เอ่ยถึง “เศรษฐกิจ” แล้ว บรรดากูรูบอกว่า คล้ายกับมนุษย์เราตัวเป็นๆ เหมือนกัน
ที่นอกจากมีเจริญเติบโต เสื่อมโทรม ถดถอยแล้ว ก็ยังมีอารมณ์ ความรู้สึก อีกต่างหากด้วย
อย่างไรก็ตาม เมื่อกล่าวถึงอารมณ์ ความรู้สึก ในทางเศรษฐกิจแล้ว ก็มักจะเป็นไปในทิศทางไม่ดีนัก
ถึงขั้นมีบัญญัติศัพท์ใหม่ขึ้นมาในช่วงกลางปี 2022 (พ.ศ. 2565) หรือเมื่อเกือบ 2 ปีที่ผ่านมานี้เอง
เรียกว่า “ไวบ์เซสชัน (Vibecession)” อันหมายถึง อารมณ์ความรู้สึกร่วมว่า สถานการณ์เศรษฐกิจไม่ดีนัก หรืออาจถึงขั้นเลวร้ายกว่าความเป็นจริง
ศัพท์คำนี้ ก็ประดิษฐ์ (Coined) ขึ้นมาโดย “ไคลา สแกนลอน” ซึ่งปรากฏในงานเขียนจดหมายข่าวว่าด้วยเรื่องเกี่ยวกับมุมมองของชาวอเมริกันที่มีต่อสถานการณ์เศรษฐกิจของสหรัฐฯ หรือประเทศของพวกเขาเอง
โดย “ไคลา สแกนลอน” นำคำว่า “ไวบ์ (Vibe)” ที่หมายถึง สถานการณ์ บรรยากาศ และอารมณ์ความรู้สึกที่มีต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่ง ไปผสมกับ คำว่า “รีเซสชัน (Recession)” ที่หมายถึง การถดถอย ตกต่ำ ซึ่งในที่นี้หมายความถึง เศรษฐกิจที่ถดถอยตกต่ำ จนกลายเป็นคำศัพท์ใหม่ว่า “ไวบ์เซสชัน (Vibecession)” อันหมายถึง อารมณ์ความรู้สึกร่วมของผู้คนที่มีต่อเศรษฐกิจว่าเลวร้ายต่อความเป็นจริง
ทั้งนี้ แม้ว่าศัพท์คำว่า “ไวบ์เซสชัน” พึ่งถือกำเนิดมาได้ไม่ถึง 2 ขวบปีด้วยซ้ำ แต่บรรดาผู้สันทัดกรณีด้านเศรษฐกิจ ระบุว่า กำลังจะกลายเป็น “เทรนด์ (Trend)” ฮิตติดกระแสกันไปทั่วโลก จากอารมณ์ ความรู้สึกร่วมของผู้คนที่มีต่อสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศของพวกเขา ที่เห็นว่า กำลังดิ่งถลำไปสู่สถานการณ์ที่เลวร้ายกว่าความเป็นจริงที่เห็นๆ กันอยู่ นั่นเอง
ถึงขนาดมีการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในประเทศต่างๆ หลายประเทศ โดยสถาบันการวิจัย หรือสำนักโพลล์ต่างๆ
อย่างในรายของ “เซอร์เวย์มังกี (SurveyMonkey)” บริษัทด้านการจัดการประสบการณ์ เพื่อที่จะนำไปใช้เป็นข้อมูลเชิงลึกในด้านต่างๆ เช่น ทางการตลาด ยี่ห้อสินค้า ลูกค้ากลุ่มผู้บริโภค เป็นต้น ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองซานมอนเตโอ รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนกลุ่มตัวอย่างในพื้นที่ 9 ประเทศ ในหัวข้อที่ชื่อว่า “ความมั่นคงทางการเงินระหว่างประเทศที่มีต่อการเงินของคุณ” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจะสะท้อนภาพอารมณ์ความรู้สึกของผู้คนทั่วโลกที่มีต่อสถานการณ์เศรษฐกิจและสถานการณ์ทางการเงินของพวกเขา
โดยทั้ง 9 ประเทศกลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส เยอรมนี เม็กซิโก สิงคโปร์ สเปน สวิตเซอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา
ผลการสำรวจปรากฏว่า ผู้คนกลุ่มตัวอย่างในหลายๆ ประเทศส่วนใหญ่ก็มีความรู้สึกว่า สถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศของพวกเขาไม่ค่อยดีนัก และเมื่อสถานการณ์เศรษฐกิจที่ดูท่าจะไม่ค่อยดีนักกันเยี่ยงนี้ แน่นอนว่า สุดท้ายก็ย่อมจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ทางการเงินของพวกเขาไม่ค่อยดีกันไปด้วย
ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์เศรษฐกิจที่ไม่ดี ก็จะส่งผลต่อการประกอบการของสถานประกอบการ บริษัท ห้างร้านต่างๆ ที่จะต้อปลดพนักงานออก ซึ่งสถานการณ์ในลักษณะนี้ ได้แผลงฤทธิ์สำแดงเดชต่อหลายๆ ประเทศของโลกเรา ตลอดช่วงเกือบ 2 ปีที่ผ่านมาแล้ว ส่วนหนึ่งก็อาจเป็นผลจากวิกฤติการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัส 2019 หรือโควิด-19
นอกจากนี้ สถานการณ์เศรษฐกิจที่ไม่ดี ก็อาจมาจากการได้รับผลกระทบของปัญหาภาวะเงินเฟ้อ ที่ส่งผลให้สินค้าต่างๆ มีราคาแพงขึ้น ซึ่งแน่นอนว่า ย่อมส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ทางการเงินของผู้คนแบบโดยตรง นอกเหนือจากสถานประกอบการต่างๆ ที่ต้องดำเนินนโยบายรัดเข็มขัดเพื่อควบคุมค่าใช้จ่าย จนสุดท้ายก็ส่งผลกระทบต่อการจ้างงานของพวกเขาอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้
ในการสำรวจความคิดเห็นโดยเซอร์เวย์มังกีครั้งนี้ ยังพบด้วยว่า ผู้คนใน 9 ประเทศกลุ่มตัวอย่าง กำลังมีความรู้สึกถึงการเผชิญหน้ากับภาวะกดดันทางการเงิน โดยมีสาเหตุปัจจัยหลักมาจากปัญหาภาวะเงินเฟ้อที่กำลังเล่นงาน ซึ่งทางกลุ่มตัวอย่างที่ตอบแบบสอบถาม ระบุว่า ถือเป็นความรู้สึกกังวลในอันดับแรกๆ เบอร์ต้นๆ กันเลยทีเดียว หากเปรียบเทียบกับสาเหตุปัจจัยอื่นๆ
โดยจำนวนร้อยละของประชาชนกลุ่มตัวอย่าง ที่ระบุว่า ความรู้สึกกังวลต่อภาวะกดดันทางการเงินข้างต้นในประเทศต่างๆ ตามการสำรวจของเซอร์เวย์มังกี ก็ไล่เลียงตามลำดับมากน้อยกันดังนี้
ในเม็กซิโกจำนวนร้อยละ 73 สเปนร้อยละ 72 สหรัฐฯร้อยละ70 ออสเตรเลียร้อยละ 70 เท่ากับสหรัฐฯ ส่วนสหราชอาณาจักรร้อยละ 63 เยอรมนีร้อยละ 57 สวิตเซอร์แลนด์ร้อยละ 55 สิงคโปร์ร้อยละ 49 และฝรั่งเศสร้อยละ 48
ตามรายงานของเซอร์เวย์มังกี ระบุว่า มีข้อน่าสังเกตในการสำรวจครั้งนี้ว่า ถึงแม้สิงคโปร์ จะไม่ได้มีความรู้สึกกังวลกับภาวะกดดันทางการเงินน้อยที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับฝรั่งเศสที่ได้น้อยที่สุด แต่ในอารมณ์ความรู้สึกเชิงบวกทีมีต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในประเทศของพวกเขาแล้ว กลับมีตัวเลขอยู่ในอันดับแรก
โดยสิงคโปร์ได้ตัวเลขของอารมณ์ความรู้สึกมุมมองไปในทิศทางบวกต่อสถานการณ์เศรษฐกิจประเทศของพวกเขาคิดเป็นถึงร้อยละ 79 แม้ว่าในกลุ่มตัวอย่างของชาวสิงคโปร์เหล่านี้จำนวนถึงร้อยละ 61 เห็นว่า รายได้กับรายจ่ายของพวกเขานั้นเป็นไปในแบบเดือนชนเดือน คือ แทบจะไม่มีเงินเหลือเก็บ เพราะค่าครองชีพสูงก็ตาม
ทั้งนี้ กลุ่มตัวอย่างในสิงคโปร์ให้เหตุผลว่า มีความเชื่อมั่นว่า รัฐบาลของพวกเขา จะจัดการปัญหาต่างๆ ในทางเศรษฐกิจของประเทศได้ รวมถึงสามารถดูแลชีวิตหลังเกษียณของพวกเขาได้เป็นอย่างดี
ส่วนอารมณ์ความรู้สึกในเชิงบวกทางเศรษฐกิจของกลุ่มตัวอย่างประเทศอื่นๆ ปรากฏว่า หลายประเทศที่ได้ชื่อว่า เป็นประเทศพัฒนาระดับชั้นนำ กลับปรากฏว่า ได้ตัวเลขไปไม่ถึงครึ่ง คือ ต่ำกว่าร้อยละ 50 ไม่ว่าจะเป็นเยอรมนี ที่ได้ร้อยละ 34 ออสเตรเลียได้ร้อยละ 36 และสหราชอาณาจักรได้ร้อยละ 37 หรือแม้กระทั่งสหรัฐฯ มหาอำนาจทางเศรษฐกิจหมายเลขหนึ่งของโลก ก็ได้จำนวนเพียงร้อยละ 49 เท่านั้น