เมื่อวันที่  22 เมษายน  2567 ณ ห้องประชุม ชั้น4 โรงพยาบาลแม่สะเรียง อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอนนายแพทย์ธนวัฒน์ คงธรรม รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้เดินทางเป็นประธานในการประชุมถอดบทเรียนงานมาลาเรียชายแดน และ การใช้ชุดตรวจหาเชื้อมาลาเรียแบบรวดเร็ว  (Malaria rapid diagnostic test: RDT)  พร้อมบรรยายพิเศษถึงสถานการณ์โรคมาลาเรียจังหวัดแม่ฮ่องสอน  โดยมี นายแพทย์บัณฑิต  ดวงดี ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแม่สะเรียง นายกฤต วงศ์น้อย สาธารณสุขอำเภอแม่สะเรียง นำเจ้าหน้าที่จากหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 36 กองร้อยตำรวจตระเวนชายแดนที่ 337 อุทยานแห่งชาติสาละวิน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวิน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาแม่ฮ่องสอนเขต 2 พี่เลี้ยงใน รพ.สต. พนักงานสุขภาพชุมชน และอาสาสมัครมาลาเรียชายแดน จำนวน  80 คน เข้าร่วมประชุม

นายกฤต วงศ์น้อย สาธารณสุขอำเภอแม่สะเรียง เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากจากสถานการณ์โรคมาลาเรียของจังหวัดแม่ฮ่องสอนพบว่าอำเภอแม่สะเรียงมีประชาชนป่วยด้วยโรคไข้มาลาเรียเป็นอันดับสองรองจากอำเภอสบเมย โดยเฉพาะประชาชนที่อยู่ตามชายแดนและผู้ที่อาศัยอาศัยอยู่ในพื้นที่ชายแดน ทั้งทหาร ตำรวจ ป่าไม้ นักเรียน และประชาชนทั่วไป ปัจจัยหลัก เนื่องจากประเทศเพื่อนบ้าน ยังมีการระบาดอย่างหนักของเชื้อไข้มาลาเรีย มาสู่ประชาชนในพื้นที่ชายแดนเพื่อเป็นการป้องกันและรักษาโรคมาเรีย จึงได้มีการจัดประชุมในครั้งนี้ โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้ เพื่อให้เกิดเครือข่ายในการเฝ้าระวังโรคมาลาเรียเพื่อให้ผู้ที่อยู่ในพื้นที่ชายแดนสามารถตรวจหาเชื้อมาลาเรียแบบรวดเร็วได้ พัฒนาเครือข่ายการส่งต่อผู้ป่วยมาลาเรีย  ซึ่งในการประชุมถอดบทเรียนและการอบรมการใช้ชุดตรวจหาเชื้อมาลาเรียในครั้งนี้ มีส่วนราชการที่ทำงานพื้นที่ชายแดน เขตรอยต่อติดต่อประเทศเพื่อนบ้าน การจัดประชุมในครั้งนี้ มีการแจ้งเตือนสถานการณ์โรคไข้มาลาเรีย การถ่ายทอดวิธีการตรวจหาเชื้อมาลาเรียแบบรวดเร็ว และการพัฒนาเครือข่ายการส่งต่อผู้ป่วย มอบชุดตรวจหาเชื้อมาลาเรียแบบรวดเร็ว โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย

สำหรับสถานการณ์มาลาเรียในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ปี 2566 ที่ผ่านมา มีผู้ป่วยสะสมรวม 544 ราย พบเชื้อ PV ร้อยละ 86 หรือ 469 ราย  เชื้อ PF ร้อยละ 12 หรือ 67 ราย ผู้ป่วยสูงสุดอยู่ในพื้นที่ อ.สบเมย  278 ราย อ.แม่สะเรียง 157 ราย อ.ขุนยวม 42 ราย อ.แม่ลาน้อย 38 ราย และ อ.เมือง 29 ราย ผู้ป่วยเป็นคนไทยร้อยละ 36 (198 ราย) ต่างชาติถาวร ร้อยละ 6 (35 ราย) ต่างชาติจร ร้อยละ 17 (90ราย) ผู้ป่วยใน Camp จำนวน 221 ราย ร้อยละ 41