‘อธิบดีฝนหลวงฯ’ สั่งปรับแผน ตั้งหน่วยฯ ฝนหลวง จ.กระบี่ ดีเดย์เริ่ม 23 เม.ย. นี้ ช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร เติมน้ำต้นทุนให้เขื่อน-อ่างเก็บน้ำในภาคใต้ตอนกลาง
วันที่ 23 เม.ย.67 นายสุพิศ พิทักษ์ธรรม อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร พร้อมด้วยนายวีรวัฒน์ อังศุพาณิชย์ รองอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ด้านปฏิบัติการ นายราเชน ศิลปะรายะ รองอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ด้านบริหาร ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและมอบแนวทาง การปฏิบัติการฝนหลวง ณ หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดกระบี่ ภายในท่าอากาศยานนานาชาติกระบี่ อำเภอ เหนือคลอง จังหวัดกระบี่ โดยมีนายอนุวรรตน์ โหมดพริ้ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ นายสมปราชญ์ ปราบสงครามรองผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ หัวหน้าส่วนราชการในจังหวัดกระบี่ให้การต้อนรับ และร่วมประชุมรับฟังแผนและผลการปฏิบัติการของศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคใต้
นายสุพิศ พิทักษ์ธรรม อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า ขณะนี้สถานการณ์ความต้องการน้ำในหลายพื้นที่ของภาคใต้ตอนกลางกำลังประสบปัญหาขาดแคลนน้ำสำหรับการเกษตร ขาดแคลนน้ำสำหรับอุปโภค-บริโภค และมีความต้องการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ โดยเฉพาะสถานการณ์น้ำประปาในจังหวัดกระบี่ที่เริ่มวิกฤติ โดยมีการสลับเครื่องสูบน้ำไปยังคลองกระบี่ใหญ่เพื่อผลิตน้ำประปา เนื่องจากปริมาณน้ำบริเวณนี้ลดลงต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชน สถานประกอบ ตามแหล่งท่องเที่ยว ย่านการค้าเมืองกระบี่ ที่ต้องเตรียมภาชนะเก็บกักน้ำไว้ใช้อุปโภคบริโภคในวันที่น้ำประปาไม่ไหล จึงได้สั่งการให้ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคใต้ปรับแผนการทำงาน จัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดกระบี่ ณ ท่าอากาศยานนานาชาติกระบี่ อำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่ ตั้งแต่วันที่ 22 เมษายน 2567 เป็นต้นไป ใช้เครื่องบินขนาดกลาง (CASA) จำนวน 2 ลำ ปฏิบัติการช่วยบรรเทาปัญหาในพื้นที่เป้าหมาย ได้แก่ จังหวัดกระบี่ จังหวัดพังงา จังหวัดภูเก็ต จังหวัดตรัง และพื้นที่ภาคใต้ฝั่งตะวันตก โดยในเช้าวันนี้ (23 เม.ย. 2567) จากการติดตามสภาพอากาศ พบว่า เข้าเงื่อนไขการปฏิบัติการฝนหลวง หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดกระบี่ จึงมีแผนขึ้นบินปฏิบัติการ ในเวลา 09:30 น. ขั้นตอนที่ 1 (ก่อเมฆ) ใช้สารฝนหลวงสูตร 1(4/2) หรือเกลือแป้ง จำนวน 1,000 กิโลกรัม ปฏิบัติการบริเวณจังหวัดกระบี่และจังหวัดสุราษฎร์ธานี และหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดสุราษฎร์ธานี มีแผนขึ้นบินปฏิบัติการ ในเวลา 08:30 น. ขั้นตอนที่ 1 (ก่อเมฆ) ใช้สารสูตร 1(4/2) หรือเกลือแป้ง จำนวน 700 กิโลกรัม ปฏิบัติการบริเวณจังหวัดตรังและจังหวัดกระบี่ โดยมีเป้าหมายช่วยเหลือพื้นที่จังหวัดกระบี่ จังหวัดพังงาน และจังหวัดภูเก็ต
นายสุพิศ กล่าวต่อด้วยว่า ขณะนี้ได้ปิดหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดสงขลา มาจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดสุราษฎร์ธานี ณ สนามบินกองบิน 7 อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ตั้งแต่วันที่ 19 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา ใช้เครื่องบินขนาดเล็ก (CARAVAN) จำนวน 2 ลำ และเครื่องบิน BT-67 จากกองทัพอากาศ จำนวน 1 ลำ ผลปฏิบัติการฝนหลวง (19-22 เม.ย. 2567) พบว่า มีการขึ้นบินปฏิบัติการไป 3 วัน จำนวน 7 เที่ยวบิน ทำให้มีฝนตกในพื้นที่รับผลประโยชน์ 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดชุมพร จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดพังงา จังหวัดกระบี่ และจังหวัดภูเก็ต ซึ่งหลังจากนี้จะเป็นการระดมการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดกระบี่และจังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อช่วยเหลือพื้นที่ภาคใต้ตอนกลางและภาคใต้ตอนล่าง สำหรับการช่วยเหลือพื้นที่ภาคใต้ตอนบน มีหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่ตั้ง ณ สนามบินกองบิน 5 จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งปฏิบัติการมาตั้งแต่วันที่ 12 เมษายน 2567 จำนวน 9 วัน 28 เที่ยวบิน ทำให้มีฝนตกบริเวณพื้นที่ได้รับประโยชน์ ได้แก่ จังหวัดเพชรบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และจังหวัดชุมพร
อย่างไรก็ตาม แผนการทำงานของหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดกระบี่หลังจากนี้ จากการติดตามแนวโน้มสภาพอากาศ พบว่า บริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันตกมีโอกาสปฏิบัติการฝนหลวงได้มาก ในเดือนเมษายนนี้จึงมีแผนช่วยเหลือพื้นที่เป้าหมาย ได้แก่ จังหวัดกระบี่ จังหวัดพังงา จังหวัดภูเก็ต และจังหวัดตรัง ส่วนในเดือนพฤษภาคม โอกาสการเกิดฝนมีมากขึ้น จึงเป็นโอกาสดีที่จะช่วงชิงสภาพอากาศปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อช่วยให้สถานการณ์ความต้องการน้ำในพื้นที่การเกษตร น้ำอุปโภค-บริโภค และน้ำเก็บกักในอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ภาคใต้ตอนกลางดีขึ้น ทั้งนี้ พี่น้องเกษตรกรและพี่น้องประชาชนสามารถขอรับบริการฝนหลวงได้ทุกวัน ไม่มีค่าใช้จ่าย โดยติดต่อไปที่ หมายเลขโทรศัพท์ 02-109-5100 ต่อ 410, ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวง 7 ภูมิภาค, อาสาสมัครฝนหลวงในพื้นที่, เว็บไซต์ขอรับบริการฝนหลวง https://it.royalrain.go.th/rainmaking/ หรือช่องทางโซเชียลมีเดียของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร: @drraa_pr