“ภูมิธรรม” ย้ำทำประชามติ 3 ครั้ง เพื่อความปลอดภัย ชงเข้าครม.พรุ่งนี้ คาดรอบแรก ส.ค.นี้ ยันประชาชนมีส่วนร่วม มีแค่ฝ่ายค้านที่ปฏิเสธสังฆกรรม ดัก พวกจ้องเคลื่อนไหวห้ามประชาชนใช้สิทธิ์ ถามอยากกลับไปยุครัฐประหารหรือ
วันที่ 22 เม.ย.2567 เมื่อเวลา 09.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี รมว.พาณิชย์ และแกนนำพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ถึงการหารือกับหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาล เมื่อวันที่ 21 เม.ย. ว่า เป็นการหารือเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ เนื่องจากวันที่ 23 เม.ย. จะนำเรื่องรัฐธรรมนูญเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถ้า ครม.อนุมัติจะส่งไปที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เลย กระบวนการจะเดินหน้า แต่บังเอิญว่าก่อนหน้านี้มีเรื่องที่สภาไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับเรื่องประชามติจะทำกี่ครั้ง ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้รับวินิจฉัย ฉะนั้น ในที่ประชุมเลยคิดว่าน่าจะทำประชามติ 3 ครั้ง เพื่อความปลอดภัย
แต่ในความเห็นของคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ยังเห็นเป็นสองฝ่าย ทั้งที่เห็นว่าควรทำประชามติ 2 ครั้ง และ 3 ครั้ง จึงนัดหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลมาหารือกันในครั้งนี้ ทั้งนี้ จากผลการหารือของหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาล เห็นควรให้ทำประชามติ 3 ครั้ง และจะหารือในที่ประชุม ครม.ว่าแนวคำถามประชามติจะเป็นอย่างไร ส่วนใหญ่จะต้องอิงกับสิ่งที่ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาไปแล้ว
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการเตรียมแนวคำถามประชามติไว้บ้างหรือไม่ นายภูมิธรรม กล่าวว่า ในร่างของคณะกรรมการฯ มีคำถามแล้ว แต่จะมีการนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุม ครม.อีกทีหนึ่ง อย่างเช่น แก้รัฐธรรมนูญโดยไม่แก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 ที่มีการยืนยันกัน 3 พรรค เมื่อถามว่า จะมีการกำหนดไทม์ไลน์เอาไว้หรือไม่ว่า จะมีการเดินหน้าแต่ละสเตปอย่างไร นายภูมิธรรม กล่าวว่า หากในที่ประชุม ครม.วันที่ 23 เม.ย.เสร็จก็จะส่งไปที่ กกต.เลย กระบวนการทั้งหมดอยู่ที่ กกต. ที่จะต้องจัดการภายใน 90 วัน ซึ่ง กกต.สามารถทำเร็วกว่านี้ได้ อยู่ที่ กกต. จากนี้ไปจะไม่เกี่ยวกับรัฐบาลแล้ว ถือว่ารัฐบาลทำหน้าที่จบแล้ว ขั้นตอนต่อไปจะเป็นอย่างไรอยู่ที่ กกต. แต่คาดว่าถ้าไม่มีปัญหาอะไร การทำประชามติครั้งแรกน่าจะประมาณเดือน ส.ค.นี้ และกระบวนการต่างๆ จะขยับไปตามกระบวนการกฎหมาย
เมื่อถามว่า มีการคุยกับพรรคร่วมในเรื่องกฎหมายนิรโทษกรรมหรือไม่ นายภูมิธรรม กล่าวว่า เมื่อวันที่ 21 เม.ย.ไม่ได้คุย คุยเรื่องรัฐธรรมนูญอย่างเดียว
ผู้สื่อข่าวถามว่า กังวลหรือไม่ หากประชาชนไม่เห็นด้วยที่ไม่ได้มีส่วนร่วมในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และอาจจะออกมาเคลื่อนไหว นายภูมิธรรม กล่าวว่า จะบอกว่าประชาชนไม่มีส่วนร่วมไม่ได้ ที่จะเสนอ ครม.วันที่ 23 เม.ย.จะเป็นการเสนอความเห็นที่แตกต่างทั้งหมด สิ่งที่เสนอไปทางฝ่ายค้านและไอลอว์เราเชิญมาร่วมแล้ว แต่ทั้งสองฝ่ายนี้ปฏิเสธไป และในกระบวนการสรรหาอนุกรรมการที่มีนายนิกร จำนง เป็นประธาน ได้มีการไปคุยกับพรรคก้าวไกล คุยกับนายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล มีการออกแบบสอบถาม สส. และ สว. ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ทำมาโดยตลอด
โดยการกล่าวหาว่ามีแต่พวกตัวเองนั้น คิดว่าเป็นที่ดูแคลนคณะกรรมการฯ มากเกินไป เพราะเราคุยกับผู้เชี่ยวชาญทุกฝ่าย รวมถึงการสอบถามประชาชนทั้งสี่ภาค ฉะนั้น จะมาบอกว่าไม่ได้ไปคุยไม่ได้ เราคุยทั้งหมด ถ้าจะขาดคงขาดแค่พรรคฝ่ายค้านที่ปฏิเสธจะเข้าร่วมกับเราตั้งแต่แรก อย่างไรก็ตาม วันที่ 23 เม.ย. จะสรุปข้อเสนอของอนุกรรมการทั้งหมดเข้า ครม. และจะมีการแนบความเห็นของพรรคฝ่ายค้านหรือประชาชน กลุ่มไอลอว์ ไปด้วย คิดว่าครบถ้วนแล้ว เราไม่มีอะไรปิดบังอำพราง ไม่ได้เล่นแร่แปรธาตุอะไร ความจริงเสร็จตั้งแต่เดือน ธ.ค.66 และสามารถเข้าได้เลย แต่เนื่องจากมีประเด็นที่เสนอไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ จึงเป็นห่วงว่าถ้าเราเดินหน้าต่อไปแล้วศาลรัฐธรรมนูญมีความเห็นอีกอย่าง กระบวนการที่ทำมาก็จะสิ้นสุดลง
นายภูมิธรรม กล่าวว่า บางข่าวที่บอกว่าจะมีประชาชนเคลื่อนไหวไม่ให้ประชาชนมาลงประชามติ ขอให้ไปพิจารณาดูว่าโอกาสในการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาแล้ว ถ้าจะมีความเห็นอย่างไรก็ใช้บทบาทมาร่วมกันแก้ไขรัฐธรรมนูญ กระบวนการเป็นอย่างไรว่าไปตามนั้น แต่ถ้าจะบอกว่าไม่ไปใช้สิทธิ์ ถ้าไม่ผ่านก็กลับไปใช้รัฐธรรมนูญปี 60 เหมือนเดิม แต่ถ้าอยากเปลี่ยนแปลงก็เข้ามาแก้ไข โดยใช้กระบวนการประชาชนตามกฎหมายเข้ามาแก้ เราบอกแล้วว่าจะทำให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อความเป็นประชาธิปไตย เราตั้งใจและประกาศไว้แล้วว่าจะให้เสร็จภายใน 4 ปีที่รัฐบาลนี้เป็นรัฐบาล มีกฎหมายลูกและพร้อมที่จะเลือกตั้งใหม่ภายใต้กติกาใหม่
ฉะนั้น อยากให้ฝ่ายค้านพิจารณาให้รอบคอบว่าอยู่ๆ ไปเคลื่อนไหวไม่ให้กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นแสดงว่าฝ่ายค้านอยากจะกลับไปอยู่ตั้งแต่ยุครัฐประหาร ตามรัฐธรรมนูญปี 60 ใช่หรือไม่ ถ้าไม่ใช่ก็ต้องเข้ามาช่วยกันแก้ กระบวนการแก้อย่างไรก็มาว่ากัน ตนไม่อยากให้คิดอะไรแบบเบ็ดเสร็จว่าความเห็นของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นความเห็นที่ไม่ถูกต้อง
“เพราะถ้าจะอ้างความเห็นประชาชนไม่ต้องการ ตัวแทนพรรคการเมืองก็มีฐานสมาชิกจากประชาชนที่สนับสนุนเขามา จึงอย่าเอาเรื่องนี้มาเถียงกันเลย ถ้าจะอย่างนั้นตนก็บอกว่า 6 พรรคการเมืองในรัฐบาลมีเสียงมากกว่าฝ่ายค้าน ไม่เช่นนั้นเราคงตั้งรัฐบาลไม่ได้ ซึ่งถ้าเถียงกันเรื่องนี้มันไม่ใช่สาระ สาระสำคัญคือทำให้รัฐธรรมนูญเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น
ส่วนเรื่องหมวด 1 และหมวด 2 มันมาจากการหาเสียงของพรรคการเมือง มีการแถลงข่าวและยังมีการนำเข้ามาในรัฐสภา เป็นโยบายของรัฐบาล และกระบวนการก่อนตั้งรัฐบาล ทุกคนเห็นแล้วว่าทุกพรรคการเมืองที่มาร่วมตั้งรัฐบาลพูดเรื่องหมวด 1 และหมวด 2 ชัดเจน ฉะนั้น เราทำตามกระบวนการและสิ่งที่ชอบโดยปกติทั้งหมด ไม่มีประเด็นอื่น” นายภูมิธรรม กล่าว