รายงานออกมาเป็นที่เรียบร้อย
สำหรับ ผลการสำรวจความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่างระดับปัญญาชน คือ ผู้ที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรี และหลังปริญญาตรี ในหมู่ประชาชนพลเมืองของประเทศทั้งหลายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือที่หลายคนมักเรียกว่า ภูมิภาคอาเซียน อันประกอบด้วย 11 ประเทศ ได้แก่ บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย ติมอร์-เลสเต หรือติมอร์ตะวันออก และเวียดนาม
ในการสำรวจความคิดเห็น ก็มีขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ โดย “สถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา ยูโซฟ อิซฮัก” ในประเทศสิงคโปร์
หัวข้อที่ทางสถาบันฯ หยิบยกขึ้นมาเป็นคำถามก็เกี่ยวกับการให้ความสนใจต่อวิกฤติ หรือปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วิกฤติ หรือปัญหาความขัดแย้งที่มีผลกระทบต่อภูมิรัฐศาสตร์ หรือแม้กระทั่งปัญหาการแข่งขันทางการเมืองภายในประเทศอื่นๆ แต่ส่งผลกระทบต่อภูมิรัฐศาสตร์ ที่เกิดขึ้นแล้ว และที่จะเกิดขึ้นบนโลกใบนี้ว่า บรรดาปัญญาชนผู้จบการศึกษาระดับอุดมศึกษา ทั้งระดับปริญญาตรี และหลังปริญญาตรีเหล่านี้ มีความคิดเห็นอย่างไร? มีความใส่ใจต่อวิกฤติข้างต้นด้วยเหรือไม่?
ปรากฏว่า มี 4 วิกฤติ หรือ 4 ปัญหาด้วยกันที่เหล่าปัญญาชนในภูมิภาคอุษาคเนย์ให้ความสนใจ และหลายคนก็มิใช่สนใจเปล่า แต่ยังมีความวิตกกังวลในสถานการณ์ของวิกฤติ หรือปัญหา ที่อาจจะมีเหตุปัจจัยทำให้เลวร้ายหนักขึ้นไปอีกด้วย ได้แก่
1. การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา 2024 ที่จะมีขึ้นในปลายปีนี้ ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบ สร้างปัญหาต่างๆ ให้แก่โลกเราได้ตามมา รวมถึงปัญหาความขัดแย้งในภูมิรัฐศาสตร์ที่กำลังเผชิญอยู่ในเวลานี้ ให้ทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น เช่น สงครามรัสเซีย-ยูเครน สงครามอิสราเอล-ฮามาส เป็นต้น หากการเมืองของสหรัฐฯ เกิดการเปลี่ยนขั้ว ย้ายค่ายกันขึ้น จากเดิมที่นายโจ ไบเดน แห่งพรรคเดโมแครต ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ณ ชั่วโมงนี้ เปลี่ยนไปเป็นนายโดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรครีพับลิกัน
ทั้งนี้ เมื่อกล่าวถึงสถานการณ์คะแนนนิยมของผู้สมัครรับเลือกตั้งทั้งสองคน ปรากฏว่า นายทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ก็มาแรงแซงโค้งจากการสำรวจของหลายๆ สำนักโพลล์ จนทางทีมงานของประธานาธิบดีไบเดน แห่งพรรคเดโมแครตเอง ก็มีความวิตกมิใช่น้อย ว่าอาจจะพ่ายแพ้ในศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ครั้งนี้ให้แก่นายทรัมป์ จากพรรครีพับลิกันได้
2.ปัญหาความขัดแย้งระหว่างจีนกับไต้หวัน ซึ่งรวมไปถึงผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีไต้หวัน ที่มีขึ้นเมื่อช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา และปรากฏว่า นายวิลเลียม ไล ชิง-เต๋อ ผู้สมัครรับเลือกตั้งจากพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า หรือดีพีพี เป็นฝ่ายได้รับชัยชนะ ซึ่งชัยชนะของผู้สมัครรับเลือกตั้งจากพรรคการเมืองดังกล่าว ก็ส่งผลให้สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างจีนกับไต้หวัน ยังคงดำเนินอยู่ต่อไป เหมือนกับสมัยของประธานาธิบดีไช่ อิง-เหวิน ที่กำลังจะหมดวาระ เพราะมาจากพรรคการเมืองเดียวกัน นโยบาย อุดมการณ์ทางการเมือง และการต่างประเทศ ก็ยังคงเหมือนเดิม คือ ยังคงเป็นปฏิปักษ์กับจีน และสมัครที่จะยืนอยู่ข้างบรรดาชาติพันธมิตรตะวันตกทั้งหลาย ที่นำโดยสหรัฐฯ
ทั้งนี้ ผลการเลือกตั้งที่ออกมา ต้องถือว่า ทายท้าต่อการข่มขู่ของจีนแผ่นดินใหญ่เป็นอย่างยิ่ง เพราะประชาชนชาวไต้หวัน ต่างเทคะแนนเสียงให้นายวิลเลียม ไล ชิง-เต๋อ อย่างท่วมท้นมากกว่า 5 ล้านเสียงด้วยกัน ซึ่งถือเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีไต้หวันในประวัติศาสตร์ของประเทศเลยก็ว่าได้ ที่ได้คะแนนเสียงเกินกว่า 5 ล้านเสียง ก็ทำเอาพญามังกรจีนแผ่นดินใหญ่ ต้องควันออกหูด้วยความโมโหโกรธามิใช่น้อย เพราะไม่ผิดอะไรกับชาวไต้หวันกระตุกหนวดมังกร
3.ปัญหาจากกรณีที่เกาหลีเหนือทดลองยิงขีปนาวุธพิสัยทำการต่างๆ อยู่เป็นระยะๆ ซึ่งบรรดาปัญญาชนของกลุ่มชาติอุษาคเนย์ ก็หวั่นเกรงว่า การทดลองยิงอาวุธมหาประลัยข้างต้น จะบานปลายก็เป็นสู้รบกับประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงเข้าให้สักวัน ไม่ว่าจะเป็นกับเกาหลีใต้ ซึ่งอยู่บนคาบสมุทรเกาหลีด้วยกัน แต่เป็นประเทศไม้เบื่อไม้เมา นับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา จนสถานการณ์ลุกลามถึงขั้นทำสงครามระหว่างกันขึ้นเรียกว่า “สงครามเกาหลี” เมื่อช่วงปี 1950 – 1953 (พ.ศ. 2493 – 2496) แม้สถานการณ์สู้รบจะยังไม่มีในเวลานี้ แต่ทั้งสองประเทศก็ยังเผชิญหน้าในฐานะประเทศคู่สงครามกันอยู่
และ 4. วิกฤติในเมียนมา อันเป็นผลพวงของการทำสงครามกลางเมืองในเมียนมาที่ทวีความรุนแรงขึ้น หลังเกิดการรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021 (พ.ศ. 2564) เป็นต้นมา จาการที่ฝ่ายต่อต้านรัฐประหาร ไปเข้าร่วมกับบรรดากลุ่มติดอาวุธของชนกลุ่มน้อยต่างๆ มาสู้รบกับกองทัพรัฐบาลทหารเมียนมา
โดยสถานการณ์สงครามกลางเมืองในเมียนมา มีความรุนแรง และมีผลแพ้-ชนะ ซึ่งผลแพ้-ชนะที่ว่า ก็จะส่งผลกระทบต่อประเทศบ้านใกล้เรือนเคียง เช่น ไทยเรา เป็นต้น โดยเกิดอพยพหนีภัยสงครามการสู้รบ หรือหนีการเกณฑ์ทหาร หลบเข้ามาในไทย อย่างที่เห็นกันอยู่
สำหรับ การสำรวจความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่างปัญญาชนชาวอาเซียนว่า ให้น้ำหนักในความสนใจ ตลอดจนมีความวิตกกังวลต่อวิกฤติปัญหาใดมากน้อยกว่ากัน
ผลสำรวจที่ออกมา ไม่น่าเชื่อ แต่ก็เชื่อว่า ปัญหาการเมืองภายในสหรัฐฯ ที่จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในช่วงปลายปีนี้ ได้รับความสนใจมากกว่าวิกฤติปัญหาอื่นๆ แม้กระทั่งวิกฤติในเมียนมา ซึ่งเป็นวิกฤติปัญหาในภูมิภาคอาเซียนด้วยกันแท้ๆ ซึ่งมีตัวเลขในการสำรวจถึง 4 ใน 5 หรือ 8 ใน 10 เลยทีเดียว
เช่นเดียวกับปัญหาเรื่องที่เกาหลีเหนือทดลองยิงขีปนาวุธ และปัญหาความขัดแย้งระหว่างจีนกับไต้หวัน ตลอดจนผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีของไต้หวัน ที่ตัวเลขผลการสำรวจอยู่ในระดับสูง คือ 4 ใน 5 และ 1 ใน 3
แตกต่างจากวิกฤติในเมียนมา ที่ปัญญาชนในอาเซียน ให้ความสนใจเพียงร้อยละ 26.6 หรือคิดเป็นราวๆ 1 ใน 4 เท่านั้น