โรงพยาบาลกาฬสินธุ์ห่วงใยประชาชนเตือนหน้าร้อนอุณหภูมิสูงระวังโรคทางเดินอาหารและน้ำ โดยเฉพาะอาหารเป็นพิษ ด้านผอ.รพ.กาฬสินธุ์แนะวิธีดูแลสุขภาพช่วงอากาศร้อนจัด ปฏิบัติตามสุขอนามัยที่เหมาะสม “กินสุก ร้อน สะอาด” ป้องกันการเจ็บป่วยที่อาจเกิดขึ้นในช่วงฤดูร้อน
วันที่ 22 เม.ย.67 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สภาพอากาศใน จ.กาฬสินธุ์ ยังคงร้อนมานานหลายสัปดาห์ โดยเฉพาะช่วงกลางวันนั้น มีอากาศร้อนจัดตลอดทั้งวัน อุณหภูมิเฉลี่ยสูงถึง 39- 41 องศา ซึ่งส่งผลกระทบกับการดำรงชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะการเจ็บป่วยที่มาจากโรคในช่วงหน้าร้อน ทั้งนี้ทางด้านนพ.สุรสิทธิ์ จิตรพิทักษ์เลิศ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกาฬสินธุ์ ได้ออกมาเตือนประชาชนช่วงหน้าร้อนนี้ ให้เฝ้าระวังการเกิดโรคและภัยสุขภาพต่างๆ โดยเฉพาะโรคติดต่อทางเดินอาหารและน้ำ พร้อมแนะนำวิธีดูแลสุขภาพในช่วงอากาศร้อนจัด
นพ.สุรสิทธิ์ จิตรพิทักษ์เลิศ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกาฬสินธุ์ กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ในช่วงฤดูร้อนของประเทศไทย ซึ่งเริ่มตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ไปจนถึงกลางเดือนพฤษภาคม ทั้งนี้อากาศที่ร้อนและแห้งแล้งเหมาะแก่การเจริญเติบโตของเชื้อโรคหลายชนิด โดยเฉพาะเชื้อโรคที่ปนเปื้อนในน้ำ และอาหาร ส่งผลให้อาหารบูดเสียได้ง่าย อาจก่อให้เกิดโรคติดต่อทางเดินอาหารและน้ำ เช่น โรคอาหารเป็นพิษ, โรคอหิวาตกโรค, โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน, โรคไวรัสตับอักเสบ เอ และ ไข้ไทฟอยด์ หรือไข้รากสาดน้อย
โดยสาเหตุเกิดจากการรับประทานอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อก่อโรค ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง อาจมีถ่ายเหลว หรือท้องเสีย จนทำให้ขาดน้ำอย่างรุนแรงจนช็อค และอาจเสียชีวิตได้ สำหรับแนวทางการป้องกันโรคทางเดินอาหารและน้ำ จะต้อง“กินสุก ร้อน สะอาด” คือ กินอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ ใช้ช้อนกลางตักกับข้าวใส่จาน และล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ทุกครั้งก่อนประกอบอาหาร รับประทานอาหาร และหลังเข้าห้องน้ำ นอกจากนี้ต้องดื่มน้ำที่สะอาด น้ำต้มสุก หรือน้ำที่บรรจุในขวดที่มีฝาปิดสนิท
อย่างไรก็ตามในช่วงที่อากาศร้อน ควรหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดจัด สวมใส่เสื้อผ้ามีสีอ่อนไม่หนา ระบายความร้อนได้ดี สวมแว่น กันแดด สวมหมวก กางร่ม ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ อย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว แต่หากจำเป็นต้องทำงานกลางแจ้งหรือกลางแดด ไม่ปล่อยให้ร่างกายขาดน้ำจนรู้สึกกระหายหรือริมฝีปากแห้ง ที่สำคัญให้หลีกเลี่ยงการดื่ม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะยิ่งทำให้เสี่ยงต่อการเป็น"ฮีทสโตรก" หรือ “โรคลมแดด”