นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานเปิดงานประเพณีสงกรานต์พระประแดง ประจำปี 2567 พร้อมด้วย นางระเบียบรัตน์ พงษ์พานิช นายประทีป นทีทวีวัฒน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ นายอานนท์ บูรณะภักดี นายอำเภอพระประแดง นางจิระพร วชิรเขื่อนขันธ์ นายกเทศมนตรีเมืองพระประแดง ณ บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อสืบสานประเพณีพื้นบ้านของชาวไทยรามัญ และอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมของบรรพบุรุษให้อนุชนรุ่นหลังได้สืบทอดต่อไป รวมทั้งเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดสมุทรปราการ และกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งเป็นการประชาสัมพันธ์ประเพณีสงกรานต์พระประแดงให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประทศได้รู้จักมากขึ้น

งานประเพณีสงกรานต์พระประแดง แต่เดิมเรียกกันว่า งานสงกรานต์ปากลัด เป็นวัฒนธรรมประเพณีพื้นบ้านที่ชาวไทยรามัญได้ยึดถือปฏิบัติสืบทอดกันมา ตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 แห่งราชวงศ์จักรี ตามประเพณีเมื่อถึงวันสงกรานต์ ชาวบ้านจะแต่งกายชุดไทยรามัญไปทำบุญตามวัดต่างๆ และมีการปล่อยนก ปล่อยปลา เพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์ต่อดวงชะตาเสริมสร้างความเป็นสิริมงคลต่อตนเองและครอบครัว เมื่อถึงเวลากลางคืนจะมีการเล่นสะบ้าตามบ้านเรือนต่างๆ

องค์การยูเนสโกได้ประกาศให้สงกรานต์ในประเทศไทย เป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมวลมนุษยชาติ เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2566 งานประเพณีสงกรานต์พระประแดง เป็น 1 ใน 5 แห่ง ที่เป็นต้นแบบของสงกรานต์ในประเทศไทย ที่กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม นำเสนอขึ้นทะเบียนมรดกโลกต่อองค์การยูเนสโก โดยงานประเพณีสงกรานต์พระประแดง จะจัดหลังจากวันสงกรานต์ไทยไปหนึ่งอาทิตย์ จุดเด่นอีกประการหนึ่งคือ ขบวนแห่นางสงกรานต์ พร้อมด้วยขบวนแห่นก-แห่ปลา ที่ที่หลายหน่วยงาน / หมู่บ้านร่วมกันจัดขึ้น และความสวยงามตระการตาของขบวนรถบุปผาชาติ ซึ่งชาวพระประแดงได้รักษาสืบทอดปฏิบัติกันเช่นนี้ตลอดมา เป็นประจำทุกปี

​​​​​​​ ​​​​​​​ ​​​​​​​