หากกล่าวถึง “การท่องเที่ยว” ประเทศไหนๆ ต่างก็ตั้งความหวังให้ธุรกิจภาคการท่องเที่ยวประเทศของตน ฟูเฟื่องเจริญเติบโตกันทั้งนั้นแหละ
ชนิดที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในประเทศ ยิ่งมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งดีเท่านั้น
ถึงขนาดวัดกันเป็นตัวเลขต่อคนต่อปี พร้อมกับโชว์เปิดเผยให้โลกได้รับรู้ด้วยความภาคภูมิใจของบรรดาทางการประเทศต่างๆ กันเลยทีเดียว
ทั้งนี้ ก็ด้วยตัวเลขจากภาคการท่องเที่ยวข้างต้น ซึ่งมีรายได้จากเหล่านักท่องเที่ยว ควักกระเป๋าเงินออกมาใช้จ่ายๆ ล้วนมีผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือจีดีพี รวมอยู่ด้วย นอกเหนือจากรายได้ของภาคธุรกิจและบริการอื่นๆ แล้ว
ใช่แต่เท่านั้น “การท่องเที่ยว” ในหลายประเทศก็ยังถูกใช้เป็นเครื่องมือยื้อยุดสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศที่กำลังเผชิญหน้ากับภาวะซบเซาได้อีกต่างหากด้วย
ยกตัวอย่างเช่น “ญี่ปุ่น” หนึ่งในกลุ่มชาติพี่เบิ้มใหญ่ทางเศรษฐกิจโลก แต่ปรากฏว่า ตลอดช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจของประเทศประสบกับภาวะถดถอยหดตัว ทางรัฐบาลโตเกียว ก็ใช้นโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวมาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศที่กำลังซบเซา
ด้วยแผนโปรโมตการท่องเที่ยวในญี่ปุ่นสารพัด รวมถึงการผ่อนคลายระเบียบกฎเกณฑ์ต่างๆ ให้แก่บรรดานักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้าไปเที่ยวญี่ปุ่น ไม่เว้นกระทั่งการนำนโยบาย “ฟรีวีซ่า” มาใช้
โดย “ฟรีวีซ่า” ที่ว่า ทางการญี่ปุ่น ก็จะอนุญาตให้นักท่องเที่ยว ที่เดินทางมาท่องเที่ยวญี่ปุ่น ไม่เกิน 15 วัน ไม่ต้องขอวีซ่าแต่ประการใด
ก็ส่งผลให้นักท่องเที่ยวจากประเทศต่างๆ เดินทางเข้าไปท่องเที่ยวในญี่ปุ่นกันเป็นอย่างมาก ส่งผลให้เกิดการใช้จ่าย เป็นรายได้เข้าประเทศ สร้างความยินดีปรีดาให้แก่ทางการ ตลอดจนประชาชนชาวญี่ปุ่นที่สามารถขายสินค้าได้มากขึ้นให้แก่คณะนักท่องเที่ยวต่างชาติ
ทั้งนี้ ประเทศไหนๆ ที่มีนักท่องเที่ยวจากต่างชาติเดินทางเข้าไปท่องเที่ยวในประเทศของตน ก็ล้วนแต่เป็นปลื้มยินดีปรีดาทั้งต่อทางการ และประชาชนเจ้าของประเทศกันทั้งนั้นแหละ
ทว่า สถานการณ์ข้างต้น ก็สวนทางแตกต่างจากสถานการณ์และบรรยากาศของประชาชนชาว “หมู่เกาะคะเนรี” อันเป็นหมู่เกาะที่เป็น “เขตการปกครองตนเองของสเปน” ที่ตั้งอยู่ในมหาสมุทรแอตแลนติก ซึ่ง ณ ชั่วโมงนี้ บรรดาประชาชีชาวหมู่เกาะคะเนรี ต่างกำลังเป็นฟืน เป็นไฟ ด้วยอารมณ์ความโกรธแค้นที่มีต่อทางการผู้บริหารปกครอง ในการดำเนินนโยบายสนับสนุนการท่องเที่ยวของหมู่เกาะฯ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เฉกเช่นที่ดำเนินการกันในหลายๆ ประเทศ
โดยอารมณ์ความโมโหโกรธาของประชาชีหมู่เกาะคะเนรี ก็มาจากเหตุปัจจัยว่า นักท่องเที่ยวจากต่างชาติเดินทางเข้ามายังหมู่เกาะคะเนรีมากเกินไป จากการดำเนินนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวข้างต้น จนไปๆ มาๆ กลับกลายเป็นว่า นักท่องเที่ยวจากต่างชาติเหล่านั้น มา “แย่งกิน แย่งอยู่” ต่อพลเมืองชาวหมู่เกาะคะเนรีเอง
ตามตัวเลขของทางการหมู่เกาะคะเนรี ระบุว่า เมื่อปี 2023 (พ.ศ. 2566) ที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวบนหมู่เกาะคะเนรีมากกว่า 13.9 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากตัวเลขของปีก่อนหน้า คือ 2022 (พ.ศ. 2565) ถึงร้อยละ 13 ด้วยกัน
ตัวเลขของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาเยือนหมู่เกาะคะเนรี ก็สร้างเงิน สร้างรายได้แก่ ให้แก่หมู่เกาะแห่งนี้ จนทำให้เศรษฐกิจของหมู่เกาะฯ ขยายตัวเติบโตเป็นอย่างมาก
เปรียบเทียบกับรายได้อื่นๆ ที่หมู่เกาะคะเนรีได้มานั้น ปรากฏว่า รายได้จากภาคท่องเที่ยว ก็คิดเป็นถึงร้อยละ 35 ของจีดีพีทั้งหมดของหมู่เกาะเขตการปกครองตนเองสเปนแห่งนี้กันเลยทีเดียว
สร้างความเป็นปลื้มยินดีปรีดาให้แก่ “นายโฆเซ มานูเอล ฟรากา” ผู้นำของหมู่เกาะ หรืออาจจะเทียบได้กับ “ประธานาธิบดีของหมู่เกาะคะเนรี” แห่งนี้ กับความสำเร็จในการดำเนินนโยบายส่งเสริมการท่องที่ยว จนนักท่องเที่ยวต่างชาติพากันเดินทางมาเยือนเป็นจำนวนมาก และมีตัวเลขเพิ่มขึ้นจากช่วงปีก่อนหน้า รวมถึงสร้างรายได้ เพิ่มจีดีพีให้แก่หมู่เกาะที่เขาบริหารปกครอง
ทว่า แม้มีรายได้มากมายมหาศาล จนฉุดจีดีพีให้เติบโตขึ้นไปถึงระดับนั้น และคณะผู้บริหารปกครองออกอาการเป็นปลื้ม แต่ก็หาได้สร้างความพึงพอใจให้แก่ประชาชีชาวหมู่เกาะคะเนรีหาไม่ กลับสร้างความโกรธแค้นให้แก่ประชาชนพลเมือง ถึงขนาดก่อม็อบ รวมตัวชุมนุม เดินขบวนไป ตามท้องถนนสายต่างๆ ในกรุงซานตาครูซเดเตเนริเฟ หรือที่คนไทยเรียกกันสั้นๆ “เตเนริเฟ” นครหลวง เมืองเอก ของหมู่เกาะคะเนรี เพื่อประท้วงต่อนโยบายการส่งเสริมการท่องเที่ยวจากภาครัฐข้างต้น ตั้งแต่ช่วงสัปดาห์ที่แล้วเป็นต้นมา โดยสถานการณ์และบรรยากาศการชุมนุมเดินขบวนประท้วงรัฐ ก็ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง
โดยการชุมนุมประท้วงข้างต้น ก็ได้รับการสนับสนุนจากบรรดาองค์กรต่างๆ ที่เคลื่อนไหวในเรื่องสิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์ธรรมชาติ รวมทั้งกลุ่มกรีนพีซ จนเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ถือเป็นช่วงพีคของกลุ่มม็อบ จากการที่มีผู้มาร่วมชุมนุมประท้วงมากกว่า 57,000 คน
ทางกลุ่มผู้ชุมนุมทั้งถือป้ายประท้วง และตะโกน ต่อต้านนโยบายการส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวของภาครัฐ โดยระบุเป็นไปในทำนองทิศทางเดียวกันว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามายังหมู่เกาะคะเนรีของพวกเขานั้น มาจำนวนมากกว่าประชากรพลเมืองของหมู่เกาะคะเนรีที่พวกเขาอาศัยอยู่เสียอีกอย่างชนิดเปรียบเทียบตัวเลขกันมิได้เลย โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติที่พากันเดินทางเข้ามาช่วงปีที่แล้วมีจำนวนเกือบ 14 ล้านคน ในขณะที่ประชาชนพลเมืองของหมู่เกาะคะเนรีมีจำนวนเพียง 2.2 ล้านคนเท่านั้น ซึ่งกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติเหล่านี้ มาแย่งทั้งเรื่องกิน และเรื่องที่อยู่ จนมีราคาแพงขึ้น อย่างชนิดที่ประชาชนพลเมืองชาวหมู่เกาะฯ ไม่สามารถไปซื้อแข่งได้
กลุ่มผู้ชุมนุประท้วงยังบอกว่า จีดีพีของหมู่เกาะฯ แม้จะดูดีขึ้น แต่ก็เป็นเพียงตัวเลขเท่านั้น ในขณะที่ชาวคะเนรีเองกลับมีฐานะยากจนลง พร้อมทั้งระบุด้วยว่า การที่พวกเขามาชุมนุมประท้วงนั้น ไม่ใช่มาต่อต้านนักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่มาเพื่อเรียกร้องขอให้ทางการปรับเปลี่ยนรูปแบบการท่องเที่ยวเสียใหม่ เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อหมู่เกาะฯ ทั้งในด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ และประชาชนพลเมืองชาวคะเนรีแห่งนี้อย่างแท้จริง