเห็นเป็นพันคน เด็กๆเหล่านี้ต้องได้รับการศึกษา ต้องได้รับการดูแลว่าจะจัดการอย่างไรเพราะโรงเรียนก็มีเท่าเดิม ศูนย์การเรียนเท่าเดิม เรายังไม่กระบวนการรองรับ รัฐมนตรีบางคนบอกว่าเดี๋ยวพวกเขาก็กลับเหมือนที่ผ่านมา ไม่ใช่เลยครับ สถานการณ์คนละเรื่องกันแล้ว” ประธานมูลนิธิฯกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่ารัฐควรออกมาตรการรองรับอย่างไร  นายสุรพงษ์กล่าวว่า รัฐต้องยอมรับว่าการสู้รบในพม่าจะรุนแรงเรื่อยๆ และไม่มีความสงบสุขในเร็ววัน คนจากฝั่งพม่าก็จะเข้ามาไทย รัฐต้องยอมรับความจริงว่าตอนนี้มีหลายแสนคน เราจะทำอย่างไร ไม่ใช่พูดเพียงว่าเราเตรียมที่รองรับไว้แล้วเป็นหมื่นๆคน ซึ่งไม่ตรงความจริง การรองรับคนหลายแสนคนในไทยอาจต้องแบ่งเป็นหลายกลุ่ม โดยคนที่อยู่ในไทยกลับไม่ได้แน่นอนอีก 3-4 ปี คนเป็นแสนเราจะให้เขาอยู่อย่างไร เช่น อย่างน้อยต้องขึ้นทะเบียน ระบบทะเบียนต้องเข้ามา เพื่อบอกว่าเขาเป็นใครอย่างไร และบอกว่าเขาจะอยู่ในพื้นที่ตรงไหน ทำงานได้หรือไม่

“สำคัญที่สุดคือ รัฐต้องยอมรับความจริง เพราะหากเราไม่ยอมรับความจริง ก็ไม่มีข้อมูลที่เป็นจริง คนเหล่านี้ก็จะไม่ได้รับการดูแล และจะกลายเป็นปัญหาของบ้านเมืองเรา” นายสุรพงษ์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามเรื่องการศึกษาว่านโยบายของรัฐบาลควรนิ่งกว่านี้หรือไม่เพราะที่ผ่านมาหน่วยงานรัฐต่างก็ทำไปคนละทิศคนละทางจนมีการส่งเด็กกลับประเทศพม่า นายสุรพงษ์กล่าวว่านโยบายการศึกษาของเราชัดเจนว่าให้เด็กต้องได้เรียน มีกฎหมายและประกาศกระทรวงศึกษาธิการ พศ.2548 Education for All แต่การปฏิบัติไม่ชัดเจน นำไปสู่ปัญหาการเอาเด็กที่เรียนอยู่ในไทยออกจากโรงเรียนและพยายามผลักดันออกนอกประเทศไทย สถานการณ์ไม่ควรเป็นแบบนี้อีกแล้ว

เมื่อถามว่านายกรัฐมนตรีจะมาลงพื้นที่ อ.แม่สอด อยากเห็นอย่างไร นายสุรพงษ์กล่าวว่า นายกฯควรเห็นภารวมและต้องมองทุกมิติให้ตรงกับความเป็นจริง หากมองผิด การดำเนินการแก้ไขปัญหาก็ผิดพลาด ในแง่ความมั่นคงหากเราให้คนเหล่านี้เข้าสู่ระบบทั้งหมด ควบคุมได้ มีเอกสารยืนยันตัวตน มีระบบทะเบียนที่ตรวจสอบได้

“เรื่องเศรษฐกิจก็เป็นเรื่องสำคัญ เศรษฐกิจชายแดนเราจะดี หากสงบสุข ดังนั้นไทยต้องเข้ามามีส่วนในการประสานงานให้เกิดความสงบสุขในพม่า นี่ไม่ใช่การก้าวก่ายกิจการภายใน ทุกวันนี้เรายังไม่ยอมเป็นผู้นำ ยังไปอ้างอาเซียน ทั้งที่ไทยมีชายแดนติดพม่ามากที่สุดและเราได้รับผลกระทบมากที่สุด เพื่อประโยชน์ของบ้านเมือง เราต้องกล้าออกมาประสานงานให้เกิดความสงบสุขในพม่า” นายสุรพงษ์กล่าว